การระบายยาง สุจริตโปร่งใส! ตรวจสอบได้และไม่ทุจริต “ถ้าไม่ถูกต้องผมก็ไม่ชอบ” อยู่ประเทศไทยทำร้ายประเทศ ผมก็ไม่เอา

คำต่อคำ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติ ไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 

3 กันยายน 2564 

กราบเรียนท่านประธานสภาที่เคารพอย่างสูง ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผมนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขออนุญาตเอ่ยชื่อ ไม่ให้เสียหาย ท่านพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง ที่ท่านได้ให้เกียรติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจผม ซึ่งผมถือว่าเป็นความสวยงามของระบบรัฐสภา เป็นความสวยงามของประชาธิปไตย ที่ท่านได้ร่วมกันตรวจสอบการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำงานของการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ที่ผมกำกับดูแล  ซึ่งผมคิดว่า ผมเข้าใจเจตนาของท่านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ว่าในเจตนารมณ์ของท่าน ผมเรียนว่าท่านได้ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ใส่ร้ายป้ายสี สิ่งที่ผมอยากจะเรียนกับท่านประธาน และท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ก็คือ ผมมั่นใจว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดที่กล่าวหาผมมาเป็นเท็จ ไม่มีมูลความจริงหรอกครับ ท่านอภิปรายบิดเบือนข้อเท็จจริง บางเรื่องท่านก็ไม่เข้าใจข้อเท็จจริง บางเรื่องท่านก็ไม่รู้ หรือบางเรื่องท่านอาจจะได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดมา เพราะฉะนั้นผมจึงขออนุญาตท่านประธานสภาในการที่จะมาอธิบายรายละเอียดข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ซึ่งมีเอกสารหลักฐานครบถ้วนที่ท่านสามารถที่จะตรวจสอบได้

ในฐานะที่ท่านได้กล่าวหาผมที่กำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทยเพื่อให้ท่านประธาน แล้วก็ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติและพี่น้องประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติทุกท่านจะได้รับฟังคำชี้แจงของผมซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งผมยืนยันว่าสามารถตรวจสอบได้ ไม่ได้มโนเอาเอง ซึ่งต่อจากนี้เมื่อผมได้พูดถึงเรื่องของการยางทั้งหมดที่ท่านอภิปราย ก็ขอให้ท่านได้พิจารณาตัดสินใจในการลงมติครั้งนี้ด้วยเหตุด้วยผลด้วยข้อเท็จจริงและด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม 

ผมจะขออนุญาตในส่วนของการอธิบายเรื่องโครงสร้างของการยางในประเทศไทยเรา แล้วก็กระบวนการทั้งหมดจนไปสู่การประมูลในครั้งที่ 3 และมีการเซ็นสัญญาในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมานี้ การยางแห่งประเทศไทยมีองค์กรที่เกี่ยวข้อง 

1. ก็คือคณะกรรมการนโยบายทางธรรมชาติ ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นรองประธาน มีผู้แทนส่วนราชการอีก 15 ท่าน มีผู้แทนภาคเอกชน 5 ท่าน มีคณะกรรมการผู้แทนเกษตรและเครือข่ายเกษตรอีก 6 ท่าน มีเลขา สศก. (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) แล้วก็ผู้ว่าการยางเป็นกรรมการ และผู้ช่วยเลขานุการ  ทั้งหมดมี 31 ท่าน ในการประชุมทุกครั้งจะต้องมีองค์ประชุมครบถึงจะดำเนินการได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าท่านนายกหรือผมจะดำเนินการอย่างไร แล้วจะสามารถทำให้เป็นมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติได้จะต้องเป็นมติของที่ประชุม 

ส่วนที่ 2 ที่เกี่ยวข้องคือการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ซึ่งเป็นการตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการยาง 2558 ซึ่งตรงนี้ก็จะมีองค์ประกอบดังนี้ 

ในการยางแห่งประเทศไทย จะมีคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย หรือเรียกง่ายๆ ว่า บอร์ดการยาง เป็นคนที่ออกนโยบายกำกับดูแล และก็อนุมัติในกิจกรรมของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยก็จะประกอบด้วยประธาน 1 ท่าน คณะกรรมการโดยตำแหน่ง 6 ท่าน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมแห่งชาติ และยังมีองค์ประกอบเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 ท่าน 7 ท่านที่นี่คือผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางอีก 3 ท่าน ผู้แทนสถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่อีก 2 ท่าน ผู้แทนผู้ประกอบการซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการค้าอีก 1 ท่าน ผู้แทนผู้ประกอบกิจการยางที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตด้านอุตสาหกรรมอีก 1 ท่าน ทั้งหมด 14 ท่าน

เพราะฉะนั้นมติของคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ทั้งหมดก็เช่นเดียวกับคณะกรรมการยางธรรมชาติ การจะมีมติได้นั่นหมายถึงที่ประชุมส่วนใหญ่ หรือเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการจะมีมติลงไป เป็นความรับผิดชอบร่วม และการยางแห่งประเทศไทยก็มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในการควบคุมกำกับของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นี่คือหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับระบบของยางพารา 

ผมเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 62  และรัฐบาลนี้ได้แถลงนโยบายในเรื่องของการประกันรายได้ ราคาพืชผลการเกษตร 5 ชนิด ยางพาราก็เป็นหนึ่งในสินค้า 5 ชนิดนั้น ที่รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้ โดยมีเหตุผลก็คือต้องการให้พี่น้องประชาชนได้รับการประกันว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำที่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะพี่น้องเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรประกอบอาชีพเกษตรกรรมเกือบครึ่งประเทศ เพราะฉะนั้นด้วยแนวความคิดว่าถ้าเกษตรกรเรามีความเข้มแข็งนั่นหมายถึงประเทศชาติก็มีความเข้มแข็งด้วย ถ้าเกษตรกรไทยเรามีรายได้ที่มั่นคงก็นั่นก็หมายถึงประเทศชาติมั่นคงด้วย ผมเชื่อมั่นนะครับว่า ณ วันที่รัฐบาลคณะนี้ประกาศนโยบายประกันรายได้เกษตรกร เกษตรกรมีความสุขแล้วก็ยิ้มกันทั้งประเทศ เพราะนี่เป็นครั้งเดียวที่เขาได้มีโอกาสที่จะได้รับการดูแลภาคการเกษตรจากรัฐบาลอย่างจริงจัง

ผมถามว่าเคยมีรัฐบาลไหนบ้างที่ทำนโยบายอย่างนี้ให้กับพี่น้องประชาชน และไม่ใช่หมายความว่าเมื่อเราประกันรายได้แล้ว เราจะไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ราคายางเป็นไปตามยถากรรม ผมเรียนท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่าน เรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกว่า ไม่ครับ เราทำทุกวิถีทาง เพราะเราเข้าใจว่าเกษตรกรไทยคือหัวใจของชาติ เราทำจนกระทั่งช่วงเวลาหนึ่ง ราคายางพารามีราคาเกินกว่าราคาประกันซึ่งรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินภาษีพี่น้องประชาชนไปชดเชยในส่วนต่าง จนกระทั่งเรามาประสบกับภาวะวิกฤตของโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับ ภาวะวิกฤตนี้มีผลกระทบไปทั่วโลก มีผลกระทบไปทุกประเทศ และมีผลกระทบไปทุกสาขาอาชีพเช่นเดียวกัน ภาคการเกษตรก็ไม่เว้น แต่ว่าในภาวะวิกฤตเช่นนั้น เราได้มีการบูรณาการการทำงานในทุกภาคส่วน ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพียงอย่างเดียว กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย แม้กระทั่งกระทรวงต่างประเทศ เราดำเนินการบูรณาการการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมดร่วมกัน 

วันที่ผมเข้ามากำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย ผมมีหน้าที่กำกับ มีหน้าที่มอบนโยบาย ไม่มีหน้าที่ไปนั่งเซ็นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ผมได้ให้นโยบายกับการยางแห่งประเทศไทยว่า 

“ต้องทำงานอย่างสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และที่สำคัญต้องไม่ผิดกฎหมาย”

นี่คือสิ่งที่ผมมอบนโยบาย แล้วยังได้กำชับอีกว่า ถ้าท่านทำในสิ่งที่ถูกต้อง ท่านไม่ต้องกังวล ผมจะปกป้องท่าน แต่ถ้าท่านทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผมเอง ตัวผมเองจะดำเนินการกับท่านโดยเด็ดขาด 

ผมจะเข้าในเรื่องของยางพาราแสนสี่พันกว่าตัน ในวันที่ผมรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย มียางอยู่ในสต็อกทั้งหมดประมาณ แสนสี่พันตันเศษ ซึ่งยางที่เก็บไว้ ไม่ได้เก็บไว้ 1 ปี มีการเสียค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย ผมย้ำนะครับ ค่าประกันภัย ไม่ใช่ค่าประกันราคา ประกันภัยมีกรณีที่มีความเสียหายเรื่องของน้ำท่วม หรือไฟไหม้ หรืออะไรต่างๆ เราก็จะได้รับการชดเชย ส่วนโกดังเขาไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ เพราะว่าเราไปเช่าพื้นที่ของเขา เพราะฉะนั้นเราต้องจ่ายค่าจ้างเขาทุกปี โดยวันที่ผมเข้ามารับตำแหน่ง สัญญาทุกปีจะสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี ผมขอให้ท่านจำไว้ว่าสัญญาแต่ละ 1 ปี จะครบรอบวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี และเริ่มต้นมิถุนายน การยางแห่งประเทศไทยก็จะทำสัญญาเช่าต่อแล้วก็จ่ายค่าประกันต่อ 

ยาง 1 แสน 4 พันตันมาจากไหน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2555 ด้วยโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยการซื้อยางเข้ามาสู่สต็อค เพื่อที่จะให้ยางในตลาดมีปริมาณลดน้อยลง เขาถึงเรียกว่ารักษาเสถียรภาพราคายาง ไม่ใช่เอายางไว้สต็อกแล้วคือการรักษา การไปซื้อ เอาตัดออกมาจากตลาด นั่นคือการรักษาเสถียรภาพ สาเหตุที่ต้องซื้อเพราะว่าขณะนั้นราคายางตกมาก ปรับตัวจาก 180 บาท ในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา เหลือกิโลละเพียง 90 บาท รัฐบาลในสมัยนั้น ปี 55  ผมจะขออนุญาตไม่เอ่ยว่ารัฐบาลใคร ซึ่งท่านคงจะทราบกันอยู่แล้ว 

เมื่อวันที่ 24 มกราคมจึงได้รับซื้อยางเข้ามา ปริมาณทั้งหมด 213,492 ตัน ในราคาเฉลี่ย 98.96 บาทต่อกิโล ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 22,782 ล้าน นี่คือยางก้อนแรกที่เข้าสู่สต็อคเมื่อปี 2555 ยังมียางอีก 1 ชุดที่เข้าสู่สต็อค นั่นคือในปี 2557  ก็มีการลักษณะโครงการเช่นนี้ แต่เปลี่ยนชื่อโครงการเป็นโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ท่านเห็นมั้ยครับ ข้างหน้าชื่อไม่ตรงกัน แต่จุดเป้าหมายของการดำเนินการคือรักษาเสถียรภาพราคายางเพื่อให้ยางในตลาด ณ ขณะนั้น มีราคาไม่ต่ำจนเกษตรกรไม่มีจะกิน ที่ผมเรียนอย่างนี้ เพราะว่าผมอยากเรียนว่าที่เขาซื้อยางเข้าสต็อคในครั้งนี้ ทั้ง 2 ครั้ง ปี 55 57 เขาซื้อยางเพื่อจะตัดปริมาณยางในตลาด เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพราคายาง ณ ขณะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อซื้อยางเข้ามาแล้ว ยางในสต็อคที่มีคือเสถียรภาพ การรักษาเสถียรภาพราคายาง ผมว่าท่านเข้าใจผิดไปตรงนี้ ก็ขอเรียนชี้แจงให้ท่านได้เข้าใจ 

เมื่อมีการนำยางเข้ามาในสต็อค ก็มีการระบายยาง โดยครั้งแรกมีการระบายยางในปี 2557  นั่นคือยางปี 55 กับยางปัจจุบันเลยที่เข้าสต็อค มีการลงนามสัญญา ผมขออนุญาตที่จะไม่เอ่ยชื่อบริษัท ลงนามสัญญาซื้อ 278,000 ตัน แต่ท่านทราบไหมครับ เมื่อทำสัญญาแล้วราคายางตกลงอย่างมาก บริษัทนี้รับยางไปเพียง 37,602 ตัน ท่านบวกลบคูณหารนะ 2 แสนกว่าตัน เนื่องจากราคายางตกลงมาก บริษัทนี้ไม่ได้รับไป ผมจะไล่ให้ท่านฟังตรงนี้เพื่อจะนำไปสู่การกำหนดทีโออาร์ คุณสมบัติในการประมูลครั้งที่ 3 ขณะนี้ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของคดีความกับทางบริษัทนี้อยู่ 

การประมูลครั้งที่ 2 มีการประมูลในรอบปี 59-60 ซึ่งเป็นการประมูลแบบคละเหมาคุณภาพ แยกเป็นโกดัง เพราะฉะนั้นที่ท่านให้อภิปรายว่า กรณียางการประมูลครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการประมูลแบบคละเหมาเลย ไม่ใช่ครับ เพียงแต่แตกต่างกันที่การประมูลครั้งที่ 2 เป็นการประมูลแบบคละเหมาแยกโกดัง นั่นคือโกดังมีทั้งหมดเท่าไหร่ให้พ่อค้าเข้าไปตรวจสอบคุณภาพก่อน พอใจโกดังไหน ประมูลโกดังนั้น ท่านนึกภาพให้ดีนะครับ เปิดทุกโกดังให้ตรวจสอบคุณภาพของยางในโกดัง แล้วพอใจโกดังไหนประมูลโกดังนั้น ท่านว่าจะมีแมวที่ไหนมั้ยครับเลือกยางเน่าๆ ท่านว่าพ่อค้าเขาจะโง่มั้ยครับ ไปเลือกยางเสีย ยางไม่ดี ไปประมูล เขาก็เลือกยางดีๆ ไปหมด

การประมูลในครั้งที่ 2 เหลือยางในสต็อค จนมาถึงปัจจุบัน ณ วันที่ผมเข้ารับตำแหน่ง 104,000 ตันเศษ ท่านลองคิดนึกภาพตามผมนะครับว่า ยางที่ซื้อมาเมื่อปี 55 57 ถูกประมูลไปปี 57 59 ถึงวันที่มาประมูลในครั้งนี้ 9 ปีเต็มๆ ยางมันจะอยู่ในสภาพไหน และเป็นยางที่ถูกคัดเลือกของดีไปเรียบร้อยหมดแล้ว ผมเรียนให้ท่านทราบเลยว่ายางในสต็อกครั้งนี้ คือฝันร้ายของพี่น้องเกษตรกรเลย ผมมาช่วยคลายล็อคนะครับ มาทำให้พี่น้องเกษตรกรไม่ต้องฝันร้ายต่อไปอีกครับ เขาจะได้ไม่ถูกยางในสต็อคนี้ เป็นข้ออ้างของพ่อค้าบางกลุ่ม กดราคาโดยอ้างว่า ยางไม่ขาดมีอยู่ในสต็อค ทั้ง ๆ ที่ยางในสต็อคไม่มีสภาพที่ใช้แล้วซึ่งสักครู่ ผมจะให้ดูตัวอย่างยางที่เก็บในสต็อคเป็นเวลา 9 ปี ผมว่าพี่น้องชาวสวนยาง และสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติทุกท่าน ถ้าท่านได้ใกล้ชิดหรือทำงาน หรือมีสวนยาง ท่านจะทราบว่ายางแผ่น เก็บ 6 เดือนสีก็เปลี่ยนแล้ว 

ผมจะไปต่อนะครับ และในระหว่างปี 55-59 ค่าใช้จ่ายรายการที่เราซื้อยางเข้ามาในสต็อค นั่นก็คือค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัยยางพาราตรงนี้ 55-59 เราใช้เงินไปทั้งสิ้น 2,317 ล้านบาท แต่นั่นเป็นเงินของรัฐบาลที่เข้ามาชดเชย เข้ามาจัดการให้แต่ถึงอย่างไร นั่นก็คือเงินภาษีที่เราจ่ายฟรีไปทุกปีเหมือนกัน แต่หลังจากที่การประมูลครั้งที่ 2 ปี 59 ถึงปี 64 ยาง 104,000 กว่าตันนี้มีค่าใช้จ่ายรวมกันทั้งสิ้น 925 ล้านบาท ก็ใช้จ่ายฟรีไปเช่นเดียวกัน เป็นค่าโกดัง เป็นค่าประกัน เพียงแต่มันแตกต่างที่มาผมเงินอยู่นิดนึง 925 ล้านบาทตรงนี้ เป็นเงินของกองทุนพัฒนายางพารา หรือเงิน CESS ซึ่งเป็นเงินที่เก็บจากยางพาราซึ่งเป็นเงินกองทุนที่เขาเอาไว้ใช้ดูแลพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่ว่าท่านจะวิจัย ปลูกใหม่ชดเชย มีความเสียหายอะไร กองทุนนี้  90% เอาไปดูแลพี่น้องเกษตรกรสวนยาง ท่านคิดดูสิครับ 925 ล้าน มันทำอะไรให้พี่น้องชาวสวนยางได้อีกมากแค่ไหน ผมถึงบอก นี่คือฝันร้าย ฝันร้ายที่ 2 ด้วย ของพี่น้องเกษตรกรสวนยาง

และนี่คือเหตุผลที่ผมบอกว่าการมียางในสต็อคไม่ได้หมายถึงการรักษาเสถียรภาพราคายาง แต่มันเป็นตัวกดราคายางในตลาดในรอบ 5-9 ปีที่ผ่านมา ผมก็ไม่โทษรัฐบาลที่ดำเนินการ เพราะว่าผมเข้าใจว่าท่านแก้ปัญหาในเวลานั้น เพื่อที่จะให้เกษตรกรขายยางได้ในราคาที่เขาอยู่ได้ คณะกรรมการยางธรรมชาติจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 มติคณะกรรมการยางธรรมชาติหมายถึงทั้ง 31 ท่าน ที่เข้าร่วมประชุม ไม่ใช่ผมนะครับ ไม่ใช่ท่านนายกรัฐมนตรี แต่เป็นมติกรรมการให้ระบายยางในสต็อคนี้ ให้ระบายยางในสต็อคนี้ให้หมดโดยเร็ว และก็ได้นำเข้า ครม. ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2563  เมื่อ ครม. รับทราบมติก็ส่งมาที่ กยท. แต่ในขณะนั้นราคายางยังมีการแกว่งตัวอยู่สูง การระบายยางต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม และไม่กระทบกับราคายางในตลาดมากนัก ซึ่งเดี๋ยวผมจะมีกราฟ ให้ท่านดูว่าการระบายยาง 2 ครั้งที่ผ่านมา มันกระทบมากน้อยแค่ไหน และเพราะอะไรถึงกระทบ เพราะอะไรยางถึงตกฮวบขนาดนั้นหลังการระบายยาง 

เนื่องจากไม่ได้ระบายยางในช่วงนั้น เนื่องจากสภาวะราคายางมีการผันผวน จนกระทั่ง แต่ว่าในขณะเดียวกัน เมื่อ ครม. ได้รับทราบแล้ว ผมในฐานะที่กำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย กำกับดูแลนะครับ ไม่ได้ไปบังคับบัญชา คนละกรณีกัน ผมถึงต้องให้นโยบายของการยางแห่งประเทศไทย ในการที่จะระบายยางสต็อคในครั้งนี้

หนึ่งก็คือให้การยางแห่งประเทศไทยไปดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการที่จะระบายยางเพื่อที่จะไม่ให้กระทบกับราคายางในตลาด 

สอง การระบายครั้งนี้พี่น้องเกษตรกรต้องได้รับประโยชน์ด้วย 

สาม การระบายยางนี้ ต้องรักษาผลประโยชน์ของภาครัฐ เพราะมันเงินภาษีของพี่น้องประชาชน 

สี่ จะต้องทำโดยสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และถูกต้องตามกฎระเบียบ และกฎหมาย และที่เน้นย้ำที่สุดก็คือห้ามทุจริตคอรัปชั่นโดยเด็ดขาด

นี่คือนโยบายที่ผมให้การยางแห่งประเทศไทย ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ที่ผมจำเป็นต้องให้นโยบายในเบื้องต้น เพราะว่าอำนาจในการระบายยางครั้งนี้ เป็นของคณะกรรมการการยาง หรือบอร์ด กยท.  และก็ผู้บริหาร ซึ่งก็คือ ผู้ว่าการยาง ผู้ว่า กยท. ผมถึงจำเป็นจะต้องให้นโยบายในเบื้องต้น เพื่อเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เขาจะได้ดำเนินการและยึดหลักการตรงนี้ ซึ่งคณะกรรมการบอร์ดการยางก็ได้มีการประชุมกันวันที่ 8 เมษายน นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมและมีการกำหนดทีโออาร์ หรือคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ และวันที่ 9 (เมษายน) ได้มอบให้คณะกรรมการบริหารสต็อคยางไปดำเนินการ วันที่ 9 (เมษายน) คณะกรรมการบริหารสต็อคยางเรียกประชุม นำคุณลักษณะคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลมาพิจารณา ปรากฏว่ามีผู้มีคุณสมบัติ 6 ราย และในวันนั้นเอง ก็ได้ทำหนังสือไปถึงบริษัททั้ง 6 ทำหนังสือไปถึงบริษัททั้ง 6 และประกาศในเว็บไซต์และสื่อ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยถูกต้องชัดเจน โดยให้ยื่นราคาประมูลวันที่ 20 เมษายน และในวันที่ 21 เมษายน คณะกรรมการบริหารสต็อคยางก็ตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัทที่เข้ายื่นการประมูลในครั้งนี้ ซึ่งถูกต้อง มีเพียงบริษัทเดียว เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติครบถ้วนถึงได้เปิดซองประมูล

และผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ได้เซ็นสัญญาขายในวันที่ 28 เมษายน และทำหนังสือรายงานผมลงวันที่ 30 เมษายน นี่คือกระบวนการที่มาทั้งหมดของการขายยางในครั้งนี้ ซึ่งผมกำลังจะอธิบายรายละเอียดว่ารายงานของผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยซึ่งลงนามในสัญญาซื้อขายครั้งนี้ และรายงานที่ผมเรียกให้มาชี้แจงกระบวนการในการดำเนินการขายยางครั้งนี้ทั้งหมด ซึ่งผมจะพูดต่อจากนี้ 

ซึ่งหลังจากที่ผู้ว่าการยางได้ทำหนังสือถึงผม ลงวันที่ 30 เมษายน ต้นเดือนพฤษภาคม ผมได้ให้ผู้ว่าเข้ามาชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดกับผม ซึ่งผมจะให้ท่านดูสไลด์แรก นั่นคือสภาพยางที่มีอยู่ในสต็อคตามความเป็นจริง นี่คือยางที่เก็บมา 9 ปี 7 ปี สภาพยางเป็นอย่างนี้ 

ท่านจะเห็นนะครับ นี่คือยางที่เก็บมาทั้งหมดเลย จากการที่มีการทำสัญญาซื้อขายในปี 57 แล้วก็ถูกยกเลิกไป ซื้อเป็นเพียง 37,000 กว่าตัน จึงทำให้ยางเหลือมาอีก 3 แสนกว่าตัน จนถึงปี 59 จนถึงปี 59 ก็ได้มีการดำเนินการประมูล เปิดประมูลยางพาราครั้งที่ 2 ผมเรียนว่าการเปิดประมูลในครั้งที่ 2 นี้ เป็นการประมูลแบบเหมาคละคุณภาพแยกโกดัง เหมือนที่ผมบอก เปิดทุกโกดังให้พ่อค้าเข้าไปตรวจสอบคุณภาพของสินค้าแล้วแต่เขาสมัครใจว่าเขาจะประมูลโกดังไหน ซึ่งผมเรียนไปแล้วเมื่อสักครู่จะมีแมวที่ไหนไปเลือกยางเน่า ไม่มีหรอกครับ เพราะฉะนั้นเมื่อประมูลได้ไปตรงนี้ 215,480 ตัน แต่ในความเป็นจริงรับไปเพียง 195,308 ตัน ส่วนที่เหลือยังอยู่ในระหว่างการฟ้องร้อง ซึ่ง 55-59 ใช้เงินไปแล้ว 2,317 จนมาถึงปัจจุบันใช้เงิน CESS เงินกองทุนพัฒนายางพาราอีก 925 ล้าน นี่คือเงินที่จะต้องเสียไปกับการดูแลสต็อคยาง สต็อคที่แทบจะไม่มีคุณภาพ

เมื่อยางที่เหลือเป็น 104,000 ตันนี้ ซึ่งผมถือว่าเป็นฝันร้ายของเกษตรกร และพนักงาน กนย. และ ครม. ก็ได้มีมติให้ระบายการยางจึงได้เริ่มขั้นตอนการระบายในวันที่ 8 เมษายน และมีกำหนดทีโออาร์ มีการกำหนดคุณสมบัติ และผู้เข้า และมีการประเมินราคาสภาพของยางพารา ประเมินราคาสภาพของยางพาราในสต็อค ทั้ง 17 โกดังนี้ โดยศูนย์บริการทดสอบยางพาราภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานนักวิชาการของการยางแห่งประเทศไทย 1 แห่ง และบอร์ด กนย. บอร์ด กยท. ก็ยังได้ให้บริษัทเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือได้ มีการยอมรับในวงการประมูลเป็นคู่อีก 1 แห่ง เพื่อจะได้ไม่บอกว่าภาครัฐมาเป็นคนกำหนดราคาเสียเองทั้งหมด และบริษัท ขออนุญาตไม่เสียหายครับ บริษัทที่ประเมินคือบริษัท intertek testing Services ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งมาแล้ว 130 ปี มีสาขาอยู่ทั่วโลก 100 ประเทศ จดทะเบียนในประเทศไทยปี 2528 มีวัตถุประสงค์ทั้งหมด 30 ข้อ 

แต่ผมจะขอยกตัวอย่างข้อนึง ข้อ 1 ด้วย ให้บริการเกี่ยวกับการตรวจสอบ วิเคราะห์ ทดสอบ การเก็บตัวอย่าง การสำรวจ การฆ่าเชื้อ และการบรรจุ ซึ่งสินค้าพืชผลด้านการเกษตร นี่ไงครับ เขาเป็นบริษัทเก่าแก่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก มีเครดิต เขาไม่ยอมเสียชื่อเสียงบริษัทหรอก บริษัทที่ตั้งมา 130 ปี มีสาขา 100 สาขาทั่วโลก เขาจะมาเสียเครดิตกับการทำยาง ซึ่งในสายตาของเขา ผมว่าไม่ใช่ปริมาณมากเลย 3 พันกว่าล้าน นี่บริษัทใหญ่ขนาดนี้ เขาไม่ยอมเสียเครดิตตรงนี้หรอก เพราะฉะนั้นผมจึงเชื่อมั่นว่าการประเมินราคาของทั้งสองส่วนที่ผมบอก มีความน่าเชื่อถือตามคำชี้แจงของผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย เมื่อมีการประเมินราคาซึ่งตามสไลด์ ท่านคงเห็นว่า ศูนย์ยางภาคใต้ 37.1 บาท  ผู้ประเมินอิสระ 33.91 บาท ถ้าคิดโดยเฉลี่ย ราคาก็ประมาณ 35.16 บาท ถ้าการประมูลในครั้งนี้ ราคาต่ำกว่า 35.16 บาท ท่านต้องห่วงหรอกครับ ผมยับยั้งทันที แต่วันนี้ราคาที่ประเมินได้ประมูลได้ 37.20 บาท ราคาสูงกว่าการประเมินราคาของทั้งสองส่วนนี้ ทั้งบริษัทเอกชนและก็ในหน่วยงานของการยางด้วยซ้ำไป 

ผมขอตอบคำถามที่มีประเด็นเรื่องการประมูลยางในครั้งนี้ ขายราคาต่ำกว่าขี้ยาง 

คุณสมบัติของยาง จากภาพที่ผมให้ท่านเห็นในเบื้องต้น นั่นคือยางที่เป็นส่วนใหญ่ของยางในโกดังที่อยู่ในสต็อค การประเมินราคาของบริษัทใช้หลักการเดียวกัน คุณสมบัติของยาง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณสิ่งสกปรก ปริมาณสิ่งระเหย ประมาณเถ้า ไนโตรเจน  ดัชนีความอ่อนตัว ค่าอ่อนตัวเริ่มแรก เปรียบกับขี้ยางหรือเศษยาง ณ วันนั้น เราประมูลไปในราคา 27.20 บาท  แต่ขี้ยาง ณ วันนั้น ราคา 23 บาท

ผมเรียนท่านนะครับว่าขี้ยางไม่ใช่ยางก้อนถ้วยนะครับ ขี้ยางกับยางก้อนถ้วยต่างกันโดยสิ้นเชิง ยางก้อนถ้วยสามารถนำไปแปรสภาพแปรรูปได้ด้วยตัวของเขาเอง ขี้ยางนำไปได้เพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งของการแปรรูป ไม่สามารถที่จะเอาไปแปรรูปด้วยตัวของเขาเองได้ ซึ่งยางในโกดังครั้งนี้ เปรียบคุณสมบัติทั้งหมดของยางพารา มีสภาพไม่ต่างจากขี้ยางหรอกครับ แต่เรายังได้ราคาที่ 37.20 บาท ท่านไปดูเลย ในการประมูลทุกครั้ง ไม่มีครั้งไหนที่ประมูลราคาสูงกว่าตลาดหรอกครับ เพราะความผันผวนของตลาด แล้วท่านลองไปดูเถอะครับทุกครั้ง ครั้งหนึ่ง ครั้ง 2 ที่มีการประมูล ราคายางจะตกเลย ท่านเห็นมั้ย ครั้งที่ 1 ประมูล บริษัทถึงทิ้งไงครับ ไม่เอา เพราะยางราคามันดิ่งมาก เขาขาดทุนมาก ถึงรับไป 37,000 กว่าตัน  ครั้งที่ 2 ท่านดูครับประมูล หลังจากประมูล ราคาดิ่งเลยครับ นี่คือผลจากการประมูลทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ผมจะอธิบายสาเหตุว่าทำไมยางมันถึงราคาได้ดิ่งลงหลังการประมูล 

ข้อสังเกตจากการระบายยางครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาและก็เกิดผลกระทบกับเสถียรภาพราคายาง 

1. เนื่องจากเปิดกว้างให้บุคคลทั่วไปลงทะเบียน เลือกเฉพาะประมูล ในส่วนของโกดังยางที่มีคุณภาพดี นี่แหละ ข้อ 1 

ข้อ 2 มีการนำยางที่ประมูลได้ไปเวียนกลับมาในตลาด ซึ่งกระทบต่อราคายางพาราโดยตรง 

3. มีผู้ประมูลบางราย ไม่มีความพร้อมด้านการเงิน จึงไม่รับผิดชอบ ต้องมีการฟ้องร้องกันภายหลัง 

การระบายยางดำเนินเป็นช่วงระยะเวลาหลายครั้ง การระบายครั้งที่ 2 มีการประมูลไปทั้งหมด 3 ครั้งที่ได้ยางไปเพราะฉะนั้นเมื่อมีการใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากยางเป็นสินค้าอ่อนไหว มันจึงมีผลกระทบกับราคายางในตลาดโดยตรง มันถึงดิ่งอย่างที่เห็น ราคายาง ณ วันประมูลครั้งที่ 2 เดือนมกราคม ณ วันนั้น ราคา 88.88 บาท ราคาประมูลครั้งสุดท้าย ซึ่งมีประมูลกันหลายครั้ง แต่ผมรวมเรียกเป็นครั้งที่ 2 มีราคา 71.51 บาท ในเดือนมีนาคม ท่านทราบมั้ย เดือนกรกฎาคม ยางเหลือ 51 บาท อย่างนี้ไม่ได้ฝันร้ายของเกษตรกรจะเรียกว่าอะไร เหมือนกับปล้นเงินในกระเป๋าเขาไปเลย  เงินกองทุนพัฒนายางพาราที่เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ต้องใช้ไปแล้ว 925 ล้าน และจะต้องใช้อีกปีละ 130-140 ล้านทุกปี นี่แหละครับฝันร้ายจริงๆของเขา 

จากกระทบที่ผ่านมาจากการประมูลทั้ง 2 ครั้ง ถึงได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประกวดราคา เป็นหลักเกณฑ์ จากจุดอ่อน จากสิ่งที่ผิดพลาด ไม่มีใคร ผมคิดว่าไม่มีใครอยากให้ผิดพลาดหรอกครับ แต่มันเป็นอดีตที่เราต้องดูความผิดพลาดมาแก้ไขในปัจจุบัน มันถึงได้มีการกำหนดคุณสมบัติ ผู้เสนอราคาและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นี่คือที่มาเหตุผลคำชี้แจงที่บอกว่าทำไมถึงต้องมาระบุคุณสมบัติ 1. ก็คือมีสัญชาติไทย มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 500 ล้าน เนื่องจากต้องการบริษัทที่มีความเข้มแข็งทางการเงิน และไม่สร้างความเสียหายให้กับรัฐ 2. ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลที่เคยประมูลยาง ในหน่วยงานภาครัฐซึ่งรวมทุกสัญญา มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท เนื่องจากต้องการบริษัทที่ทราบถึงคุณภาพยางที่จะเอาประมูลในครั้งนี้ ท่านดูตามสไลด์เลย ข้อ 3 นี้ ท่านดูข้อ 3 ให้ดี เป็นบริษัทที่มีโรงผลิตยางและแปรรูป str 20 และมีปริมาณการผลิตในปี 63 มากกว่า 2 แสนตัน นี่แหละครับที่ท่านบอกว่าล็อคสเปค เดี๋ยวผมจะอธิบายว่าทำไมถึงกำหนดอย่างนี้ เนื่องจากต้องการระบายยางให้กับผู้ใช้จริงไม่ต้องการให้เกิดการเวียนยางในตลาดอีก 

เมื่อสักครู่เดี๋ยวผมบอกไปแล้วว่า คุณสมบัติยางของเราในสต็อคในครั้งนี้ เป็นยางที่เก็บมา 9 ปีบ้าง 7 ปีบ้าง มีสภาพไม่ต่างกับขี้ยาง มันไม่สามารถนำยางตัวนี้ ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตัวของมันเอง ต้องนำไปเป็นส่วนผสม ถ้านำไปเป็นส่วนผสมของยาง str 20 ใช้ได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้อย่างดี 80% ถ้าจะนำไปแปรผลิตภัณฑ์เป็นอย่างอื่น ต้องใช้ทั้งสารเคมี ต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี ค่าใช้จ่ายสูง เพราะฉะนั้นยางสต็อคตรงนี้พ่อค้าธรรมดาเขาไม่มาประมูลหรอกครับ เขาเห็นก็ส่ายหน้าแล้วครับ เขาไม่เอาหรอกครับ ยางลักษณะนี้ ก็ต้องมีบริษัทที่มีความพร้อมจริงๆ และบริษัทที่มีความพร้อมจัดการตรวจสอบ ไม่มีบริษัทเดียว มีทั้งสิ้น 6 บริษัท ที่คณะกรรมการตรวจสต็อค ได้มีหนังสือไปถึง และประกาศในเว็บไซต์และสื่อแขนงต่างๆ ตามระเบียบของราชการ ผมเน้นย้ำว่า ถูกต้องตามระเบียบราชการ 

และสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา โดยระบุอยู่ในเงื่อนไขสัญญาก็คือ ผู้ชนะการประมูลต้องสมัครใจซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูลในครั้งนี้ นั่นหมายถึงบริษัทนี้จะต้องซื้อยางอีก 104,000 ตันในตลาด จากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง นั่นหมายถึงการตัดซัพพลาย ตัดปริมาณออกจากตลาด มันไม่ต่างกับการซื้อยางเข้าสต็อคเหรอครับ แต่เราไม่ต้องลงทุน นี่คือส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพยาง ไม่ได้ทำลายครับ ขอให้ท่านได้เข้าใจตามที่ผมอธิบาย และเงื่อนไขข้อที่ 2 คือ ผู้ชนะประมูลต้องรับมอบยางให้เสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 

ท่านจำได้ไหม ผมให้ท่านจำวันที่นี้ไว้ ว่าทำไมต้อง 31 พฤษภาคม เพราะค่าเช่าโกดังและค่าประกันภัยจะหมดลงในวันที่ 31 ของทุกปี พ้นจากนี้ จะต้องมีค่าภาระเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่าปีละ 132 ล้าน ค่าเสื่อมยางอีกต่างหาก ผมถามท่านครับถ้าท่านเป็นผม ท่านจะเก็บยางนี้ไว้ในสต็อคเหรอครับ วันนี้ผมมาอธิบายด้วยข้อเท็จจริง ด้วยเหตุด้วยผล ผมจะเรียนชี้แจงท่านเป็นประเด็นๆ 

ประเด็นเรื่องการระบายยาง ผมจะพูดสั้นๆ เอาประเด็นเลย เรื่องในกรณีที่ มีบริษัทเพียงบริษัทเดียว เข้าร่วมการประมูล ยื่นซอง และคณะกรรมการได้พิจารณาคุณสมบัติครบถ้วน เปิดซอง และผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ตัดสินใจเซ็นสัญญาขาย ถามว่าสามารถทำได้ไหม 

ส่วนตัวผมเอง ผมยอมรับครับ ผมไม่รู้รายละเอียดหรอกครับ แต่จากคำอธิบาย ที่ผู้บริหารการยาง กยท. อธิบายให้ผมฟังมีดังนี้ เนื่องจากการขายทรัพย์สินของราชการ ไม่มีระเบียบบริหาร ระเบียบกระทรวงการคลังบังคับไว้โดยเฉพาะเจาะจง จึงต้องอนุโลมเทียบเคียงระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 60 ซึ่งข้อ 56 ได้ระบุว่า ในการจัดซื้อจัดจ้าง แม้ว่ามีผู้เสนอราคาซื้อ หรือจ้างเพียงรายเดียว หากหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถดำเนินการต่อไปได้ นี่ไงครับ จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการจัดซื้อจัดจ้าง ผมว่าเซ็น โดนฟ้องด้วยซ้ำ ข้าราชการไม่อยู่เหนือกฎหมายครับ ผมก็ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย ทำผิดติดคุกหมดครับ และประกอบกับข้อ 215 หากพัสดุหมดความจำเป็น หรือหากให้หน่วยงานของรัฐใช้ต่อไปจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ให้ดำเนินการขายโดยวิธีการขายทอดตลาด และก่อนวิธีขายทอดตลาด เป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และควรมีการเปรียบเทียบราคาตามความเหมาะสม ซึ่งมี 2 บริษัทนี้ มาประเมินคุณภาพและราคาของยางเรียบร้อยแล้ว โดยพิจารณาราคาตามลักษณะที่ผมโชว์ให้ท่านดู  สภาพยางยังนั้น ประเภทชนิดของพัสดุและอายุการใช้งาน 

นี่เป็นอีกหนึ่งในเหตุผลที่ผมได้รับรายงานว่า ผู้บริหารการยางตัดสินใจเซ็นสัญญาในครั้งนี้ และยังมีความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นรายงานประจำปีของทุกปี ความเห็นของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีความเห็นให้การยางแห่งประเทศไทยเร่งระบายขายยางเพื่อลดภาระงบประมาณและนำเงินคืนสู่รัฐ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ผู้ว่าการยางเซ็นสัญญา 

ส่วนหนึ่งถ้าผมตอบประเด็นไหนไม่ครบถ้วน ผมจะพยายามไล่ประเด็น อีกส่วนหนึ่งท่านบอกว่าการทำ ทีโออาร์ ครั้งนี้ตัดสาระสำคัญในเรื่องการใช้ยางในภาครัฐออกไป ผมเรียนให้ท่านเห็นว่ายางนั้นมันไม่มีสภาพ จะไปทำแบริเออร์ ก็ไม่มีบริษัทไหนมาซื้อหรอกครับ เพราะมันมาแปรรูปไม่ได้ มันไม่มีสภาพของยางที่จะนำไปแปรรูป แต่มันมีสภาพของยางที่นำไปเป็นส่วนผสมแค่นั้นเอง 

ซึ่งการเซ็นสัญญาในครั้งนี้เป็นอำนาจที่ บอร์ด กยท. ได้มอบให้กับผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ผมไม่สามารถที่จะไปบังคับเขาได้หรอกครับว่าเขาจะเซ็น ไม่เซ็น เพราะเขาต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ ถ้าเขาทำทุจริต ผิดกฎหมาย ผมไม่ละเว้นอยู่แล้ว นอกจากผมไม่ละเว้น มีหน่วยงานมากมาย ที่รอการตรวจสอบ ท่านร้องได้เลย ไม่ถูกต้อง ผมก็ไม่ชอบ อยู่เมืองไทยอยู่ประเทศไทย ทำร้ายประเทศ ผมก็ไม่เอาด้วยครับ เพราะฉะนั้นครั้งนี้ ผมถึงฟังข้อเท็จจริงรายงานของผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยแล้ว ผมคิดว่าผมสามารถที่จะรับฟังเป็นเหตุเป็นผลได้ 

และผลของการระบายยางในครั้งนี้ ผลของการระบายยางครั้งที่ 3 ครั้งนี้ แน่นอนครับ ที่ผมบอก เงินที่ต้องไปเสียค่ากินเปล่า 132 ล้าน สามารถนำไปให้พี่น้องเกษตรกร ดูแลพี่น้องเกษตรกรได้โดยตรงเลยครับ นี่คือสิ่งที่เกษตรกรได้รับโดยตรง ไม่ต้องไปคิดอย่างอื่นเลย ยางมีเสถียรภาพขึ้นเนื่องจากลดปัจจัยกดดันราคายางที่มียางในสต็อคที่เป็นข้ออ้างของพ่อค้าบางกลุ่ม นั่นแหละเขาเรียกทุบราคายาง ยางในสต็อคนี่แหละ เป็นอุปกรณ์ในการทุบราคายางของพ่อค้า ไม่ใช่การระบายยางในครั้งนี้ 

และที่สำคัญก็คือการระบายยางในครั้งนี้มีเงื่อนไขต้องซื้อยางจากองค์กรสถาบันเกษตรกรอีก 104,000 ตัน ไม่ใช่เฉพาะยางในสต็อค 104,000 นะ ต้องซื้อยางจากตลาดอีก 104,000 ตัน นี่มันคืออะไร นี่มันคือการตัดซัพพลายออกจากตลาด นี่มันมีมาตรการหนึ่งในการรักษาเสถียรภาพราคายางโดยรัฐไม่ต้องใช้เงินเลยแม้แต่สลึงเดียว ประโยชน์นะครับ ได้เงินคืน 3,904 ล้าน ยังมีค่าชดเชยดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายเพิ่มเติมอีก 33 ล้าน และนี่ประหยัดงบประมาณในการรักษาเสถียรภาพราคายาง

ผมจะเรียนท่านประธาน ผ่านไปยังท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในประเด็นที่ท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ ระบุว่าการแต่งตั้งผู้ว่าการยางครั้งนี้เป็นการมาแต่งตั้งเพื่อมาทำงานนี้ ผมขอให้ท่านดูไทม์ไลน์ของเส้นทางของ ผู้ว่า กยท.  ผู้ว่า กยท. คนที่แล้ว แต่งตั้งเมื่อ 29 มีนาคม 59  ผมไม่รู้จักด้วย โดยมีสัญญาว่าจ้าง 4 ปี ตามหลักเกณฑ์ มีการเซ็นสัญญา และในวันที่ 20 มีนาคม 61 ท่านผู้ว่าถูกแต่งตั้งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกมนตรี ตำแหน่งยังอยู่นะครับ เหมือนกับไปช่วยราชการ ตำแหน่งยังไม่ขาด ผู้ว่า กยท. ยังมีตัวตนอยู่ เพียงแต่ไปช่วยราชการ และจะหมดในเดือนมีนาคม 63 ก่อนที่จะมีการหมดวาระตามกระบวนการคณะกรรมการ กยท. ก็เลยตั้งคณะกรรมการในการสรรหา เมื่อ 24 มกราคม 63 ก่อนประมาณ 2 เดือน แล้ววันที่ 4 มีนาคม 63 กยท. ได้ประกาศรับสมัคร ผู้ว่า กยท.  ผมจะไม่ลงรายละเอียดว่าใครบ้าง อะไรต่างๆ ตามคุณสมบัติที่กำหนด วันที่ 22 มีนาคม ผู้ว่า กยท. หมดวาระ ถามว่าระหว่างนั้นผมดำเนินการได้ไหม ก็ได้ครับถ้าไม่อยากติดคุกก็อย่าทำ นั่นก็คือ ปลดผู้ว่า แต่ผมจะใช้อำนาจอะไรปลดครับ เขาไม่ได้กระทำความผิด และสัญญามีอยู่ 4 ปี ท่านทราบมั้ย ถ้าไปยกเลิกสัญญา รัฐจะต้องจ่ายชดเชยเท่าไหร่ รวมถึงคดีความต่าง ๆ ถึงได้ไม่มีการแต่งตั้งผู้ว่า รอจนครบวาระ 22 มีนาคม 63  เมื่อ 22 มีนา ครบวาระ 4 มีนาคม ประกาศรับสมัคร 21 เมษายนสัมภาษณ์ แสดงวิสัยทัศน์ และวันที่ 14 กรกฎาคม ครม. มีมติ แต่งตั้งผู้ว่าคนนี้เป็นผู้ว่า กยท. ท่านดูสิครับ ผมไปกำหนดเวลาได้ไหมว่าจะเอาใครขึ้นตอนไหน มันมีกระบวนการตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. การยาง ตามระเบียบการยางแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่บริษัทของผมครับ ไม่ใช่ลูกจ้างของผมครับ แต่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีคณะกรรมการ หรือบอร์ดกำกับอยู่ เพราะฉะนั้นก็เรียนที่แจ้งว่าในกรณีที่มาของท่านผู้ว่า มันเป็นตามไทม์ไลน์อย่างนี้ ไม่ได้มีอะไรที่บิดพลิ้ว ไปมากกว่านี้ได้เลย เพราะมันเป็นไปตามกฎหมาย

สิ่งที่ท่านยกขึ้นมาในเรื่องงบดุลการเงินของบริษัท เงินทุนของบริษัท ผมขอเรียนชี้แจงอย่างนี้ว่า ผมเข้ามาอยู่หน้าที่ตรงนี้ มีหน้าที่กำกับดูแล การยางแห่งประเทศไทยให้ปฏิบัติตามนโยบายและกฎหมาย ไม่ได้เข้าไปเป็นเจ้าของบริษัท มีหน้าที่กำกับการบริหาร มอบนโยบายให้กับ กยท. แค่นั้น และกำกับดูให้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ท่านลองเอาใจเขามาใส่ใจเราสิครับ ผมจะไปทราบได้อย่างไรว่าบริษัทนี้เขามีงบการดุลยังไง ผมจะไปทราบได้อย่างไรว่าบริษัทไหนจะเข้าประมูล แล้วประมูลได้ มันเป็นกระบวนการที่ดำเนินการมาถูกต้องทุกอย่างอยู่แล้ว นี่คือสิ่งที่ผมเรียน ท่านต้องให้ความเป็นธรรมด้วย ผมไม่ทราบหรอกครับ เขาจะมีที่มาที่ไปยังไง แต่ถ้าเขามีคุณสมบัติ ดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผมมีหน้าที่ดู ตรวจสอบ ถ้ามันถูกต้อง ผมไม่มีสิทธิ์ระงับ และเมื่อผมทราบแล้ว บริษัทนี้เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ท่านก็ทราบนะครับว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องมีธรรมาภิบาล มี กลต. เป็นคนควบคุมกำกับ ไม่มีใครเขาเสี่ยงมาทำเรื่องนี้หรอกครับ แล้วเขาก็ไม่ได้ประโยชน์ด้วย ถ้าเขาจะทำ 

เพราะฉะนั้นจากเหตุผลที่ผมได้กล่าวมา ยังมีอีกประเด็น เรื่องการรายงาน ครม. ผมเรียนอย่างนี้ว่า คณะกรรมการที่อยู่เหนือ กยท. ขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งก็คือ กนย. การดำเนินการเรื่องที่ กยท. จะเข้าสู่คณะรัฐมนตรีก็ไปผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการยางธรรมชาติ แล้วคณะกรรมการยางธรรมชาติจะนำเสนอไปสู่ ครม. ผมทราบว่าวาระเรื่องนี้ ถูก กนย. ส่งไปสู่บรรจุเป็นวาระการประชุมของ กนย. ในครั้งหน้าเรียบร้อยแล้ว ก็ขอประชาสัมพันธ์ทุกท่านด้วย พร้อมๆ กับโครงการประกันรายได้ยางพารา ส่งไปวาระพร้อมกันเลยครับ ประกันรายได้ที่เอาเงินเข้ากระเป๋าพี่น้องเกษตรกรสวนยางนี่แหละครับ ส่งไปพร้อมกับรายงานการซื้อการขายฉบับนี้ เมื่อ กนย. เรียกประชุมวาระนี้ ก็จะเข้าสู่ที่ประชุม แล้วก็กระบวนการก็จะไปสู่ ครม. 

เช่นเดียวกัน ประกันรายได้ ผมไม่สามารถให้ กนย. หรือผมเสนอเข้า ครม. ได้โดยตรง เพราะมันมีระเบียบ มีกฎหมายจะต้องไปผ่านคณะกรรมการยางธรรมชาติ ผมถึงจะนำเสนอ ครม. ได้ เช่นเดียวกันตรงนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อผมได้ฟังคำอธิบายด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักฐาน ระเบียบ ข้อกฎหมาย จากทางท่านผู้บริหาร กยท. คนเห็นด้วยว่าไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย และเป็นไปตามนโยบายที่ผมได้ให้ไว้กับ กยท. ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผลประโยชน์เกษตรกร ผลประโยชน์ภาครัฐ ถูกต้องตามกฎระเบียบและกฎหมายตรวจสอบได้

ผมมาเป็นรัฐมนตรี เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกร ซึ่งเป็นพี่น้องเกษตรกรที่ยังมี กลุ่มที่มีรายได้ต่ำ ถ้าผมมาดูแลแล้ว สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกร กับประเทศชาติ ถ้าสิ่งนั้นถูกต้องเป็นประโยชน์ แล้วผมไม่กล้าตัดสินใจ ผมใช้ไม่ได้ครับ ผมเรียนยืนยันเลยครับว่า ใช้ไม่ได้  และจากหลักฐาน เหตุผลทุกอย่างที่ผมได้กล่าวมา ผมจึงเชื่อมั่นว่าการประมูลในครั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย สุจริต โปร่งใส ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น เรียกรับผลประโยชน์ และพร้อมที่จะให้หน่วยงานทุกหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบ เพราะผมก็ไม่อยากให้ประวัติผมเสียในวันที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วมีการทุจริตภายในกระทรวงเกิดขึ้น 

ก็ขอเรียนท่านสมาชิกตรงนี้ว่าเรื่องทุจริตเชิงนโยบายไม่มีหรอกครับ ผมและพรรค (ประชาธิปัตย์) ถืออย่างมาก ผมบอกเลยครับ การกระทำทุกอย่างเป็น “ความสุจริตเชิงนโยบาย” ไม่ใช่ทุจริตครับ ก็ขอกราบเรียนท่านประธานเอาไปถึงท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติทุกท่านได้รับทราบที่มาที่ไปเหตุผลในการตัดสินใจการระบายยางในครั้งนี้ และเหตุผลที่ผมคิดว่าการระบายยางในครั้งนี้เป็นไปด้วยเหตุด้วยผลก็จะถูกต้อง 

ส่วนประเด็นอื่นๆ ขอกราบเรียนท่านประธานผมเรียนอย่างนี้ว่า มีสมาชิกหลายท่านที่อภิปรายในครั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมทราบว่าผมมีชื่อที่ถูกอภิปราย แต่ก็อยากจะกราบเรียนอย่างนี้ว่า หลายๆ เรื่องไม่ได้เกี่ยวกับกลุ่มเกษตรกรเลย ผมว่าท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่นั่งอยู่ ณ ที่ตรงนี้ ท่านก็คงจะพอทราบว่ามันไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ถามว่าในความเป็นรัฐมนตรีที่อยู่ร่วมรัฐบาลเดียวกันนี้ ผมมีความรับผิดชอบ ผมถึงบอกในเบื้องต้นว่า การทำงานของรัฐบาลในวันนี้ ไม่ได้ทำงานเพียงกระทรวงใครกระทรวงมัน ตัวใครตัวมัน ไม่ใช่ครับ เราทำงานแบบบูรณาการ และท่านนายกรัฐมนตรีย้ำเป็นนัก เป็นหนา อย่าให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเด็ดขาด ซึ่งก็ตรงกับวิถีชีวิต เป้าหมายชีวิตของผมเช่นเดียวกัน ผมจึงไม่มีความลำบากใจในการทำงานกลับ ครม. ชุดนี้เลย เราทำงานร่วมกัน สินค้าเกษตรถึงแม้ไม่ใช่ภาระโดยตรงของกระทรวงเกษตร แต่เราทำงานประสานงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ โดยนโยบายของกระทรวงเกษตร “ตลาดนำการผลิต” ควบกับกระทรวงพาณิชย์ ก็คือ “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศ ทุกส่วน ที่แม้กระทั่งกระทรวงยุติธรรม ในการแก้ปัญหาผลไม้ที่ผ่านมา 

เราทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน แต่ท่านต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มันส่งผลกระทบจริงๆ มันไม่ใช่เฉพาะประเทศเรา มันทั่วโลก มันไม่ใช่เฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่มันทุกสาขาอาชีพ สิ่งเดียวที่เราจะก้าวผ่านตรงนี้ไปได้ คือการแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือร่วมใจแก้ปัญหาให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งผมเรียนว่าเราดำเนินการอยู่ ณ วันนี้ ผมเรียนยืนยันนะครับ เราดำเนินการอยู่ ณ วันนี้ และวันนี้จากตัวเลข GDP ที่ปรากฎออกมา สินค้าส่งออกภาคการเกษตร เป็นสินค้าหลักที่พยุง GDP ของประเทศ มูลค่าส่งออกบวกเพิ่มเกือบจะทุกตัว ครึ่งปีแรกผักผลไม้เราส่งไปเมืองนอก เฉพาะผักผลไม้ไม่รวมเนื้อสัตว์แปรรูป 140,000 ล้านบาท เฉพาะผักกับผลไม้ เพิ่มมา 41 เปอร์เซ็นต์ ขยายตัว ผมว่ามันไม่ได้มีสิ่งที่เลวร้ายทั้งหมดหรอก เพียงแต่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันต้องช่วยเหลือต้องร่วมกันแก้ไข และรัฐบาลนี้ผมมีความตั้งใจในการที่จะแก้ไขปัญหา

ในส่วนของโรคระบาดอุบัติใหม่ ลัมปี สกิน ผมขอเรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติว่า ผมไม่ได้ปล่อยปละละเลย ก่อนผมมาเป็นผู้แทนเล่นการเมือง ผมทั้งทำไร่ ทำสวน เลี้ยงวัวนม วัวเนื้อ วัวพันธุ์ ผมไม่ได้พูดคุยโม้ในสภา ท่านลองถามสมาชิกในสภาหลายๆ ท่านที่อยู่ในวงการตรงนี้ว่า รู้จักผมกับการเป็นคนเลี้ยงวัว คนทำไร่นี้มากี่สิบปีแล้ว เพราะฉะนั้นผมยืนยันว่า ถ้าบอกไม่มีความรู้เหรอ ผมนี้อยู่กับเกษตรมาทั้งชีวิต ครอบครัวผมเป็นเกษตรกร การทำงานของกระทรวงเกษตร ผมโชคดีมาก เป็นกระทรวงเดียวที่ผมมีรัฐมนตรีช่วยถึง 3 ท่าน มันทำให้ผมแบ่งเบาภาระการทำงานไปได้เยอะมาก และก็มีการมอบหมาย การกำกับดูแลในส่วนของส่วนราชการในกระทรวงเกษตรที่ชัดเจน และการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำงานแบบบูรณาการประสานงานกันทุกครั้งและทุกฝ่าย ท่านเห็นมั้ยกระทรวงเกษตรเราทำงาน รัฐมนตรีทุกคนทำงานกันอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส หลายๆ ท่าน บอกกระทรวงเกษตรนี่ศูนย์รวมเลย แต่ผมว่าไม่ใช่หรอก คนนี้มาอยู่ตรงนี้กับผม ใจมันเหมือนกัน พูดภาษาเดียวกัน ทำงานด้วยกันได้ และทำงานด้วยกัน 2 ปีเศษแล้ว 

ดังนั้นในเรื่องของ ลัมปี สกิน ผมเรียนว่า ตั้งแต่วันแรกที่ OIE แจ้ง จนกระทั่งมาจากกรมปศุสัตว์มีหนังสือแจ้งเตือนการระวัง จนกระทั่งมีหนังสือชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามแดนในเดือนธันวาคม และก็มีรายงานการเกิดโรคในประเทศไทย ในเดือนมีนาคมและมีการตรวจพบโรคในเดือนเมษายน ทั้งหมดนี้ กระบวนการทั้งหมดที่ ผมได้ทำงานร่วมกันทั้งหมด ซึ่งสักครู่ผมจะกราบเรียนขออนุญาตท่านประธานให้ท่านรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรงได้อธิบายรายละเอียดในการดำเนินการเรื่อง ลัมปี สกิน

ท่านประธานที่เคารพ ผมขอเรียนท่านผู้อภิปราย ในกรณีที่บอกว่าผมไม่มีสำนึก ไปมอบของให้กับโรงพยาบาลหรือสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการดูแลโควิด – 19 ผมเรียนเท่านี้ครับว่า ผมแยกการทำงาน การบริหารงานออก ยอมรับว่าวันที่ผมไปดูแลบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย 1 ชั่วโมง ที่ผมไป ผมไม่ได้ทำงานตรงนี้หรอก เพราะว่าผมไม่สามารถแยกร่างได้ แต่ผมบริหารเวลาเป็น  ถ้าการที่ผมไปดูแลให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยเป็นการไม่มีสำนึก ผมยอมครับ ยอมที่จะเป็นคนไม่มีสำนึก แต่อย่างน้อยที่สุด ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งผมว่าทุกคนก็เป็นคนไทยไงครับ เราต้องทำอะไรก็แล้วแต่ เมื่อวิกฤติเกิดกับประเทศ ทำให้วิกฤตมันผ่านไปให้ได้ ไม่ต้องไปแบ่งแยกว่าคนนู้นคนนี้เป็นใคร แต่นี่คือชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยผมเข้าใจ เพราะฉะนั้นผมถึงต้องทำ แล้ววันนี้ก็ยังทำอยู่ วันนี้ยังไปให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ เยี่ยมผู้ป่วย ยังทำอยู่ครับ ถึงแม้ว่าถ้าสิ่งที่ผมทำไม่มีสำนึก ผมก็ยอม เพราะผมทำด้วยความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่และมีความสุข 

ก็ขออนุญาตชี้แจงข้อกล่าวหาผ่านท่านประธานไปยังท่านสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติทุกท่านขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยความถูกต้อง ในการที่จะลงมติในวันพรุ่งนี้ครับ ขอบคุณมากครับ