คำต่อคำ ”จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คำต่อคำ…

”จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 23 กันยายน 2563 11.23-11.39

 ท่านประธานที่เคารพ กระผมจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภาขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานครับว่า กระผมเป็นคนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ

ประการที่ 1 เพราะเหตุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีหลายประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งเนื้อในและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทเฉพาะกาล
ประการที่ 2 ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ แต่เมื่อถึงเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสมก็ควรได้รับการแก้ไขได้ เพราะว่าแม้แต่ในตัวรัฐธรรมนูญเอง ก็ได้เปิดทางเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ ในมาตรา 256

กระผมขออนุญาตกราบเรียนว่า ทั้งกระผมและพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมสังกัดได้มีท่าทีที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะขออนุญาตลำดับความให้ท่านประธานได้เห็นดังต่อไปนี้

ข้อ 1 เมื่อมีการทำประชามติ ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงในเวลานั้น
ข้อ 2 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ กระผมก็ยอมรับ เพราะว่านั่นคือวิถีทางประชาธิปไตยเบื้องต้น และนั่นคือการเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
ข้อ 3 ท่านประธานคงจำได้ เมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเชิญจากพรรคพลังประชารัฐให้เข้าร่วมรัฐบาลตามวิถีทางประชาธิปไตยระบบรัฐสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขก่อนการตัดสินใจร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์
ข้อ 4 กระผมในฐานะหัวหน้าพรรค ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรจะมีการแก้ไขมาตรา 256 ที่ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การแก้ไขไว้ซับซ้อน และมากเงื่อนไขจนเกือบจะเรียกได้ว่าปิดประตูตาย ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกือบจะทำไม่ได้ หากเราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้เป็นเบื้องต้น อย่างน้อยก็จะเป็นการสะเดาะกุญแจที่รัฐธรรมนูญนี้ล็อคไว้ให้เปิดออกไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้ในอนาคต
ข้อ 5 ต่อมาเมื่อรัฐบาลชุดนี้ได้มีการยอมรับเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้มีการบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา และ
ข้อ 6 สำหรับบทบาทด้านนิติบัญญัติ ขอกราบเรียนกับท่านประธานว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่เสนอญัตติให้มีการจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมา เพื่อศึกษาประเด็นที่เห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวได้นำผลการพิจารณานำเสนอต่อสภาแล้ว เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

สำหรับการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์นั้น กระผมขออนุญาตกราบเรียนกับประธานว่า พรรคประชาธิปัตย์มีข้อจำกัด โดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถเสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญโดยลำพังได้ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์มีแค่ 52 เสียง การเสนอญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นจะต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า1 ใน 5 คือ 100 เสียงโดยประมาณ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีไม่ถึง เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์จึงต้องร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยระบบรัฐสภา โดยใช้วิปรัฐบาลเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินการ ซึ่งญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการนำเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้วในวันนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานก็คือว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 256 ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า จะต้องใช้เสียงของรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้มีเงื่อนไขแต่เพียงเท่านี้ ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกนั่นคือในเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งนั้น จำเป็นจะต้องมีเสียงฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งผมคำนวณคร่าวๆ อาจจะผิดพลาด ประมาณ 48 เสียง และจะต้องมีวุฒิสมาชิกให้ความเห็นชอบอีกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียงโดยประมาณ

นอกจากนั้นหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านสภายังจำเป็นต้องเอาไปทำประชามติถามประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

โดยเหตุนี้ผมกำลังจะกราบเรียนกับท่านประธานว่า ความร่วมมือของรัฐสภาจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง หากเสียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ว่าจะเป็นเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล เสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือเสียงของวุฒิสมาชิก ขาดหายไปไม่เพียงพอตามเงื่อนไข การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้

ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ผมได้เสนอความเห็นผ่านวิปของพรรคคือท่านชินวรณ์ บุญเกียรติ ให้ไปหารือกับวิปรัฐบาลเพื่อขอความเห็นร่วมในการที่จะให้มีการนัดหมายวิป 3 ฝ่าย ให้มาหารือกัน ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการแสวงหาจุดร่วม ต้องการให้รัฐธรรมนูญในแก้ไขครั้งนี้สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้จริง และเพื่อให้รัฐสภาเป็นที่พึ่ง และเป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่งมาถึงวันนี้ต้องขอขอบคุณวิปทั้งสามฝ่ายที่ได้รับข้อเสนอของผมและรับหลักการนี้ ซึ่งจะได้มีการประชุมหาข้อสรุปกันต่อไป

สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ ขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานครับว่า กระผมสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะด้วยเหตุผล

ประการที่ 1 ก็คือว่า ร่างฉบับนี้มีการแก้ไขมาตรา 256 ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จุดประกายมาแต่ต้น ก่อนการตัดสินใจร่วมรัฐบาล และเป็นจุดยืนมาตั้งแต่เบื้องต้น

ประการที่ 2 ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้มีการตั้ง สสร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และแม้จะมีความเห็นต่างกันบ้าง ในเรื่องของที่มา สสร. แต่ก็สามารถที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไขในขั้นแปรญัตติในวาระที่ 2 ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญก็คือว่าการตั้ง สสร. นั้น จะมีส่วนช่วยให้สามารถปรับปรุงหรือบรรจุประเด็นเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากญัตติหลายญัตติที่เสนอให้มีการแก้ไขรายประเด็นเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันนี้ได้ด้วย

และประการที่ 3 ขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานว่า ถ้ามีการจัดตั้ง สสร. ขึ้นมาระหว่างการยกร่าง ประชาธิปัตย์จะมีส่วนร่วมในฐานะพรรคการเมือง ด้วยการนำเสนอประเด็นต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของ สสร. และจะร่วมให้ความเห็นอันเป็นประโยชน์ในฐานะผู้ปฏิบัติ และผู้ใช้รัฐธรรมนูญ

ประชาธิปัตย์จะนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน หรือแม้แต่สิทธิของผู้ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการทุจริตคอรัปชั่นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการเลือกตั้งในปัจจุบัน ก็ควรมีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อจะได้ไม่นำไปสู่ผลการเลือกตั้งแบบเบี้ยหัวแตกจนส่งผลให้การเมืองขาดเสถียรภาพ

และที่สำคัญในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา กระผมขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานว่า กระผมสนับสนุนให้มีวุฒิสภา เพราะเหตุว่ากระผมเห็นว่าจากประสบการณ์ที่เป็นนักการเมืองมายาวนาน รัฐสภามีความจำเป็นต้องมีวุฒิสภา แต่ถ้าวุฒิสมาชิกไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง วุฒิสภาก็ควรมีอำนาจและบทบาทจำกัด นั่นก็คือวุฒิสภาควรมีบทบาทในการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไป ซึ่งบางครั้งก็ต้องยอมรับความจริงว่ามีข้อบกพร่อง จะด้วยเหตุใดก็ตามในกฎหมายบางฉบับ และวุฒิสภาควรมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน นี่ก็คือสิ่งที่ขออนุญาตกราบเรียนต่อท่านประธาน

นอกจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญโดย สสร. พวกเราก็จะทำหน้าที่ร่วมกันผลักดันให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นดำเนินไปด้วยความรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

และที่สำคัญ ที่กระผมเห็นด้วยกับร่างแก้ไขธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ก็เพราะว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่แตะหรือแปลว่าไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ทำไมผมคิดว่าหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 มีความสำคัญ ที่มีความสำคัญก็เพราะเหตุว่าหมวดที่ 1 ที่ 2 นั้นเป็นหมวดที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ รูปแบบของความเป็นประเทศของเรา และเป็นหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ถ้าท่านประธานไปพลิกรัฐธรรมนูญดู จะเห็นได้ชัดเจนว่าในหมวดที่ 1 อย่างน้อย แม้จะมีหลายมาตรา แต่ 2 มาตราสำคัญที่ขออนุญาตหยิบยกมากราบเรียนกับท่านประธานในที่นี่ให้รับทราบก็คือว่า

ในหมวดที่ 1 มาตรา 1 ระบุไว้ชัดเจนว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้”

และมาตรา 2 ที่สำคัญไม่แพ้กัน ระบุว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่กระผมสนับสนุนร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะระบุชัดว่าจะไม่แก้ไข และไม่แตะทั้งหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งทั้งหมดนี้คือจุดยืนของกระผม และน่าจะกราบเรียนกับท่านประธานได้ว่า เป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์

ผมหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีหลักการชัดเจนให้แก้มาตรา 256 ให้มี สสร. ขึ้นมายกร่างใหม่เพื่อความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 จะได้รับการสนับสนุนทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก เพื่อให้ประเทศไทยของเราเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้ในอนาคต เพื่อรัฐสภาได้เป็นที่พึ่งของประชาชนและเพื่อให้รัฐสภาได้เป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง

สุดท้ายขอกราบเรียนว่า สำหรับผมและพรรคประชาธิปัตย์มีมติชัดเจน รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลรวมไปถึงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีหลักการใกล้เคียงกัน ขอบคุณครับท่านประธาน