รายงานการดำเนินกิจการของพรรค พ.ศ.2550
๑. การดำเนินกิจการเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายพรรค
แม้ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร แต่พรรคฯ ยังได้ดำเนินกิจการในมิติต่าง ๆ ตามนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคฯ ในอันที่จะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ประกอบกับในช่วงปลายปีมีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคได้ดำเนินกิจการต่างๆ ดังนี้
สืบเนื่องจากปี ๒๕๕๐ ได้มีคำสั่ง คปค. ฉบับที่ ๑๕ / ๒๗ ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและจัดประชุม ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐ ดังนั้น รายงานการดำเนินกิจการของพรรคเริ่มตั้งแต่วันประกาศยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
๑.๑ ด้านการเมืองการปกครอง
เป้าหมายหลัก คือ ความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชน พรรคฯ ได้ดำเนินกิจการในด้านการเมืองการปกครอง ทั้งที่เป็นการเตรียมการเลือกตั้งและเรื่องทั่วไป ดังนี้
๑.๑.๑ แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน ๓๐ คนโดยมีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธานคณะกรรมการ มีภารกิจในการสรรหาและคัดเลือกผู้สมัครับเลือกตั้งทั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ๑๕๗ เขต และระบบสัดส่วนทั้ง ๘ กลุ่มจังหวัด
๑.๑.๒ แต่งตั้งคณะทำงานปฏิบัติงานทางการเมือง จำนวน ๒๘ คนโดยมีนายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งต่อมาได้ปรับเป็นคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งของพรรค มีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการในกิจกรรมการเลือกตั้งของพรรคทั้งหมด
๑.๑.๓ แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนวาระประชาชน จำนวน ๑๔ คนโดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เป็นประธานคณะทำงาน มีภารกิจหลักในการเตรียมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับวาระประชาชน การจัดกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ
๑.๑.๔ แต่งตั้งผู้อำนวยการศูนย์การเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร โดยแต่งตั้ง ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้อำนวยการศูนย์
๑.๑.๕ การจัดเสวนาทางวิชาการ พรรคฯ ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ เพื่อระดมความคิดเห็น ทั้งปัญหาและข้อเสนอแนะต่อปัญหาต่าง ๆ โดยครอบคลุมสาระทั้งมิติทางด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา
๑.๑.๖ พรรคฯ เปิดเว็บไซด์ democratsociety.com เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมกิจกรรมของพรรคฯ
๑.๑.๗ พรรคฯ จัดกิจกรรม “รวมพลคนรุ่นใหม่” โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคฯ พร้อมแกนนำเปิดเวทีเรียกร้องพลังคนรุ่นใหม่ให้สนใจในการใช้สิทธิของตนเองในการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงแนวคิดที่ว่า “ประชาชนต้องเป็นคนกำหนดอนาคต ประชาชนต้องเป็นผู้ตัดสินใจ”
๑.๒ ด้านเศรษฐกิจ
การดำเนินโครงการเยี่ยมเยียน พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เพื่อพบประชาชน เกษตรกร ชาวนา ผู้ประกอบการและผู้สนใจรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูล นำไปปรับใช้ในการกำหนดทิทางนโยบายของพรรคฯ ต่อไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น
- จังหวัดชัยภูมิ เรื่องมันสำปะหลัง
- จังหวัดอุบลราชธานี เรื่องข้าว
- จังหวัดลำพูน เรื่องลำไย
- จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจและการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในประเทศ
๑.๓ ด้านสังคม
การดำเนินโครงการเยี่ยมเยียน พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านสังคม
เพื่อพบประชาชน รับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูล นำไปปรับใช้ในการกำหนดทิศทางนโยบายของพรรคฯต่อไปตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น
- จ.ชลบุรี เรื่องปัญหาและความต้องการทางการศึกษา
- จ.พิษณุโลก เรื่องปัญหาและความต้องการทางการศึกษา
- จ.อุบลราชธานี เรื่องปัญหาและความต้องการทางการศึกษา
- จ.ลพบุรี เรื่อง วาระประชาชนด้านสุขภาพ
- จ.ระยอง เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม
- องค์การค้าคุรุสภา เรื่องความพร้อมในการที่จะจัดหาตำราเรียนให้นักเรียนได้ทันเวลา
๑.๔ ด้านอื่น ๆ
การจัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา”
เพื่อระดมความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์ และผู้สนใจโดยมุ่งหวังจะกำหนดนโยบายการปฏิรูปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นธงนำของยุทธศาสตร์ในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน