จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เสนอทางออกประเทศ ด้วยการตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่ายขึ้นมาหาความเห็นพ้อง เพื่อให้รัฐสภาได้เป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง

คำต่อคำ

นายจุรินทร์ ลักษวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย เสนอทางออกประเทศ ด้วยการตั้งคณะกรรมการ 7 ฝ่ายขึ้นมาหาความเห็นพ้อง เพื่อให้รัฐสภาได้เป็นเวทีหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง

(26 ตุลาคม 2563 เวลา11.20 น.)

“กระผมและพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้หนึ่งและพรรคการเมืองหนึ่งที่เห็นด้วยกับการที่จะให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพเปิดประชุมรัฐสภาวิสัยวิสามัญและเห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 165 ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทั้งหมดนี้เป็นไปตามเงื่อนไขโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ และเป็นวิถีทางประชาธิปไตยอารยะที่ทุกประเทศในโลกประชาธิปไตยทำกัน ที่สำคัญก็คือเพื่อให้รัฐสภาได้เป็นเวทีในการหาทางออกให้กับประเทศ เพราะฉะนั้นการเปิดรัฐสภาเที่ยวนี้ จึงมีวัตถุประสงค์สำคัญในการที่จะหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเวทีโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้รัฐสภาได้เป็นที่พึ่ง เป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็นและเป็นเวทีในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศร่วมกันให้ได้อย่างแท้จริง และเพื่อพิสูจน์ว่าเราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาได้ เพราะการใช้เวทีอื่นอาจจะก่อเกิดความสุ่มเสี่ยง นำไปสู่การใช้ความรุนแรง หรืออาจจะนำไปสู่ทางออกนอกระบบที่สังคมประชาธิปไตยไม่ต้องการได้

กระผมเชื่อว่าสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในการประชุมตลอด 2 วันนี้คือ ประชาชนต้องการเห็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความจริงใจ และที่สำคัญต้องเป็นการอภิปรายที่ไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ และอยากเห็นรัฐสภาแห่งนี้ได้ร่วมกันเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ อันเป็นทางออกที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับได้ร่วมกันของทุกฝ่าย

ซึ่งจุดยืนของผมและจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมสังกัด คือ
ประการที่1 พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนในการยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีจุดยืนชัดเจนที่จะเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะนี่คืออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคในปี 2489 และยังยึดมั่นเสมอมาจนกระทั่งถึงวันนี้ไม่เปลี่ยนแปลง และจุดยืนนี้ คือการทำหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทยตามที่ระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญมาตรา 50(1) ซึ่งได้ระบุหน้าที่ของปวงชนชาวไทยไว้ชัดเจนว่า “บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

จุดยืนประการที่ 2 คือ พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนการใช้แนวทางสันติในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าโดยฝ่ายใด

และประการที่ 3 ก็คือว่า ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันลดเงื่อนไขที่เป็นเงื่อนปมแห่งความขัดแย้งหรือที่สังคมเรากำลังพูดเห็นคล้อยไปในทางเดียวกันว่า “ต้องช่วยกันชักฟืนออกจากกองไฟ ไม่ให้ลุกลามเพิ่มเติมต่อไปโดยไม่จำเป็น” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเร่งเปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญและการพิจารณาญัตติการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามที่รัฐบาลเสนอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ที่ต้องถือโอกาสนี้ขอบคุณรัฐบาลและทุกฝ่ายที่ได้ร่วมกันสนองตอบต่อความเห็นและข้อเสนอนี้ จนนำมาสู่การประชุมในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสวงหาทางออกที่เป็นรูปธรรมอีกประการหนึ่ง คือ”การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น” ซึ่งผมและพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนแต่ต้น เพราะอย่างน้อยที่สุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นเงื่อนไข 1 ใน 3 ข้อก่อนตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลและต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ยอมรับเงื่อนไขนี้และกรุณาบรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

“จนกระทั่งมาถึงวันนี้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลก็ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้ว โดยมีเนื้อหาสำคัญในการแก้ไขมาตรา 256 ให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน โดยต้องไม่แตะหมวด 1 กับหมวด 2” เพราะว่าทั้งสองหมวดมีความสำคัญยิ่ง หมวด 1 ก็คือหมวดที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐและรูปแบบการปกครองของประเทศที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า”ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกไม่ได้”และระบุไว้ชัดเจนว่า”ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” สำหรับหมวด 2 ที่เป็นเงื่อนไขว่าจะต้องไม่แตะต้องก็คือหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์

และในช่วงที่มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาก่อนรับหลักการนั้น พรรคประชาธิปัตย์ลงมติไม่เห็นด้วย เพราะไม่ประสงค์ที่จะให้การแก้ไขและธรรมนูญนั้นยืดเยื้อต่อไปและต้องการเห็นการแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่เสนอต่อรัฐสภาไปแล้ว

อย่างไรก็ตามถัดจากนี้ไปสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์และกระผมมีความเห็นในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือว่า ควรจะได้มีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการในทันทีที่ทำได้ และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือว่าไม่ควรจะมีเงื่อนไขใดใดเพิ่มเติม นำไปสู่การทำให้เกิดความเข้าใจจากสังคมว่าเป็นการยื้อเวลาอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำประชามติก่อนรับหลักการหรือเงื่อนไขอื่นใด เพราะในเรื่องการทำประชามตินั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้ทำประชามติหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภาวาระ 3 และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าเท่านั้น ซึ่งมีความชัดเจนในตัวของมันอยู่แล้ว ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทำประชามติเพิ่มเติมอีกก่อนรับหลักการในวาระที่ 1 และทำให้สังคมเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าต้องการยื้อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกโดยไม่จำเป็น

และเพื่อให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 เป็นไปด้วยความราบรื่น ผมขออนุญาตท่านประธานตรงนี้ เสนอขอให้วิป 3 ฝ่ายซึ่งประกอบด้วยทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ได้หาคำตอบร่วมกันว่าเราจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพิจารณาเฉพาะ 6 ร่างที่มีการบรรจุอยู่ในวาระปัจจุบันไปก่อน หรือจะรอร่างของไอลอร์ ที่เป็นร่างที่ได้ชื่อว่าเป็นของภาคประชาชน เพราะการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นมีนัยยะสำคัญ ถ้าสมมุติเราตัดสินใจพิจารณา 6 ร่างที่เราบรรจุวาระแล้วไปก่อน ก็อาจถูกกล่าวหาได้ว่ามีวัตถุประสงค์ต้องการทิ้งร่างของภาคประชาชนคือไอลอร์หรือไม่ หรือถ้าเรารอให้ร่างของไอลอร์บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเสียก่อนโดยยังไม่พิจารณา 6 ร่าง ก็จะต้องรอไปอย่างน้อยหลังวันที่ 12 พฤศจิกายน เพราะต้องรอขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งอาจจะต้องถูกครหาได้เช่นกันว่า รอเพื่อซื้อเวลาอีกหรือไม่ ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ที่วิปสามฝ่ายควรจะได้ร่วมกันหาทางออก เพื่อทำให้การแก้ไขและธรรมนูญในวาระที่ 1 -2- 3 นั้น เป็นไปด้วยความราบรื่นต่อไป

สำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติในมาตรา 165 วันนี้นั้น ผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรจะได้มีการหาข้อยุติและมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่การหาทางออกของประเทศร่วมกัน นั่นก็คือว่าประสงค์ที่จะเห็นที่ประชุมรัฐสภาได้มีการตั้ง”กรรมการ”ขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งอาจจะลงนามโดยประธานรัฐสภา เพราะในอดีตก็เคยมีตัวแบบลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2552 นั่นคือได้มีการหารือร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และผู้นำทางสังคม กระทั่งนำมาสู่ความเห็นร่วมกันว่าควรจะได้มีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง ที่มีชื่อว่าคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมอบให้ประธานรัฐสภาได้เป็นเจ้าภาพเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งกรรมการระดับชาติชุดนี้ขึ้นมา ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรต่างๆ ทำหน้าที่ในการแสวงหาแนวทางในการสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมืองให้เกิดขึ้นให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนข้อเสนอของกระผมในวันนี้ก็คือให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งโดยถือหลัก 3 ข้อ คือ

สำหรับองค์ประกอบนั้นอย่างน้อยควรจะประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสภาไม่น้อยกว่า 7 ฝ่ายประกอบด้วย 1. ผู้แทนของรัฐบาล 2. ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐบาล 3. ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน 4. วุฒิสมาชิก 5. ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 6. ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม 7. ฝ่ายอื่นๆ เช่น อาจจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรืออื่นใดที่เห็นสมควร เป็นต้น

ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ อะไรที่เห็นพ้องต้องกันได้ก็ให้ผู้ที่มีหน้าที่รับข้อสรุปที่เห็นพ้องนั้นไปดำเนินการในทันทีโดยไม่ชักช้า ซึ่งผมก็คาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันได้ ส่วนอะไรก็ตามที่ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ก็แขวนไว้ก่อน แล้วเร่งหารือร่วมกันเพื่อหาจุดร่วม ที่อาจจะยังมีประเด็นเพิ่มเติมที่เห็นตรงกันได้ต่อไป โดยเน้นรูปแบบของการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อะไรที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยได้ก็อาจจะต้องถอยคนละก้าวหรือคนละสองก้าวอย่างที่ท่านนายกได้เสนอความเห็นไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถดำรงเป้าหมายที่จะมุ่งหาคำตอบ หาทางออกให้กับประเทศด้วยความปรารถนาดีให้กับบ้านเมืองให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
และหลักข้อที่ 3 ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ซึ่งผมหวังว่าที่ประชุมนี้จะได้กรุณารับข้อเสนอของผมไปพิจารณาและไตร่ตรองอย่างรอบคอบจริงจังต่อไป เพื่อให้ข้อเสนอนี้เป็นจริงได้

โดยกระผมขอเรียกร้องให้วิปทั้งสามฝ่ายได้หารือกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้านและวิปวุฒิสภา เพราะท่านคือตัวแทนของพวกเราที่เป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งสำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้นผมได้มอบหมายให้วิปของพรรค ได้รับความเห็นนี้ไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องมาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนผลการหารือหรือรูปแบบของคณะกรรมการ จะตั้งชื่อว่าอย่างไร จะแตกต่างไปจากที่ผมเสนอเมื่อสักครู่มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ผมไม่ติดใจและก็ยินดีที่จะให้การสนับสนุน เพียงเพื่อให้เราได้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งร่วมกันแสวงหาทางออกให้กับประเทศ เพราะ”หากทำได้ ผมหวังว่าอย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองก็จะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่งแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม เพราะว่าบางเรื่อง บางประเด็น ผมทราบดีว่าอาจจะต้องใช้เวลาและต้องใช้ความจริงใจต่อกัน ที่สำคัญต้องตกผลึกร่วมกัน จึงจะสามารถนำไปสู่การได้คำตอบที่เห็นพ้องต้องกันได้ และที่สำคัญกระผมประสงค์ที่จะให้มีกรรมการชุดนี้ ก็เพื่อให้คนทั้งประเทศได้เห็นแสงสว่างแห่งความหวังรำไรถูกจุดขึ้นมาตรงปลายอุโมงค์โดยรัฐสภาของเรา เพื่อให้รัฐสภาได้เป็นความหวังและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบอบประชาธิปไตยของประเทศเราได้อย่างยั่งยืนต่อไป”