
11 พ.ย. 2564
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนาย ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก พรรคก้าวไกล
ท่านประธานที่เคารพ กระผมจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขออนุญาตตอบคำถามท่าน ส.ส. ปดิพัทธ์ ก่อนอื่นต้องขอบคุณที่กรุณาถาม จะได้มีโอกาสชี้แจงต่อสภาผู้แทน ซึ่งถือเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ
ความจริงที่ท่านเริ่มต้นด้วยการบอกว่า ผมไม่มาตอบกระทู้หลายครั้งนั้นไม่เป็นความจริงเลย ผมมาตอบทุกครั้ง ยกเว้นพฤหัสที่แล้ว ซึ่งตั้งกระทู้ถามสดขณะที่ผมต้องประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ เพราะท่านนายกฯ เลื่อนมา แล้วก็ขณะเดียวกัน นโยบาย หรือโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ท่านพูดถึงอยู่นี้ เข้า ครม. ผมจำเป็นต้องชี้แจง ก็เลยไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ แต่ได้บอกไว้แล้วว่า ถ้าสัปดาห์นี้ท่านจะถาม ผมยินดีมาตอบ แล้วก็ในอดีตที่ผ่านมา ท่านประธานคงจำได้ แม้มาตอบ 3 กระทู้ในวันเดียวกัน ผมก็ยินดีมาตอบ แล้วก็ได้ตอบไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องไม่มาตอบกระทู้นี้ ขอความกรุณาได้เกิดความเข้าใจด้วย
ประเด็นที่ 2 ก็คือ ถ้าท่านบอกว่า เรื่องข้าวไม่จำเป็นต้องพูดถึงความชื้นนั้น เดี๋ยวจะเกิดความเข้าใจผิด เพราะราคาข้าวนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้น ซึ่งอันนี้เป็นมาตรฐานทั่วไป ถ้าเราไม่พูดถึงความชื้นแล้ว สุดท้ายผลจะกลายเป็นว่าเกษตรกรจะผลิตข้าวมีความชื้นเท่าไหร่ ชื้นมาก ชื้นน้อย ชื้นมากก็คือมีน้ำผสมอยู่ด้วย ถ้าชื้นหนักก็มีน้ำอยู่มาก แล้วก็เอาไปขายราคาเดียวกับข้าวแห้งได้ซึ่งความชื้นต่ำ มาตรฐานก็จะไม่มี แล้วสุดท้ายก็จะเป็นการที่จะทำให้เกษตรกรอาจหันไปทำข้าวที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลไม่ประสงค์จะให้เป็นอย่างนั้น และผมเชื่อว่าท่าน ส.ส. ก็คงไม่ประสงค์จะเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการพูดถึงความชื้นนี้ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
และการที่จะมาพูดเรื่องราคา ณ ความชื้นหนึ่ง กับราคาข้าวแห้งที่ความชื้นมาตรฐานนั้น เอามาเทียบกันก็เทียบไม่ได้ อันนี้ก็คือเบื้องต้นที่ขออนุญาตทำความเข้าใจ ความชื้นมาตรฐานของข้าวนั้นอยู่ที่ ความชื้นไม่เกิน 15% ซึ่งถ้าเราเอาตัวเลขความชื้นมาตรฐาน 15% มาใช้ อันนั้นจะเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกัน โดยเฉพาะในมาตรฐานที่จะนำมาคิดคำนวนการช่วยเหลือเกษตรกร แต่ถ้าเราไม่เอาตรงนั้นมา เอาข้าวเปียกมาพูด ราคามันก็จะต้องต่ำกว่า เพราะมันมีน้ำผสมอยู่ด้วย มีความชื้นผสมอยู่ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้ท่านบอกว่า ราคาข้าวตกแค่ 5,000 กว่า 6,000 อันนี้คือความชื้น 30% ที่เราพูดกันคือข้าวเปียก ผมไม่ตำหนิเกษตรกรนะครับ เพราะช่วงนี้น้ำท่วม ฝนตก เกี่ยวปั๊บขายเลย เพราะฉะนั้นแน่นอนว่าข้าวมันก็บวกน้ำ บวกความชื้น บวกสิ่งเจือปนมาบ้าง แต่ว่าอันนั้นเมื่อเทียบเป็นราคาความชื้นมาตรฐานคือไม่เกิน 15% เช่น ถ้าสมมติว่า ราคาข้าวเปียก 6,000 ราคาข้าวแห้งมาตรฐานไป 7,700 บาท เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าวันนี้ขายได้ที่ความชื้น 30% 6,000 ก็แปลว่า ราคามาตรฐานคือ ราคาข้าวอยู่ที่ 7,700 บาท อันนี้เป็นตารางมาตรฐานที่มีการคิดคำนวนมาชัดเจน เพราะฉะนั้นเบื้องต้นขอทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน
ประเด็นต่อมา ในเรื่องของเงิน ที่ท่านถามผมเมื่อสักครู่ว่างวดนี้จะได้เมื่อไหร่ แล้วงวดต่อไปจะได้เมื่อไหร่ ก็ขออนุญาตเรียนว่า ประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีทั้งหมด 33 งวด ตั้งแต่งวดที่ 1 ไปงวดที่ 2 สัปดาห์ละ 1 งวด 1 งวด 1 งวด ไปทุกสัปดาห์ และการที่จะคำนวนว่า รายได้ที่ประกันเช่น ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท การที่จะคำนวนว่าราคาตลาดซึ่งเกิดจากค่าเฉลี่ยที่เขามีสูตรคำนวนชัดเจน ณ ความชื้น 15% คือข้าวแห้ง ถ้าสมมติว่าข้าวแห้งราคา 7,500 เราประกัน 10,000 ส่วนต่างมันก็ 2,500 เกษตรกรก็จะมีรายได้จากการขายข้าวแห้ง 7,500 บวกกับส่วนต่าง 2,500 รวมแล้วก็เป็น 10,000 บาท ตามรายได้ที่ได้ไปประกันไว้
ทีนี้งวดที่ 1 ได้จ่ายไปแล้ว จาก 33 งวด คือเมื่อวันที่ 9 งวดที่ 2 ก็จ่ายไปแล้ว ณ วันที่ 10 ซึ่ง 2 งวดนี้จ่ายไปแล้วประมาณ 13,000 ล้านบาท ผมเอาตัวเลขกลมๆ นะครับ เพราะมันจะมีเศษอะไรแล้วทำให้สับสนเข้าใจยาก ก็ประมาณ 13,000 ทีนี้งวดต่อไปเป็นงวดที่ 3 ก็บวกไปอีก 1 สัปดาห์ งวดที่ 4 ก็บวกไป 1 สัปดาห์ ส่วนถ้าท่านจะถามผมว่า แล้วงวดต่อไปนั้นเป็นเงินเท่าไหร่ อันนี้จะต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาดที่เป็นจริง ที่จะต้องมีสูตรคิดคำนวนก่อนที่จะจ่ายประมาณ 3 วัน ซึ่งมันก็จะต้องเกิดเหตุนี้ขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้นการจ่ายมันก็จะเป็นไปตามนี้
แต่สิ่งหนึ่งที่ขออนุญาตที่จะเรียนให้ท่านได้รับทราบก็คือว่า การจ่ายเงิน 2 งวดที่ผ่านมา ตะกี้ผมก็อยู่กับผู้จัดการ ธกส. ท่านก็บอกว่าทุกอย่างเรียบร้อย ไม่มีปัญหา จ่ายไปหมดแล้ว ยกเว้นบางรายเท่านั้นเอง บางรายที่มีปัญหาเรื่องการตรวจสอบสิทธิ์ว่าตกลงซ้ำซ้อนมั้ย หรือเกิดปัญหาคลาดเคลื่อนอะไรบางข้อเท่านั้นเอง แต่ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็จ่ายด้วยวิธีการโอนเข้าบัญชีโดยตรง หายหกตกหล่นไม่ได้ ใครจะไปหยิบยก 5% 3% โกง ทำไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็คือสิ่งที่ได้จ่ายไปแล้ว
และขออนุญาตที่จะเรียนว่า เฉพาะงวด 1 กับ งวด 2 เกษตรกรได้เงินส่วนต่างเยอะมาก เฉพาะเงินส่วนต่างสูงสุดที่ผมให้ลองคำนวนมาดู เพื่อจะได้เป็นตัวเลขที่ท่านประธานจะได้เห็นภาพก็คือว่า เราประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด 1. ข้าวหอมมะลิ 2. หอมมะลินอกพื้นที่ 3. ปทุมธานี 4. ข้าวเจ้า 5. ข้าวเหนียว เฉพาะเงินส่วนต่างเกษตรกรที่ได้สูงสุด เฉพาะส่วนต่างนะครับ ไม่นับเงินที่เอาข้าวไปขายในตลาดอันนั้นก็อีกก้อนหนึ่ง เฉพาะส่วนต่างชดเชยนั้น ข้าวหอมมะลิ ใน 2 งวดนี้ที่ได้สูงสุด 57,826 บาท 1 ครัวเท่านั้น 57,826 บาทครับ ที่ได้ไป หอมมะลินอกพื้นที่ สูงสุดได้ถึง 59,506 บาท ข้าวปทุม 26,305 บาท ข้าวเปลือกเจ้า สูงสุดโดยเฉพาะจังหวัดท่านที่มีเยอะ 58,038 บาท ต่อครัว แล้วก็ข้าวเหนียวได้มากที่สุดเลยครับ ข้าวเหนียวได้มากถึง 69,580 บาท ครัวที่ได้มากที่สุดนะครับ ต่ำสุดก็ไล่เรียงกันลงไป อันนี้ก็คือภาพตัวเลข ท่านจะได้สบายใจว่า นโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้น นอกจากเกษตรกรจะมีรายได้จากการเอาข้าวไปขายในตลาด ตามราคาตลาด ณ ความชื้น 15% แล้ว ยังมีก้อนที่ 2 คือเงินส่วนต่างที่มาช่วยเติมเต็ม ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้ตามรายได้ที่ประกัน เช่น ข้าวเปลือกเจ้าได้ 10,000 บาท ข้าวหอมมะลิได้ 15,000 ที่เหลือก็ลดหลั่นกันลงมาตามที่มีการประกันรายได้ หรือแม้แต่ข้าวเหนียว ก็ 12,000 บาท ข้าวปทุม 11,000 ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 เป็นต้น อันนี้ก็คือสิ่งที่ขออนุญาตที่จะตอบ
ส่วนงวดที่ 3 ที่ 4 จะได้เมื่อไหร่ ก็จะถัดไปเป็นสัปดาห์ๆๆ ต่อไปจนครบ 33 งวด อันนี้ก็ขออนุญาตที่จะเรียนให้ท่านทราบ แล้วก็ปัญหาน้อยมากสำหรับการโอนเงินของ ธกส. ก็ขอบคุณ ธกส. ด้วย
สำหรับคำถามที่ 2
ผมขออนุญาตตอบนะครับ ต้องชี้แจงนิดนึงแล้วละครับ เพราะว่าผมไม่อยากให้ท่านพูดประชดประชันว่าผมพูดเหมือนข้าราชการประจำ ผมไม่อยากให้ดูถูกข้าราชการประจำนะครับ แล้วก็ผมจะพูดเหมือนข้าราชการประจำ หรือไม่เหมือนก็ตาม แต่ขอเรียนว่า ผมพูดตามข้อเท็จจริง ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงจะข้าราชการประจำ หรือข้าราชการการเมืองอย่างผม หรือผู้แทนราษฎรทั้งสภา ก็ต้องพูดภาษาเดียวกัน แล้วก็ต้องพูดคำเดียวกัน พูดด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะเราพูดบนพื้นฐานของความเป็นจริง ตรงไปตรงมา และผมกราบเรียนว่า ผมพูดตรงไปตรงมา พูดตามข้อเท็จจริง อันนี้ประการที่ 1 ที่ต้องพูดทำความเข้าใจเสียก่อนนะครับ
ประการที่ 2 ท่านบอกว่า เกษตรกรร้องไห้ ผมไม่ไปเถียงท่านหรอกครับ แต่ว่าเงินส่วนต่างวันที่ 9 วันที่ 10 นี้ เกษตรกรดีใจมากที่ได้เงินส่วนต่าง ผมมีภาพเยอะเลยครับ ผมไม่ทราบว่าทีมได้เตรียมไว้หรือเปล่า การโอนเงินส่วนต่างวันที่ 9 กับ 10 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดไหนครับที่ปลูกข้าว ภาพมันปรากฎชัดเลยว่าทุกคนดีใจ เอาสลิป บัญชี มาโชว์กันว่านี่ เขาได้ 30,000 50,000 60,000 แล้วก็มาช่วยเยียวยาเขาแล้ว
และผมขออนุญาตกราบเรียนว่า สำหรับเกษตรกรที่น้ำท่วมนะครับ ผมเรียนตรงนี้เลยว่า 1. นอกจากท่านจะได้เงินชดเชยจากรัฐบาลที่กระทรวงมหาดไทยจะเป็นต้นเรื่อง เพราะว่าข้าวท่านเสียหายทั้งหมด เพราะฉะนั้นท่านต้องได้เงินตามมาตรการที่กำหนดไว้ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็ตอ้งช่วยดูแล ท่านยังจะได้เงินส่วนต่างจากประกันรายได้ด้วย แม้ข้าวของท่านจะเสียหายไปทั้งหมดก็ตาม เพราะท่านได้ขึ้นทะเบียนไว้ล่วงหน้าแล้ว และมีการตรวจสอบแล้วว่าท่านปลูกข้าวจริง เพราะฉะนั้นท่านก็ยังได้เงิน 2 ก้อนที่จะเข้าไปช่วยชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบภัยน้ำท่วม
ประการต่อมา คำพูดที่ท่านไปเอาคำพูดของใครก็ไม่ทราบมาบอกว่า ประกันรายได้เกษตรกรทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ผมคิดว่ามันตรงกันข้ามละครับ ประกันรายได้เกษตรกร ไม่ว่าจะข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด ช่วยให้เกษตรกรยังชีพอยู่ได้ และมีโอกาสลืมตาอ้าปากและเข้มแข็ง เพราะต่อไปนี้มันหมายความว่า ทันทีที่ท่านปลูกพืชที่มีการประกัน ท่านมีหลักประกันในเรื่องรายได้ ไม่ต้องฝากโชคชะตาไว้กับราคาอย่างเดียว ซึ่งมันมีโอกาสตกต่ำ ผันผวนได้ ยามใดที่ราคาพืชเกษตรตัวนั้นสูงกว่ารายได้ประกัน ท่านก็เอาเงินไปทั้งหมด 100% ที่ท่านขายได้ แต่ยามใดที่ราคามันตกสิครับ รายได้ท่านจะไม่ลด เพราะท่านเอาไปขายในตลาดได้ราคาต่ำ แต่มีเงินส่วนต่างเข้าไปบวกสมทบให้ จนท่านมีรายได้ตามราคา หรือรายได้ที่ประกัน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ทำให้เกษตรกรอ่อนแอ
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นด้วย ก็คือว่า การแก้ปัญหาต้องไม่ทำเฉพาะประกันรายได้ มันจะต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเสริมระยะยาวด้วย เพื่อให้เกษตรกรยืนอยู่ได้ เรื่องข้าวนี้ผมไม่ทราบท่านเคยไปอ่านยุทธศาสตร์ข้าวหรือเปล่า มาถึงวันนี้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ข้าวไทยแล้วครับ เริ่มต้นเมื่อปี 63 64 65 66 67 เป็นระยะเวลา 5 ปี ยุทธศาสตร์ข้าวไทยกำหนดเพื่อที่จะให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สามารถยืนระยะ และมีอนาคตที่สดใสระยะยาว
- หลักใหญ่ก็คือว่า เราจะลดต้นทุนการผลิตจากปัจจุบันไร่ละ 6,000 ให้เหลือไร่ละ 3,000 ให้ได้ ภายใน 5 ปี อันนี้เป้าหมายกำหนดไว้ชัด
- ต้นทุนการผลิต Productivity หรือผลผลิต ปัจจุบันนี้ ข้าวเฉลี่ย ไร่นึง 465 กิโล ภายใน 5 ปี ต้องทำให้ได้ 600 กิโล
- ปัญหาใหญ่ของข้าวไทยระยะยาววันนี้ก็คือว่า เราขาดพันธุ์ข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ทำให้เราไปแข่งในตลาดโลกไม่ได้ สู้เวียดนามสู้หลายประเทศไม่ได้ เพราะพันธุ์ข้าวเขามีความหลากหลาย พัฒนาไปเร็วมาก เราจึงกำหนดว่า 5 ปี ต่อไปนี้ เราจะต้องเพิ่มพันธุ์ข้าวอย่างน้อย 12 พันธุ์ 1. ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ 2. ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ 3. ข้าวหอม 2 พันธุ์ 4. ข้าวโภชนาการสูง ที่เป็นตลาดคนรุ่นใหม่เขาต้องการ อีก 2 พันธุ์ แล้วก็เราเริ่มดำเนินการแล้ว ไม่กี่วันมานี้ถ้าท่านดูข่าว คงเห็นผมเดินทางไปชัยนาท อันนั้นไปตรวจแปลงข้าวที่เขาประกวดกัน 40 กว่าราย เพื่อคัดพันธุ์ที่มีคุณภาพที่จะขึ้นทะเบียน เพื่อป้อนตลาดโลกต่อไปในอนาคต และคาดว่าอาจจะได้ 3 พันธุ์ จาก 12 พันธุ์ ในการประกวดครั้งนี้ ภาพก็ปรากฎอยู่ ที่ผมเพิ่งไปมานี้ อันนี้คือการสร้างอนาคตระยะยาวที่จะทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก มีความหลากหลายมากขึ้น และนี่คือยุทธศาสตร์ข้าว ที่ถามว่า แล้วการลดต้นทุนอยู่ไหน เพิ่มผลผลิตอยู่ไหน การสร้างพันธุ์ข้าวใหม่ๆ อยู่ที่ไหน อยู่ตรงนี้ไงครับ และต่อไปเป็นหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติที่เขาต้องปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นผมถึงกราบเรียนว่า นอกจากเราทำประกันรายได้ ให้หลักประกันเรื่องรายได้ระยะปัจจุบัน ให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้แล้ว เราก็ยังมีมาตรการระยะยาวที่มีภาพของภาคปฏิบัติ และเป้าหมายที่มีความชัดเจน
ส่วนผมกับรัฐมนตรีคลัง ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกันหรอกครับ เราทำงานอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน นโยบายประกันรายได้ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด ผมเรียนตรงนี้ เป็นนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ครับ แต่เป็นนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ที่ใช่ว่าอยู่ ๆ เราก็จะเอามาทำงานในรัฐบาลได้ ประชาธิปัตย์ก่อนร่วมรัฐบาลนี้พูดชัดครับว่า ถ้ารัฐบาลจะให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วม ขอให้นำนโยบายประกันรายได้ของประชาธิปัตย์ เป็นนโยบายรัฐบาล สุดท้ายเจรจากับพรรคแกนนำ แล้วท่านก็ยอมรับให้เป็นนโยบายรัฐบาล เพราะฉะนั้นวันนี้มันกลายเป็นนโยบายรัฐบาล เพราะฉะนั้นท่านจะบอกว่ารัฐมนตรีคลังจะไม่ทำ รัฐมนตรีโน้น นี่จะไม่ทำ รัฐบาลนั้นจะทำหรือไม่ทำ ขออภัยนะครับ ถ้าเกินเลยไป ท่านไม่ต้องกังวลมันเป็นนโยบายรัฐบาลแล้วครับ ทุกท่านมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และต้องผลักดันนโยบายรัฐบาล
ส่วนท่านบอกว่าจะเป็นภาระงบประมาณไม่มีวันจบสิ้น มีโครงการไหนครับ ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ มันก็เป็นภาระงบประมาณทั้งนั้น แต่เป็นภาระงบประมาณแล้วเป็นประโยชน์กับเกษตรกร และเป็นประโยชน์กับชาวนาหรือเปล่า หายหกตกหล่นหรือเปล่า อยู่ตรงนั้น และผมยืนยันว่า ไม่มีหายหกตกหล่น เพราะมันโอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง เพราะฉะนั้นท่านก็ไม่ต้องกังวลตรงนี้ครับ
วันที่ 26 นี้ ผมก็จะไปงานเลี้ยง แล้วก็ไม่ได้ไปกินข้าวเพื่อเยาะเย้ยชาวนา แต่เป็นเรื่องที่จะไปพบปะกัน นอกจากการพบกันในสภา เพื่อให้เราทำหน้าที่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้มากขึ้น นอกจากการพบกันในสภาเพียงอย่างเดียว อันนี้ก็ขออนุญาตที่จะกราบเรียนครับ
- การตอบเพิ่มเติม
ท่านประธานที่เคารพ ผมขอตอบเร็วๆ นะครับ เพราะเห็นใจเรื่องเวลา เรื่องที่ 1 ท่านถามเรื่องปุ๋ย ผมขอตอบนิดแล้วกันครับ ปุ๋ยที่กระทรวงพาณิชย์ทำนี้ หลักใหญ่ไม่ได้ไปใช้งบประมาณ แต่ขอความร่วมมือกับผู้นำเข้า 19 ราย แล้วก็มาจัดโครงการปุ๋ยราคาถูก ร่วมกับกระทรวงเกษตร พาณิชย์ แล้วก็ผู้นำเข้าปุ๋ย ปรากฎว่าเราจัดปุ๋ยได้ 4 ล้าน 5 แสนกระสอบ แล้วก็ขายถูกกว่าท้องตลาด 20-50 บาท ต่อกระสอบ โดยมีสูตรปุ๋ยทั้งหมด 84 สูตร ที่เกษตรกรจำเป็นต้องใช้ แล้วก็วิธีการสั่งซื้อ ให้สั่งซื้อในรูปสหกรณ์ กลุ่มสหกรณ์ หรือรวมกลุ่มกันซื้อ ซื้อรายบุคคลไม่ได้ เพราะอันนั้นเป็นไปตามท้องตลาด แต่อันนี้โครงการพิเศษ
วิธีสั่งซื้อ ให้สั่งซื้อจากสหกรณ์จังหวัด สหกรณ์อำเภอ หรือเกษตรจังหวัด เกษตรกรอำเภอ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่ง 4 ล้าน 5 แสนกระสอบนี้ ขณะนี้ขายไปแล้ว 2 ล้าน 3 แสนกระสอบ ยังเหลืออีก 2 ล้าน 2 แสนกระสอบ เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่สนใจ รวมกลุ่มกัน กรุณาประสานงานผ่าน 3 หน่วยงานที่ผมกราบเรียน มันจะเป็นประโยชน์กับท่านมาก
อันที่ 2 ท่านถามผมว่า แล้วทำไมไม่ของบมาช่วยเพิ่มเติม ก็กำลังดำเนินการที่จะของบเพิ่มเติม ในการที่จะมาช่วยเสริมโครงการปุ๋ยราคาถูก โดยจะให้กระทรวงเกษตรเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของการลดต้นทุนเกษตรกรต่อไป มีวงเงินอยู่แล้ว ประมาณ 500-900 ล้านบาท โดยประมาณ อันนี้ก็คือสิ่งที่ขอกราบเรียน
อันที่ 3 ก็คือในเรื่องคำถามมาตรการช่วยระยะยาว ผมเรียนว่า ยุทธศาสตร์ข้าวไทย นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เรามี ที่เป็นทางการ แล้วเราต้องเดินหน้าไปตามนั้น เป็นหน้าที่ภาคปฏิบัติที่ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย ถ้าได้ตามเป้าหมายทุกอย่างมันมีคำตอบของมัน 1. ต้นทุนเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาลดลง 2. ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น 3. ท่านจะมีข้าวพันธุ์ที่ตรงกับความต้องการตลาด โดยเฉพาะตลาดโลกเดี๋ยวนี้เขาต้องการข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม ประเทศไทยผลิตข้าวพันธุ์พื้นแข็งเสียเยอะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้พันธุ์พื้นนุ่มจะมากขึ้น เข้าไปแข่งกับประเทศคู่แข่งได้มากขึ้น อันนี้ก็คือภาพรวม
และที่สำคัญ ตั้งแต่ผมเข้ามาดูแลกระทรวงพาณิชย์ กับกระทรวงเกษตร โดยท่านรัฐมนตรี เฉลิมชัย ศรีอ่อน เรามีโครงการทำร่วมกันภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ยุทธศาสตร์ตลาด นำการผลิต” อันนี้ข้าวก็จะเป็นไปตามนั้น คือเกษตรเน้นเรื่องการผลิตข้าวคุณภาพ กระทรวงพาณิชย์ทำตลาด มาถึงวันนี้เราทำตลาดขายข้าวได้เกือบแสนล้านแล้วครับ เฉพาะ 9 เดือนนี้ เพราะฉะนั้นอันนี้คือเงินนำเข้าประเทศ ที่จะมาทำโครงการต่างๆ ย้อนกลับไปช่วยชาวนารวมทั้งประกันรายได้เกษตรกรที่ท่านวิจารณ์อยู่ตะกี้ด้วย
อันนี้ก็คือภาพรวมที่ขออนุญาตเรียน มันคล้ายกับ MITI กระทรวงของญี่ปุ่น ที่ประเทศเขาเป็นประเทศอุตสาหกรรม เขาเอากระทรวงอุตสาหกรรมมาบวกกับกระทรวงตลาด กระทรวงพาณิชย์ แล้วเป็น MITI ของเราก็เอากระทรวงเกษตร เพราะพื้นฐานประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เอามาบวกกับตลาด คือพาณิชย์ ก็คือเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด อันนี้ไม่ใช่อยู่ก็อยากทำอะไรก็ตาม แต่ว่ามันเป็นการคิดเชิงยุทธศาสตร์ เชิงนโยบาย เพื่อช่วยเกษตรกรระยะยาวต่อไป อันนี้ก็ขออนุญาตตอบ
สุดท้ายนะครับ ท่านประธานนะครับ ขออนุญาตเรียนแต่เพียงว่า ท่านพูดไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญ บอกว่า วันนี้ไม่มีใครเชื่อแล้วว่า ประชาธิปัตย์ ผมเติมให้ก็แล้วกัน ท่านไม่ได้พูดถึงประชาธิปัตย์ แต่พูดถึงผม ผมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มันก็คงหมายถึงผมนั่นแหละครับ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครเชื่อแล้ว เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ผมขออนุญาตเรียนนะครับ
ก่อนร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ มีเงื่อนไข 3 ข้อ 1. ประกันรายได้ ถ้าจะให้ร่วมต้องเป็นนโยบายรัฐบาล 2. ต้องบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และ 3. ต้องแก้รัฐธรรมนูญ และบัดนี้ รัฐบาลรับเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่การแก้รัฐธรรมนูญของประชาธิปัตย์ มีหลักเกณฑ์ และมีหลักการ ไม่ใช่สักแต่ว่าแก้ แก้ทุกเรื่อง แก้ตั้งแต่มาตรา 1 ไปจนถึงมาตราสุดท้ายไม่ใช่ ก็ขออนุญาตที่จะกราบเรียนว่า ที่ผ่านมาเราเสนอไป 7 ร่าง แต่สภาผ่านให้ร่างเดียว และกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ ขณะนี้ทูลเกล้าฯ แล้ว แต่ว่าที่สำคัญก็คือหลักประชาธิปัตย์ขอเดินหน้าแก้ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และไม่แก้มาตรา 112 ครับ อันนี้หลักที่ชัดเจน ขอบพระคุณครับท่านประธาน
////