ชินวรณ์ เชื่อ การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะเป็นบันไดที่ทำให้ได้ระบบการเลือกตั้งที่ดี นำไปสู่การได้รัฐบาลที่ดี การเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลที่ดีจะนำพาประเทศและประชาชนไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ

24 มิ.ย. 64 นายชินวรณ์ บุญเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสรุปในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยกล่าวขอบคุณสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคชาติไทยพัฒนาจำนวน 115 ท่านที่ได้ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม พร้อมกับสรุปภาพที่ชัดเจนว่าการที่พวกเราสมาชิกสภาได้ร่วมกันพิจารณาในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะต่างคนต่างทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภา เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเพราะฉะนั้นก็จะไม่อ้อนวอน และไม่เรียกร้องให้ช่วยกันลงมติ แต่คิดว่าจากการที่พวกเราได้ศึกษาเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญและได้ร่วมกันเสนอร่างขอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่เพื่อนสมาชิกในรัฐสภาแห่งนี้ได้ติดตาม และได้ศึกษามาตามลำดับ

ในเรื่องของการเสนอขอแก้ไขร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้เห็นความสำคัญว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้มาระยะหนึ่งแล้วก็พบปัญหาหลายเรื่องที่เกิดขึ้นจากความไม่มีดุลยภาพของกฎหมายรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ แม้แต่มีหลายกลุ่มอยากจะเรียกร้องว่าไม่ให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือบางกลุ่มบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแก้โกง แต่ก็พบความเป็นจริงว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 นั้น เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ยังมีปัญหาและมีช่องว่างทั้งในเชิงโครงสร้างและในเชิงกฎหมายหลายประเด็น และเราเชื่อว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง

กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ถ้าหากไม่สามารถที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกันได้และไม่สามารถที่จะทำให้การเมืองมีดุลยภาพ ในที่สุดเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์จึงได้เสนอเรื่องนี้เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ 3 ประการ 

ประการแรก แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อที่จะให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น 

ประการที่สอง เราเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพของพี่น้องประชาชน หากลองลงไปดูในรายละเอียดจริงๆก็จะพบว่าในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 อ่อนลงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 และปี 2540 และแน่นอนที่สุดสิ่งที่เราเห็นและพบว่า มีเสียงเรียกร้องกันมากขึ้นก็คือว่า จะทำอย่างไรให้การเมืองนั้นมีการตรวจสอบโปร่งใสและเป็นธรรมาภิบาล ดังนั้นเราก็ต้องมีจุดเริ่มต้นในการที่จะแก้ไขได้สนองตอบต่อการเมืองในโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 

7 ปีของรัฐบาลปัจจุบัน อาจจะมีหลายคนคิดว่าไม่นาน แต่ว่าบริบทของเศรษฐกิจ สังคม การเมืองนั้น ส่วนตัวคิดว่าเปลี่ยนแปลงไปมาก จนนำมาสู่การที่พวกตนได้เสนอต่อสภาแห่งนี้ให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และทั้งหมดนี้คือความมั่นใจที่ตนบอกว่าสมาชิกรัฐสภาแห่งนี้มีความเข้าใจในเรื่องการเสนอขอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพราะเราได้ร่วมกันในการเป็นคณะกรรมาธิการในการศึกษาเพื่อแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

และต่อมาเมื่อเราได้มีการเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในครั้งที่แล้ว ในท้ายที่สุดในรัฐสภาแห่งนี้ ก็นำไปสู่การขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ การที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก็เพราะว่ามีกระแส หลายภาคส่วนระบุว่ายังไม่มีความเข้าใจ ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญส่งมาช้า หรือควรที่จะได้มีการศึกษาให้เกิดรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งตนยืนยันว่าไม่มีความจำเป็น

วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ วันที่ 24 มิถุนายน เราผ่านมา 89 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นวันที่พวกเราทั้งหลายต้องร่วมกันตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ว่าเราจะนำไปสู่กระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่

ในร่างที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์นั้นถ้าเราจะแบ่งเป็นองค์ประกอบแล้วก็มี 2 ส่วนที่สำคัญเท่านั้น 

ส่วนแรกก็คือเป็นส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่ง 3 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนโดยตรง เช่นการแก้ไขมาตรา 29 ได้เพิ่มเติมสิทธิ์ของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมกำหนดให้ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้  

ยกเลิกการควบคุมคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยในการกระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนีตามมาตรา 29 เดิม สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าเป็นหลักเบื้องต้น แต่เห็นว่ามีความจำเป็นในฐานะที่เราเป็นนักการเมือง และเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ สิ่งที่เราสามารถดำเนินการให้กับประชาชนได้ อย่างที่ท่านประธานเคยกล่าวไว้ว่าเราไม่สามารถที่จะทำให้ประชาชนรวยเท่ากันได้แต่เราสามารถที่จะทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมเท่ากันได้คือสิ่งสำคัญที่ตนคิดว่าถ้าเรามีความเข้าใจในเรื่องของการยึดหลักความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน แท้แต่จุดเริ่มต้นในกระบวนการยุติธรรมก็ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หรือจะเป็นเรื่องการเพิ่มเติมสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการจัดการบำรุงรักษาและประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มสิทธิ์บุคคลในการได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การดำเนินการโครงการกิจกรรมอันส่งผลกระทบต่อชุมชน 

ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถ้าคนที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นเจ้าของทรัพยากรในชุมชนนั้นๆ ก็ควรจะได้รับประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นอย่างไร ดังนั้นจึงเห็นว่าเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญควรจะได้มีบทบัญญัติที่กำหนดเอาไว้หรือในเรื่องของการกระจายอำนาจ การถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในการที่จะใช้ที่ดินในการประกอบอาชีพ หรือการจัดหาแหล่งน้ำอย่างเพียงพอ นี่คือตัวอย่างอย่างชัดเจนในการขอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่พวกเราได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างชัดเจน และหวังว่าวันนี้จะเป็นวันที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

สำหรับเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมที่จะให้ประธานรัฐสภาส่งคำร้องที่กล่าวหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระที่เป็นผู้เป็นกลางทางการเมืองซึ่งเดิมกำหนดให้เป็นดุลพินิจของประธานรัฐสภา ให้ความเห็นเป็นเหตุสมควรสงสัยจึงจะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา ซึ่งในวันนี้เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นอย่างมากมาย และแน่นอนที่สุด มีร่างของพรรคพลังประชารัฐ ที่ได้มีการพูดถึงมาตรา 144 และมาตรา 185 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนสมาชิกวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการ ดูเปรียบประหนึ่งเหมือนว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ มีส่วนในการทุจริตคอรัปชั่น อย่างมโหฬาร

ส่วนตัวไม่ปฏิเสธและไม่เห็นด้วยที่จะไปแก้ไขให้ความเข้มข้นในเรื่องนี้อ่อนลงมาเพราะคิดว่าเราก็พบความเป็นจริงว่าในการพิจารณางบประมาณในหลายส่วนก็พบว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นจริงๆ แต่คิดว่าการทุจริตคอรัปชั่นที่ทำให้เกิดความสูญเสียกับประเทศชาติบ้านเมืองมากที่สุดก็คือว่าความทุจริตคอรัปชั่นจากผู้มีอำนาจที่ใดมีอำนาจที่นั้นย่อมมีการฉ้อฉล ที่ใดที่มีอำนาจเหลือล้นการฉ้อฉลก็มากเหลือประมาณ

ในส่วนประเด็นที่ 2 ที่จะยกตัวอย่างมาเป็นองค์ประกอบ ก็คือในเรื่องของการที่เราเห็นว่าวันนี้เรามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการที่จะต้องสร้างระบบในเรื่องของอำนาจรัฐ ไม่ว่าระบบการเลือกตั้งก็ดีระบบการเลือกนายกรัฐมนตรีก็ดี ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สมาชิกในรัฐสภาแห่งนี้พูดกันมาโดยตลอดว่าในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านที่ผ่านมาท่านนายกรัฐมนตรีของเราได้รับการเลือกตั้งจากรัฐสภาแห่งนี้ แต่ว่าก็มีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาสนับสนุนท่าน 250 เสียง ส่วนตัวที่ผ่านมาได้ยืนยันในหลักการนี้ตลอดเวลาว่าตรงนี้คือระบบที่มาที่ถูกกล่าวหาในเรื่องของการสืบทอดอำนาจและถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนตัวไม่ได้รังเกียจสมาชิกวุฒิสภา ได้ทำหน้าที่ที่สำคัญตามบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และไม่ได้รังเกียจที่ได้เคยทำหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่เมื่อสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนตัวก็คิดว่าพวกท่านควรจะมีอำนาจจำกัดในการที่จะกลั่นกรองกฎหมาย ในการที่จะตรวจสอบอำนาจรัฐในด้านอื่นๆ

วันนี้บริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปนายกรัฐมนตรีก็มาจากการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีก็มาจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนท่านนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นส่วนตัวคิดว่าจะมีความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง ถ้าสมาชิกวุฒิสภาจะได้ยอมรับความเป็นจริงว่า ถ้าท่านได้ร่วมมือกันในการตัดสิทธิ์ไม่ให้ สว.เลือกนายกมนตรี ข้อกล่าวหาในเรื่องการสืบทอดอำนาจก็จะหมดไป 

และที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ตนเข้าใจว่าเราก็จะต้องยอมรับว่าในยุคบทเฉพาะกาลนั้น ท่านก็ยังเหลือเวลาอีกประมาณอีก 2ปี เพราะวันนี้ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่มีการขอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในท้ายที่สุดก็จะทำให้คนมองว่า ท่านก็ยึดอำนาจแล้วก็ ไม่ยอมแก้ไข ก็เพื่อตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่วนตัวตนก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น 

และประการสุดท้าย คือ ในเรื่องของระบบการเลือกตั้ง เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่านายกรัฐมนตรีก็ถูกเรียกร้องให้ลาออก ให้ยุบสภา และตนเป็นคนหนึ่งที่ได้บอกกับนายกรัฐมนตรีในสภาหลายโอกาสว่าท่านมีหน้าที่ ที่จะต้องแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ต้องประคับประคองบ้านเมืองให้เดินไปข้างหน้าให้ได้ ไม่ควรที่จะลาออกหรือยุบสภา  ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้มีความประสงค์ว่าตนจะต้องมีหน้าที่ในการประคับประคองนายกรัฐมนตรี แต่มีความประสงค์ที่สำคัญว่าเราจะต้องดำเนินการในการที่จะต้องถอดสลักในการแก้ไขกฎหมายธรรมนูญ เพื่อที่จะให้ระบบการเลือกตั้งและระบบนายกรัฐมนตรีนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปจากระบบเดิม ถ้าเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ถ้าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นายกรัฐมนตรียุบสภาหรือนายกรัฐมนตรี ลาออก ในท้ายที่สุดการเมืองก็กลับไปสู่จุดเดิม กลับไปสู่วังวนเดิม และปัญหาความขัดแย้งก็จะมีมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

ดังนั้นในฐานะที่พวกตนมาจากการเลือกตั้ง  เป็นนักประชาธิปไตย เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ถ้าเราจะเข้ามาสู่วงจรของการมีอำนาจเราต้องยอมรับว่าเราจะต้องมาจากการเลือกตั้ง บางยุคบางสมัยก็มีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเห็นว่าควรที่จะได้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในระบบเกี่ยวกับการเลือกตั้งและระบบการเลือกนายกรัฐมนตรี 

นายชินวรณ์ยังกล่าวอีกว่า รายละเอียดของร่างที่มีการขอเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับเป็นรายละเอียดที่ดีและเป็นการแก้ไขตามวัตถุประสงค์ซึ่งดีกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 อย่างแน่นอน โดยเชื่อว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญจะถอดสลักทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าถ้าเมื่อไหร่การเมืองมีเสถียรภาพ การเมืองมีดุลยภาพ เราก็จะได้ผู้แทนที่ดี และเมื่อไหร่เราได้ผู้แทนที่ดี ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งที่สุจริตยุติธรรม ซึ่งการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมืองให้อนุวัติเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อไป