
10 ก.ย.2564 เวลา 12.15 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภายหลังประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่บริเวณชั้น 1 อาคารรัฐสภา (วาระลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3)
ซึ่งได้กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านที่ประชุมรัฐสภาไปเมื่อสักครู่ ซึ่งต้องขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกฝ่ายทั้งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา ที่ได้ให้ความร่วมมือในการทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบไปได้ด้วยดี ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็สะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะแก้ยาก แต่ก็สามารถแก้ได้ ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมมั่นใจว่าจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตยในอนาคตมากขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนอยากเห็น
โดยเนื้อหาสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ประเด็นที่ 1 ก็คือเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ 2. ปรับจำนวนผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนราษฎรแบบเขตเลือกตั้ง 400 เขต หรือ 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน และประเด็นที่ 3 ก็คือในเรื่องการคำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อซึ่งมีอยู่ 100 คนนั้น ก็ให้นับคะแนนบัตรใบที่สองที่ลงคะแนนเลือกพรรค แล้วนำมาเทียบสัดส่วนกับผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน 100 คน ถ้าพรรคการเมืองไหนได้คะแนนพรรค 100% ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คนไปเลย แต่ถ้าพรรคไหนได้คะแนนพรรค 60% ก็จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 60 คน เป็นต้น ซึ่งเป็นหลัก 3 ข้อ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ขั้นตอนต่อไปนับจากนี้ก็คือจะต้องรอไว้ 15 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งระหว่าง 15 วันนี้ถ้ามีสมาชิกรัฐสภาสงสัยในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแก้ไขเที่ยวนี้ ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่รับเรื่อง ถ้าทุกอย่างผ่านตามขั้นตอนกระบวนการจนกระทั่งทรงลงพระปรมาภิไธย และถือว่าผ่านกระบวนการเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญทุกประการแล้ว ขั้นต่อไปก็คือจะต้องมีการยกร่างกฎหมายลูก หรือพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขต่อไป
ซึ่งเนื้อหาในนั้นคงประกอบด้วยวิธีการสมัครรับเลือกตั้ง การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การนับคะแนน การประกาศผล รวมไปจนกระทั่งถึงการที่จะต้องกำหนดมาตรการที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมต่อไปด้วย ซึ่งจะเป็นเนื้อหาหลักๆ สำหรับกฎหมายลูกที่จะต้องดำเนินการต่อไป
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องของกฎหมายลูกต่อไป และขณะเดียวกันก็จะมอบให้วิปของพรรค หารือร่วมกับวิปสามฝ่าย ทั้งในส่วนของวิปพรรคร่วมรัฐบาล วิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา เพื่อที่จะร่วมมือร่วมใจกันในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือกฎหมายลูกให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป
ซึ่งในการแถลงข่าวดังกล่าวมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมอยู่ด้วย
หลังจากนั้นนายจุรินทร์ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนต่อการตั้งคณะทำงานร่าง กม.ลูก ว่า หากมีรายละเอียดอะไรที่ต้องอยู่ในกฎหมายลูก ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่จะไปยกร่าง หรือผู้ที่จะเสนอกฎหมายลูก ซึ่งสามารถทำได้ 2 ทาง ทางที่ 1 คือสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เสนอ ทางที่ 2 องค์กรอิสระ เสนอผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งประชาธิปัตย์จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป
ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการ ตนก็ไม่มีข้อกังวลอะไร แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะมีการยื่นหรือไม่ พร้อมกับย้ำว่าในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เราไม่ได้ดูที่ผลประโยชน์ส่วนตัวของพรรค แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเที่ยวนี้ ดูที่หลักการว่าเราจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตยระยะยาวได้หรือไม่ ที่ต้องพูดถึงการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เพราะพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยในทุกระบบ ถ้าพรรคการเมืองไม่ว่าในระบบประชาธิปไตยรูปแบบไหนอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ประชาธิปไตยประเทศนั้นก็เดินไปไม่ได้ หรือว่ายังประโยชน์สูงสุดให้เกิดกับประชาชนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการสร้างระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการสร้างประชาธิปไตยโดยรวม ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ความจริงแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถือเป็นนโยบายข้อหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งวันนี้ถือว่าเราก็ได้ก้าวไปสู่ผลสัมฤทธิ์ระดับหนึ่ง แต่ทั้งหมดก็ไม่ขอยกความดีให้พรรคแต่เพียงเท่านั้น แต่คิดว่าทั้งหมดถือว่าเป็นผลงานร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่เฉพาะประชาธิปัตย์ แต่ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย และของพรรคฝ่ายค้านด้วย รวมทั้งวุฒิสภาด้วย ถือว่าเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยในอนาคตเดินหน้าต่อไปได้ แม้จะเป็นแค่เพียงฉบับเดียว แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเราได้นับหนึ่งร่วมกัน เป็นผลงานร่วมกันของทุกคน ทุกฝ่าย
“ไม่ว่าระบบไหน ก็ต้องมีคนได้เปรียบ เสียเปรียบ ไม่ว่าระบบเลือกตั้งแบบไหน ก็ต้องมีพรรคการเมืองได้เปรียบเสียเปรียบ ถ้าเราไปมองตรงนั้น ไม่มีทางจะหาข้อยุติได้ แต่ว่าเราต้องมองหลักการอย่างที่ผมเรียน เรามองว่าเราแก้เพื่อทำให้ระบบพรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตยในอนาคตเข้มแข็ง อันนี้คือเป้าหมายสำคัญ และการแก้ไขเที่ยวนี้ถือว่าจะมีส่วนหนึ่งในการที่จะทำให้เราสามารถเดินหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางนั้นได้ เราจึงแก้ ส่วนผลการเลือกตั้งในอนาคตจะออกมาเป็นอย่างไร อันนั้นอยู่ที่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งแบบไหน ก็อยู่ที่มือประชาชน ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
พร้อมกับกล่าวย้ำว่า หลักการของการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นไปเพื่อทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ซึ่งเราก็ต้องดูที่หลักการ แต่ที่เกิดปัญหาในบางช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ในเรื่องของการบิดเบือนการใช้อำนาจ อาศัยรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้คือประเด็นต่างหากที่สร้างปัญหาในอดีต
“ตนไม่สามารถตอบได้ ระบบไหนถ้าหากว่ามีการใช้อำนาจโดยมิชอบ มันก็เกิดปัญหาด้วยกันได้ทั้งนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญให้ประเทศถ้าไปมองตัวบุคคลเป็นตัวตั้งมันไปต่อไม่ได้ นับหนึ่งก็ผิดแล้ว เราทำให้ประเทศ เราไม่ได้ทำให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือเขียนรัฐธรรมนูญมาเพื่อที่จะกีดกันใครคนใดคนหนึ่ง เราเขียนให้ประเทศ ให้ประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ ของประชาธิปไตยของประเทศ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
ส่วนที่ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องวุฒิสภานั้น หัวหน้าพรรคกล่าวว่า สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนในเรื่องวุฒิสภาชัดเจน ประชาธิปัตย์เห็นด้วยที่จะให้มีระบบสองสภา และมีทั้งสภาผู้แทนราษฎร และมีวุฒิสภา แต่ว่าวุฒิสภาควรมีบทบาทอำนาจจำกัด เพราะถ้าเป็นวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เหมือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ควรมีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน สำหรับวุฒิสภาที่มาจากระบบอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็ควรมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในการกลั่นกรองกฎหมายเป็นด้านหลัก แต่ไม่ควรมีอำนาจนอกเหนือไปซ้ำซ้อนหรือกระทั่งซ้ำกับอำนาจของผู้แทนราษฎร เช่นในการเลือกรัฐบาล หรือเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นจุดยืนที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งพรรคก็มีการดำเนินการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเช่นเดียวกัน แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา