
23 มิ.ย. 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายภาพรวมในวาระการพิจารณาเรื่องด่วน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช … ดังนี้
เริ่มต้นด้วยการกราบเรียนกับท่านประธานที่เคารพว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่ผมสังกัดนั้น มีความเห็นต่อรัฐธรรมนูญ 2 ประการ ประการที่ 1 ก็คือ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 60 หรือฉบับปัจจุบันนั้น ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นจุดยืนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และในประการที่ 2 ประชาธิปัตย์เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สามารถที่จะทำควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาโควิด ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาอื่นๆ ของประเทศได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ โควิด การเมือง ก็ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เช่น หากติดปัญหาการเมือง ก็ยากที่จะทำให้การแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนปัจจุบันรวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจสามารถสำเร็จราบรื่นได้
ขอกราบเรียนกับท่านประธานเพิ่มเติมว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเห็นว่ารัฐธรรมนูญคือตัวสะท้อนสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 60 และเมื่อประชาธิปัตย์เห็นว่ารัฐธรรมนูญ ปี 60 ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร จึงได้ดำเนินการมาโดยลำดับดังต่อไปนี้
- ท่านประธานคงจำได้ว่า เมื่อตอนที่มีการรณรงค์ทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนรับ หรือไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่ประกาศชัดเจนว่า ไม่รับรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง แต่เมื่อผลประชามติ ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ พรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมรับ และปฏิบัติตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญทุกประการมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ประการที่ 2 ท่านประธานคงจำได้ ว่าก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขสำคัญที่ได้มีการเจรจาก่อนตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล
ประการที่ 3 เมื่อเราเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาประเด็นที่จำเป็นต้องแก้ไขในเรื่องรัฐธรรมนูญ
- ประชาธิปัตย์ เมื่อถึงเวลา ได้มีการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ก็ได้ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 256 ให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 และท่านประธานคงเห็นว่าในการพิจารณาขั้นสุดท้ายนั้น ประชาธิปัตย์ได้ทำหน้าที่ยืนหยัดจนกระทั่งกระบวนการพิจารณาจบสิ้น โดยได้ลงมติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนั้น ในวาระที่ 3 แม้เสียงจะไม่พอ และทำให้ร่างดังกล่าวที่มีการแก้ไขทั้งฉบับต้องตกไปในที่สุดก็ตาม
และโดยเหตุที่เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีอุปสรรค วันนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล อีกสองพรรคคือพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยร่างที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหน้าที่ยกร่างขึ้นมามีด้วยกัน 6 ร่างด้วยกัน ซึ่งจะขออนุญาตที่จะกราบเรียนต่อท่านประธานว่า 6 ร่างที่ประชาธิปัตย์ได้ยกร่างขึ้นมานี้เป็นไปตามหลัก 3ข้อ
ข้อ 1 ก็คือเพื่อทำให้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่แก้ไขนั้น เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น
ประเด็นที่ 2 ก็คือจะไม่มีการแตะหมวด 1 หมวด 2 ที่ว่าด้วยการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แตะหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์
และประเด็นที่ 3 ก็คือ ร่างทั้ง 6 ร่างนี้เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชนเป็นหลัก
โดย 6 ร่างนั้น เพื่อนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งท่านองอาจ คล้ามไพบูลย์ และท่านชินวรณ์ บุญยเกียรติ ก็ได้ทำหน้าที่เสนอต่อท่านประธานไปแล้ว กระผมขออนุญาตแต่เพียงที่จะกล่าวสนับสนุนว่าแต่ละร่างมีเหตุผลอย่างไรที่สมควรที่เพื่อนสมาชิกรัฐสภาจะได้ช่วยให้การสนับสนุนต่อไปได้
ร่างที่ 1 นั้น เป็นการแก้ไขมาตรา 29 43 46 และ 72 เป้าหมายสำคัญก็เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงของประชาชน และสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางคดีจากทนายความและการได้รับการประกันตัว รวมทั้งการขยายสิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภคที่ประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง และประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ที่สำคัญก็คือสิทธิของประชาชนและเกษตรกรที่จะต้องได้รับการกระจายการถือครองที่ดินทำกินและน้ำให้เป็นระบบ ทั่วถึง เป็นธรรม เหมาะสม และพอเพียงแก่การทำการเกษตร นี่คือฉบับที่ 1
ฉบับที่ 2 เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ดังท่านองอาจได้กราบเรียนเมื่อสักครู่ สาระสำคัญก็คือเป็นการแก้ไขจากปัจจุบันที่ระบุว่าหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการที่จะทำประโยชน์ให้กับประชาชน ก็แก้เป็น ต่อไปนี้ให้ถือว่าหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นทำได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องที่ห้าม เช่นเรื่องการทหาร เรื่องศาล ธนาคาร เรื่องการต่างประเทศเป็นต้น และที่สำคัญก็คือแก้ไขให้เกิดความชัดเจนว่า ต่อไปนี้ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขได้ตามที่ประชาธิปัตย์และอีก 2 สองพรรคร่วมเสนอนั้น ผู้บริหารหน่วยการปกครองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล อบต. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเท่านั้น จะมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม เช่นให้สมาชิกสภาจังหวัดไปเลือกนายก อบจ. แทนประชาชนไม่ได้ เป็นต้น
ฉบับที่ 3 ก็คือ เป็นเรื่องของการแก้ไขในเรื่องการตรวจสอบการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริต (ปปช.) ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและทุกฝ่าย ที่เป็นเช่นนั้นก็ดังที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปก่อนหน้านี้ว่า หากพบว่าคณะกรรมการ ปปช. ผู้ใด ประพฤติมิชอบ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ ส.ส. บวก ส.ว. หรือประชาชนไม่น้อยกว่า 20,000 ชื่อ สามารถยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งไปให้ประธานศาลฎีกาตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระได้
ปัญหาที่เป็นประเด็นก็คือว่าก่อนส่งประธานศาลฎีกา รัฐธรรมนูญปัจจุบันระบุว่า ประธานรัฐสภาต้องพิจารณาเสียก่อน ว่ามีเหตุอันควรสงสัยหรือไม่ ตรงนี้ที่อาจเป็นประเด็นทำให้เกิดการต่อรองคดีได้ เพราะประธานรัฐสภามาจากพรรคการเมืองรัฐบาล ซึ่งอันนี้ผมไม่ได้มีข้อสงสัยต่อท่านประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย แต่อย่างใด เพราะท่านมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอันนี้คือหลักการ ถ้าหากว่าประธานรัฐสภาสามารถที่ใช้ดุลยพินิจได้ อาจจะนำไปสู่การต่อรองคดีสำหรับบุคคลอื่นที่มาเป็นประธานรัฐสภาได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ขอแก้รัฐธรรมนูญในมาตรานี้ หรือฉบับนี้ เป็นว่า เมื่อมีผู้ยื่นให้ไต่สวน ปปช. ต่อประธานรัฐสภา ให้ประธานรัฐสภามีหน้าที่ส่งประธานศาลฎีกาเลย โดยไม่ต้องพิจารณาก่อนหรือพิจารณาเป็นอย่างอื่น
ฉบับที่ 4 ก็คือในเรื่องของการแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้น ได้กำหนดขั้นตอน เงื่อนไขไว้ซับซ้อนมากมาย จนเกือบจะเรียกว่าทำให้แก้ไม่ได้เลย และสุดท้ายอาจจะนำไปเป็นเงื่อนไขในการฉีกรัฐธรรมนูญต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าไม่มีใครประสงค์จะให้เกิดเหตุนี้ขึ้นมา นั่นคือว่าข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีต การแก้ไขนั้นกำหนดไว้แต่เพียงว่าใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง หรือเกินกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุมร่วมรัฐสภาแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกหลายประการว่า
- นอกจากต้องใช้เสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของ 2 สภารวมกันแล้ว ยังจะต้องในจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้น ต้องมีเสียงวุฒิสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วย และต้องมีเสียงฝ่ายค้านอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 บางกรณีถึงขั้นต้องไปทำประชามติก่อน และยังมีกรณีที่เพื่อนสมาชิกอาจหลงลืมไปก็ได้ ก็คือว่าก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส.ส. ส.ว. หรือ ส.ส. ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ยังสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยมาตรา 255 ได้อีก
นี่คือความยุ่งยากซับซ้อนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ที่บัญญัติไว้ เมื่อเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ท่านประธานคงจำได้ ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยพูดว่า อย่างน้อยถ้าต้องเลือกสักมาตรานึงก่อน ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมจะเลือกมาตรา 256 เพราะมาตรา 256 คือกุญแจดอกใหญ่ที่คล้องประตูประชาธิปไตยไว้ ไม่ให้เปิดออก การแก้มาตรา 256 จะเป็นการสะเดาะกุญแจเพื่อให้เปิดประตูไปสู่ประชาธิปไตยในอนาคตได้ การแก้ไขมาตรา 256 จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและเป็น 1 ใน 6 ฉบับ ที่ประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาได้เสนอต่อท่านประธานและที่ประชุม
ฉบับที่ 5 เป็นเรื่องของการแก้ไขระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบ เหตุผลมิใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใด แต่เพื่อให้ประชาชนได้มีเสรีภาพในการเลือก ส.ส. มากขึ้น นั่นคือบัตร 2 ใบ จะเป็นการแยกเลือกคน แยกเลือกพรรคได้ ไม่ต้องถูกบังคับเหมือนระบบบัตรใบเดียว ที่เอาคนกับพรรคมามัดรวมกันเหมือนข้าวต้มมัด นี่ก็คือประเด็นที่ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกผู้แทนและเลือกพรรคการเมืองที่ตนเองชอบได้ ที่สำคัญก็คือระบบบัตร 2 ใบจะทำให้ ประชาธิปไตยรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นเข้มแข็งขึ้น เพราะพรรคการเมืองจะเข้มแข็งขึ้น การเมืองจะมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะบัตร 2 ใบ ผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นเบี้ยหัวแตกเหมือนระบบบัตรใบเดียวที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นี่คือเหตุผลสำคัญที่ขออนุญาตกราบเรียนว่าทำไมต้องแก้ระบบบัตรใบเดียว เป็นบัตร 2 ใบ
ฉบับที่ 6 ประเด็นที่ขออนุญาตที่จะกราบเรียนต่อท่านประธานก็คือว่า เป็นประเด็นของการแก้ไขมาตรา 272 ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในประเด็นว่า ควรจะปิดสวิตช์ ส.ว.หรือไม่ ผมขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานที่เคารพไว้ตรงนี้ว่า จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อเรื่องนี้ก็คือ ประชาธิปัตย์ยังเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภายังมีความจำเป็น และประเทศไทยควรเป็นระบบรัฐสภาแบบ 2 สภา ไม่ใช่สภาเดียว แต่เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงควรให้มีอำนาจจำกัดเฉพาะการทำหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายและการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น ไม่ควรมีอำนาจเลยไปถึงการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เช่น ส.ส.ได้ และที่สำคัญขออนุญาตเรียนกับท่านประธานว่า การแก้ไขและธรรมนูญมาตรา 272 จำกัดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นการสอดคล้องกับหลักการสำคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ เพราะหลักการสำคัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ก็กำหนดว่า ผู้ที่มีอำนาจควรจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงประชาชนเท่านั้น การให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนเลือกนายกฯ นั้น เป็นการให้อำนาจเป็นการชั่วคราวที่ระบุไว้ในบทเฉพาะกาลเป็นเวลา 5 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะต้องกลับเข้าสู่วิถีประชาธิปไตยปกติที่เป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 จึงเป็นเพียงแค่การย่นระยะเวลาของบทเฉพาะกาล 5 ปีให้สั้นลงในเรื่องนี้เพื่อกลับเข้าสู่หลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และควรจะเป็นเร็วขึ้นแต่เพียงเท่านั้นเอง
อีกประเด็นหนึ่งที่ขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานในเรื่องนี้ก็คือว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้นไม่ได้มีผลเป็นการกีดกันบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อไม่ให้สามารถดำรงตำแหน่งนายกมนตรีได้ต่อไปอีกในอนาคต เพราะหากบุคคลนั้นประสงค์จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปก็สามารถนำชื่อไปใส่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ หรือลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ และการเลือกตั้งถ้าบุคคลนั้นสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ท่านก็ย่อมมีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติและกระบวนการดำเนินการเช่นเดียวกันกับท่าน
นอกจากนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นี้ ยังถือเป็นการปลดล็อคเงื่อนไขข้อจำกัด หรือข้อขัดแย้งทางการเมืองได้อีกระดับหนึ่ง ช่วยส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง ในการที่จะจำไปสู่การแก้ปัญหาของรัฐบาลปัจจุบันในการแก้วิกฤติโควิดเศรษฐกิจ และปัญหาอื่น ๆ ได้อย่างมีเสถียรภาพ และเรียบร้อยราบรื่นขึ้นต่อไปด้วย
ด้วยเหตุผลที่กระผมกราบเรียนกับท่านประธานมาข้างต้น ประชาธิปัตย์จึงมีมติสนับสนุนทั้ง 6 ร่างของพรรค รวมทั้งอีก 2 ร่างของพรรคภูมิใจไทย และอีก 1 ร่างของพรรคพลังประชารัฐ แม้จะมีข้อท้วงติงในประเด็นมาตรา 144 และมาตรา 185 อยู่ แต่ก็เห็นว่าสามารถไปแปรญัตติแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในวาระที่สองได้ รวมทั้งมีมติสนับสนุนสนับสนุน 4 ร่างพรรคเพื่อไทยด้วย ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าประชาธิปัตย์เห็นว่า
- ทั้ง 13 ร่างนั้น มีหลักการใกล้เคียงกันกับร่างของพรรคประชาธิปัตย์
ประการที่ 2 ประเด็นรายละเอียดที่ยังเห็นแย้งก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ในชั้นแปรญัตติ
ประการที่ 3 การลงคะแนนเห็นชอบกับทั้ง 13 ร่าง ไม่ใช่เรื่องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่ขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานว่า เพื่อเป็นการแสวงหาความร่วมมือและความเห็นพ้องโดยไม่ขัดจุดยืน เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้จริง ตามจุดยืนที่พรรคประชาธิปัตย์ได้กำหนดไว้ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ของ 2 สภารวมกัน และในจำนวนนั้นต้องมีฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 สนับสนุน รวมทั้งต้องมีวุฒิสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 สนับสนุนด้วย
ด้วยเหตุผลดังที่กระผมกราบเรียนมาข้างต้น จึงหวังว่าทั้ง 6 ร่างที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอและอีก 7 ร่างที่เหลือนั้น จะได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา เพื่อทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง และไม่กลายเป็นเงื่อนไขวิกฤติทางการเมือง จนเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาประเทศที่รุมเร้าเราอยู่ขณะนี้ และที่สำคัญทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้อย่างสง่างามยิ่งขึ้น ขอบคุณครับ ท่านประธานครับ