“จุรินทร์” แจงสภา เงินเฟ้อไทยอยู่ในกลุ่มต่ำสุดในโลก เตรียมเจรจานำเข้าปุ๋ยซาอุสัปดาห์หน้า

คำต่อคำ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยระบุว่า

ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขออนุญาตชี้แจงต่อคำอภิปรายของเพื่อนสมาชิก 4-5 ประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่องเงินเฟ้อ ประเด็นที่ 2 คือเรื่องของราคาปุ๋ย ประเด็นที่ 3 คือเรื่องของการส่งออก ประเด็นที่ 4 คือเรื่องของการขาดแคลนอาหารของโลก ที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านอภิปราย ประเด็นที่ 5 คือข้าว ถ้ามีเวลาผมจะพูดเรื่อง Soft Power นิดหนึ่งครับ

ประเด็นแรกเรื่องเงินเฟ้อ ความจริงเงินเฟ้อถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ เรื่องราคาสินค้ามันสูงขึ้น ซึ่งประเด็นที่เกิดขึ้นสาเหตุก็เป็นที่ทราบกันในขณะนี้ นั่นก็คือเกิดจากภาวะราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมาก และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยของเราเพียงเท่านั้น ถ้าไปดูราคาน้ำมันเดือนพฤษภาคมปีนี้ เปรียบเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน จะเห็นว่าราคาน้ำมันดูไบเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 59% คือพูดตัวเลขกลมๆ คือ 60% ทั้งหมดนี้จึงส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และการขนส่งสินค้าที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทั่วโลกแล้วก็ขณะเดียวกันก็ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วย แต่ว่าอย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทยผมขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานครับว่าก็ถือว่าตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ที่ดี ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้ประเมินตัวเอง แต่หน่วยงานที่ทำการประเมินก็คือ IMF ซึ่งปรากฏในรายงานเดือนเมษายน ปีนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว เดือนที่ผ่านมา ในรายงานเวิล์ดอิโคนามิคเอาลุกค์ ของ IMF ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่เงินเฟ้อต่ำที่สุดในโลก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า IMF กำหนดกลุ่มประเทศไว้ 5 กลุ่มทั่วโลกนั่นก็คือกลุ่มที่เงินเฟ้อสูงเกิน 50% กลุ่มที่ 2 20-50% กลุ่มที่ 3 10-20% กลุ่มที่ 4 5-10% และกลุ่มที่ 5สุดท้ายที่เงินเฟ้อต่ำคือต่ำกว่า 5% ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้ กลุ่มที่เงินเฟ้อสูงๆ เช่น เวเนซุเอลา เฟ้อ 500% แปลว่าของแพงขึ้น 500% ตุรกี 60.5 อาร์เจนตินา 51.7 อิหร่าน 32.3 รัสเซีย 21.3 ศรีลังกา 17.6 เมียนม่า 14.1 ปากีสถาน 11.2 ฮังการี 10.3 แล้วก็สหรัฐเมริกา 7.7 อียิปต์ 7.5 อังกฤษ 7.4 ลาว 6.2 อินเดีย 6 .1 เหล่านี้เป็นต้น

แต่สำหรับประเทศไทย IMF คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อปีนี้ของไทยจะอยู่อัตราเฉลี่ยประมาณ 3.5% อันนี้ก็คือสิ่งที่องค์กรการเงินระดับโลกเขาประเมิน เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ถือว่าสำหรับประเทศไทยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ดีแล้วก็ได้มีการจัดลำดับเรียงตั้งแต่เงินเฟ้อสูงที่สุดของประเทศ 1, 2, 3, 4, 5 มีทั้งหมด 192 ประเทศทั่วโลกปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ลำดับ 163 แปลว่ามี 162 ประเทศที่เงินเฟ้อสูงกว่าเราในโลกเมื่อเทียบ 192 ประเทศอันนี้ก็คือภาพที่ขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธาน อย่างไรก็ได้ก็ตามถ้ามาดูตัวเลขข้อเท็จจริงสำหรับในประเทศไทยที่มีการติดตามตัวเลข พบว่ามกราคม 65 เราเฟ้อ 3.2 กุมภาเฟ้อ 5.28 มีนาคม 5.73 เมษายน 4.65 และเฉลี่ย 4 เดือน 4.71 ก็ไม่เกิน 5% โดยภาพรวมในตัวเลขเฉลี่ยนก็เป็นไปตามที่ IMF ได้คาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้มันก็มาสะท้อนปรากฏการณ์ที่เป็นจริงนั่นก็คือว่าเมื่อมาดูรายการสินค้าต่างๆแล้วพบว่าสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภค บริโภค มันก็มีทั้ง 3 กลุ่ม นั่นคือกลุ่มที่ราคาสูงขึ้น 2 กลุ่มราคาทรงตัวแล้ว 3 กลุ่มที่ราคาลดลงอันนี้ก็คือสิ่งที่ขออนุญาตที่จะกราบเรียนต่อท่านประธานครับ กลุ่มที่ราคาคงเดิมที่สามารถตรึงไว้ได้ก็คือสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค 18 หมวด น้ำอัดลมที่มีข่าวว่าจะขึ้นราคายังไม่มีการอนุญาตให้ขึ้นราคายังขายราคาเดิมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีข่าวบอกว่าจะขึ้น 10 ตังค์ 20 สตางค์ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นราคา แต่เขามีการปรับระบบการบริหารจัดการภายในของเขา เรื่องราคาแต่ละทอดจากโรงงานไปถึงผู้ขายส่งไปจนถึง Outlet ห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่ราคาขายปลีกยังซองละ 6 บาทคงเดิม

นอกจากนั้นค่าขนส่ง platform ต่างๆที่มีการสั่งซื้อระบบ delivery อันนั้นค่าขนส่งยังไม่มีการปรับขึ้น แต่ก็มีหลายตัวที่ราคาปรับลดลงเช่น ATK ลบ 30% คือราคาปรับลดลง ข้าวสารถุงลดลง 7% เครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้าไปตามห้างสรรพสินค้าขณะนี้จะเห็นว่ามีการจัดโปรโมชั่นลดราคาเยอะตั้งแต่ 10-70% ก็มีอันนี้คือข้อเท็จจริงนอกจากนั้นชุดนักเรียนเครื่องแต่งกายนักเรียนรองเท้า กระเป๋า ก็ปรับลดราคาลงมาหลายรายการที่เดียว ในโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน และแม้แต่โครงการนี้ที่จัดรถโมบายเอาไปจัดสินค้าราคาถูกกระจายอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมลฑล กับบางจังหวัดที่เหมาะสม ราคาสินค้าก็ขายในราคาถูก ราคาพิเศษ รวมทั้งปัจจุบันยังมีการจัดพาณิชย์ลดราคาสี่มุมเมืองในกรุงเทพมหานคราอยู่จนถึงวันนี้

ยาเวชภัณฑ์ ตัวเลขเฉลี่ยทั้งหมดจากการตรวจสอบจริงทางสถิติราคาก็เฉลี่ยลดลง 30% แต่ว่าก็มีหลายตัวที่ราคาปรับสูงขึ้นเช่นเดียวกันอันนี้เป็นข้อเท็จจริงนะครับ นั่นก็คือน้ำมันปาล์มขวด อันนี้ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะเหตุว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดสูงขึ้นจริง สูงขึ้นเพราะว่ากระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดบริโภคนั้นมีกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ส่วน 1. เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 2. ผู้ประกอบการ เช่นโรงสกัดโรงกลั่นน้ำมันปาล์มขวด หรือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวด 3. กลุ่มผู้บริโภคทั้ง 3 กลุ่มนี้ต้องยอมรับความจริงว่า ผลประโยชน์ขัดกันกลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกปาล์มก็อยากให้ปาล์มราคาดีที่สุด สูงที่สุด ผู้ประกอบการผลิตน้ำมันปาล์มขวดบริโภค ก็อยากให้ต้นทุนน้ำมันปาล์มถูกที่สุด ไม่เช่นนั้นก็ต้องไปขึ้นราคา ถ้าไม่ให้ขึ้นราคาก็ไม่คุ้มที่จะผลิต สุดท้ายจะมีปัญหาใหม่ตามมา นอกจากปัญหาราคาก็มีปัญหาเรื่องปริมาณ จะทำให้น้ำมันปาล์มขวดขาดแคลนเพราะผลิตแล้วขาดทุนหรือไม่มีผลกำไร แล้วเราก็ต้องมาแก้ปัญหาข้อ 2 แทนที่จะมีข้อ 1 ข้อเดียว และกลุ่มที่ 3 ผู้บริโภค ผู้บริโภคสิ่งที่อยากได้ก็คือทำอย่างไร ซื้อน้ำมันปาล์มขวดบริโภคต่ำสุด แต่ถ้าต่ำสุด ราคาผลปาล์มก็ต้องต่ำลงไปด้วย กระทรวงพาณิชย์จะทำอย่างไร

สิ่งที่ผมทำก็คือใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบ วิน-วินโมเดล อย่างที่ผมเคยประกาศไป วิน-วินโมเดล ก็แปลว่าโมเดลการแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจะต้องเสียผลประโยชน์เกินสมควร แต่ให้ทั้ง 3 ฝ่ายอยู่ด้วยกันได้ 1. ทำอย่างไรผลปาล์มก็ยังราคายังดีอยู่ วันนี้ กก.ละ 10-12 บาท จาก 3-4 ปีที่แล้ว โล 2 บาทกว่า ผู้ประกอบการก็พอมีผลกำไรจะได้ไม่เลิกผลิต ถ้าเลิกผลิตเดี๋ยวของขาด ผู้บริโภคก็ทำอย่างไรจะบริโภคในราคาที่สมเหตุสมผล ไม่กลายเป็นการซื้อของที่ค้ากำไรเกินควร เราจึงกำหนดโครงสร้างราคาขึ้นมาว่า ถ้าปาล์มโลเท่านี้ น้ำมันปาล์มขวดต้องโลละไม่เกินเท่านี้ แต่ปัจจุบันนี้ เราก็ขอความร่วมมือกำกับกัน ราคาโครงสร้างวันนี้ถ้าผลปาล์ม โล 12 ต้องไปขวดนึง 70 กว่าบาท แต่เราก็ขอความร่วมมือว่า กดลงมา 5 บาท 7 บาท 10 บาทได้หรือไม่ สุดท้ายเราก็ทำสำเร็จ ขอความร่วมมือว่า ถ้าผู้ผลิตพอมีกำไรหรือเสมอทุน ขอให้ช่วยแก้ปัญหาในช่วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปก่อน ราคาน้ำมันปาล์มขวดวันนี้จึงปรับลงมา แทนที่จะ 70 กว่า ก็เหลือ 60 กว่าบาทโดยประมาณ อันนี้ก็คือวิธีการแก้ปัญหาของกระทรวงพาณิชย์ ที่ใช้ วิน-วิน โมเดล

นอกจากนี้ก็ยังใช้นโยบายเชิงรุก แล้วก็เชิงลึก เข้าไปก็ปัญหาสินค้าแต่ละตัว เชิงรุกก็คือเข้าไปแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นมือ และเชิงลึกก็คือจะต้องดูรายตัว รายกรณี ไม่ใช่ถ้าจะให้ปรับราคาอนุญาตหมด ไม่ว่าเป็นต้นทุนเท่าไหร่ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นการจะพิจารณาว่า สินค้าตัวไหนให้ขึ้น – ไม่ให้ขึ้น ต้องดูตัวเลขต้นทุนของแต่ละโรงงานแต่ละกรณีจึงจะพิจารณาดำเนินการต่อไปให้ปรับขึ้นได้

จนสุดท้ายในที่สุดจึงนำมาซึ่งการกำหนดหรือกำกับราคาสินค้าให้อยู่ในภาวะที่สมดุลกับทุกฝ่ายและแม้ว่ามันจะต้องปรับขึ้นไปบ้างในบางตัว แต่ก็ปรับขึ้นในตามต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่แพงขึ้นจริง เพราะราคาน้ำมันแพงขึ้น และแพงขึ้นทั้งโลก แต่เราจึงกำกับตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำได้ ด้วยเหตุผลที่กราบเรียนกับท่านประธาน

เรื่องที่ 2 คือเรื่องปุ๋ย เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับความจริงอีกเรื่องหนึ่งเช่นเดียวกันว่า ปุ๋ยแพงขึ้นจริงครับ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่กระทบเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งผมเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง แล้วก็เข้าใจ แต่ถ้าจะถามว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลเอาใจใส่เรื่องนี้หรือไม่ กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ทำอะไรไปบ้าง เราทำหลายเรื่อง ท่านนายกฯ ก็กำชับในที่ประชุมตลอดว่าเรื่องนี้ขอให้จับมือกันช่วยแก้ปัญหา แต่ว่ามันเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง แต่ทั้งหมดเราก็สามารถทำได้สำเร็จในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ทั้งหมด ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าปุ๋ยเราต้องแก้ปัญหา 2 ข้อไม่ใช่ข้อเดียว

2 ข้อที่ว่าก็คือ 1. ต้องแก้ปัญหาเรื่องราคา ไม่ให้กลายเป็นการค้ากำไรเกินควร กับ 2. แก้เรื่องปริมาณ ไม่ให้ปุ๋ยขาดแคลน เพราะถ้าทั้ง 2 ข้อมาประดังกัน ซ้ำกันในเวลาเดียวกัน ผมว่าดูไม่จืดแล้วครับ แต่วันนี้สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือยังกำกับปริมาณให้เพียงพอต่อการใช้ของเกษตรกรในประเทศอยู่ และโดยเหตุที่ปุ๋ยเราต้องนำเข้า 100% เพราะฉะนั้นทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับตลาดโลก และเพราะปุ๋ยผลิตจากน้ำมัน เพราะฉะนั้นเมื่อน้ำมันราคาขึ้นสูงไปทั้งโลก ปุ๋ยก็ราคาแพงขึ้นทั้งโลกเช่นเดียวกัน เมื่อเรานำเข้า ค่าขนส่งปุ๋ยจากประเทศผู้ผลิตถึงประเทศเราก็แพงขึ้นไปเช่นเดียวกัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นทั่วโลก และถ้าเราไปเปรียบเทียบราคาปุ๋ยกับหลายประเทศในโลก เราจะพบว่าราคาปุ๋ยบ้านเราก็ยังอยู่ในราคาที่ต่ำกว่าหลายประเทศในโลก

ผมยกตัวอย่างเช่น วันที่ 11 พ.ค. 65 ไม่กี่วันมานี้ ธนาคารโลก World Bank ได้มีการทำตารางเปรียบเทียบราคาปุ๋ยของโลกและมีไทยอยู่ในนั้นด้วย ปรากฏว่าเปรียบเทียบก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อนที่น้ำมันพุ่งกระฉูด กับปัจจุบัน ณ สถานการณ์ เดือน พ.ค. พบว่าราคาปุ๋ยเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 30% แต่ราคาปุ๋ยของไทย เพิ่มขึ้น 5.9% ต่ำกว่าอัตราเพิ่มเฉลี่ยของโลก และตัวเลขที่ 2 เมื่อเอาตัวเลขเดือนเมษายน 65 เปรียบเทียบกับเดือนเมษายนปี 64 ราคาปุ๋ยโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 80% แต่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น 25.7% นี่คือข้อเท็จจริงที่ขออนุญาตนำกราบเรียนให้ท่านประธานได้เห็นภาพ และให้เกษตรกรได้รับทราบไปพร้อมกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจะไม่ทำอะไร ในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่เราทำคือ 1. กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกระทรวงเกษตร และผู้นำเข้าปุ๋ย จับมือกันจัดปุ๋ยราคาถูก 4.5 ล้านกระสอบตอนนี้ขายจบไปแล้วโครงการนี้ ถูกกว่าราคาตลาด 20-50 บาทต่อกระสอบ

อันที่ 2 ที่น่าเป็นห่วงก็คือว่า เราพยายามกำกับราคาปุ๋ยไว้ไม่ให้ปรับขึ้น และเป็นที่มาที่ทำให้ขณะที่ต้นทุนโลกสูงขึ้น ผู้นำเข้าก็ทำท่าว่าจะหยุดนำเข้า ผมก็ไปดูตัวเลขน่าตกใจครับ เพราะเราพยายามกดราคามันลงมา ไม่เป็นไปตามต้นทุน เดือนมค 65 ปรากฏว่าการนำเข้าปุ๋ยติดลบ 48% หรือ 50% จากเคยนำเข้า 100 บาท หายไป 50% เดือนกุมภาพันธ์ติดลบอีก นำเข้าเหลือ 51% ถ้าปล่อยให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้นต่อไป นอกจากต้องแก้ปัญหาเรื่องราคา ต้องมาแก้ปัญหาเรื่องปุ๋ยขาดอีก แล้วมันจะซ้ำซ้อน ฤดูการผลิตใหม่ของเกษตรกรก็กำลังจะออกมาแล้วจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสร้างสมดุลทั้งเรื่องราคาและปริมาณ ให้ปุ๋ยยังสามารถนำเข้ามาได้ แต่ถ้าจะนำเข้ามาได้ เราก็ต้องผ่อนปรนเรื่องราคาให้ผู้นำเข้า สามารถยืนทำธุรกิจได้ เพราะถ้าเข้ามาแล้วขาดทุนกำหนดเพดานห้ามปรับ ห้ามอะไรทั้งสิ้น เขาก็หยุดนำเข้า และตัวเลขก็ฟ้องแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ต้องปรับกระบวนการใหม่ให้พิจารณาว่า ให้พิจารณาว่าจะอนุญาตให้ขายราคาไหน ให้ดูจากต้นทุนโดยมี 4 ตัวประกอบการพิจารณา ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์ทำโครงสร้างปุ๋ยราคใหม่จบแล้ว เราทำมาครั้งล่าสุดเมื่อปี 54 11 ปีมาแล้ว แต่มาทำใหม่ปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงโดย

  1. เอาต้นทุนนำเข้าเป็นตัวตั้ง ดูจากใบ Invoice จริงๆ ที่นำเข้า ถ้าหากว่าทำใบ Invoice ปลอม ก็เหมือนกับให้ข้อมูลเท็จกับทางราชการ มีโทษจำคุก โทษอาญา
  2. ดูว่าต้นทุน การผสม การแบ่งบรรจุ การทำ Packaging หีบห่อคือเท่าไร
  3. ระบบบริหารจัดการแรงงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าการตลาดเท่าไหร่ และสุดท้ายบวกกำไร แต่กำไรที่ให้บวกตามโครงสร้างใหม่น้อยกว่าโครงสร้างเดิม โครงสร้างปี 54 ให้กำไร 2.72% แต่โครงสร้างใหม่ให้กำไรไม่เกิน 1.61%

อันนี้คือโครงสร้างที่ได้ดำเนินการใหม่และจะใช้โครงสร้างนี้ในการกำหนดกำกับราคาปุ๋ยในประเทศต่อไปตอนนี้เริ่มนำมาใช้แล้วและมีผลให้การนำเข้าปุ๋ยในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว เดือนมีนาคมเพิ่มไป 59% เดือนเมษายน เพิ่ม 29% นั่นแปลว่าที่เรากลัวปุ๋ยจะขาดก็ผ่อนลงแล้ว เหลือแต่เรื่องราคาที่อย่าให้กลายเป็นการค้ากำไรเกินควร และอย่าให้เป็นการขายเกินราคาที่อนุญาต ไม่เช่นนั้นต้องดำเนินคดี และผมได้สั่งการแล้วว่าจะต้องมีการดำเนินการติดตามเรื่องนี้โดยเคร่งครัด พบการค้ากำไรเกินควร ขายเกินราคากำกับ จะต้องดำเนินคดี โทษถ้าค้ากำไรเกินควร จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับอนาคตเราก็ทำล้ำไปไกลกว่านั้น จากการที่ท่านนายกฯ ได้ไปเปิดประเทศความสัมพันธ์ไทยกับซาอุฯ กระทรวงพาณิชย์ตามทันที ขณะนี้ผมได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยทูตพาณิชย์ไทยที่ Jeddah ได้เจรจากับผู้ส่งออกปุ๋ยรายสำคัญของซาอุอาระเบีย ขอซื้อปุ๋ยในราคาพิเศษปรากฏว่าขณะนี้ผู้ส่งออกปุ๋ยบริษัทยักษ์ใหญ่ลำดับ 1 คือบริษัทซาบิก กับ 2 ลำดับ 3 คือบริษัทมาเดน ยินดีที่จะไปเจรจากับฝ่ายไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมผู้นำเข้าที่จะไปหารือกับผู้ส่งออกปุ๋ยของซาอุดิอาระเบีย โดยจะเจรจาปุ๋ย 3 ประเภท คือ 1. ยูเรีย 2. แอมโมเนียฟอสเฟต 3. MAP หรือฟอสเฟต รวมแล้วทั้งหมดในปริมาณ 800,000 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณเป้าหมายที่เตรียมไว้ แล้วจะจัดให้มีการพบปะกันระหว่างผู้ส่งออกปุ๋ยซาอุ กับผู้นำเข้าไทย สัปดาห์หน้า อาจจะต้องเป็นระบบออนไลน์ หรือระบบใดก็สุดแล้วแต่ที่กระทรวงพาณิชย์จัดให้

อันนี้ก็คือสิ่งที่กราบเรียนว่า รัฐบาลก็ใช้ความพยายามในการที่จะหาซื้อปุ๋ย ป้องกันการขาดแคลน และราคาต่ำที่สุดเพื่อให้เกษตรกรรับภาระน้อยที่สุด นอกจากนั้นก็ยังมีแผนในการที่จะเจรจาซื้อปุ๋ยราคาพิเศษกับประเทศอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่กับประเทศที่ ผมได้มีโอกาสเจรจากับรัฐมนตรีของเขาในช่วงประชุม APEC เมื่อไม่กี่วันมานี้ เช่นรัสเซีย หรือประเทศอื่นใดก็ตาม ที่ถ้าเราคิดว่าเราได้ราคาดีที่สุด เราก็จะทำต่อไป อันนี้ก็คือสิ่งที่ขออนุญาตกราบเรียนต่อท่านประธานให้ได้เป็นภาพในเรื่องปุ๋ย

ประเด็นถัดมาก็คือในเรื่องของคำอภิปรายของเพื่อนสมาชิกบางท่าน ที่ผมคิดว่าถ้าผมไม่ชี้แจงคงไม่ได้ เพราะว่าการอภิปรายทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนแบบตรงกันข้าม เช่น การอภิปรายว่า รัฐบาลนี้เข้ามาดูแลบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจปรากฏว่าเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดับสนิททุกตัว ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การส่งออก ซึ่งอันนี้มันกลายเป็นขาวเป็นดำ ท่องเที่ยวอาจจะจริง ท่องเที่ยวโทษรัฐมนตรีท่องเที่ยวไม่ได้ โทษท่านนายกฯ ก็ไม่ได้ มันเป็นทั่วโลกเพราะการล็อคดาวน์ประเทศ การปิดประเทศ แต่เมื่อเปิดประเทศเมื่อไหร่ ผมมั่นใจว่าท่องเที่ยวไทยก็ลุกเดินทันที เหมือนกับที่เราได้เริ่มต้นแล้วตอนนี้

แต่สำหรับการส่งออก ถ้าบอกว่าเครื่องยนต์ส่งออกดับสนิท ผมว่าผิดโดยสิ้นเชิง เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลก สถานการณ์สงครามการค้า อเมริกา – จีน สถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน ประเทศไทยเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศ ที่สามารถผลักดันการส่งออกฝ่าวิกฤตทั้ง 4 – 5 วิกฤตินี้ไปได้อย่างงดงาม และกลายเป็นเครื่องยนต์ เครื่องสำคัญที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศในช่วงปี 2 ปี ที่ผ่านมา ปีที่แล้ว ปี 64 ตัวเลขส่งออกเป็นบวก 17.1% นำเงินเข้าประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท และปีนี้แค่ 4 เดือน มกราคม – เมษายน เราทำตัวเลขบวกไปอีกแล้ว 13.7% นำเงินเข้าประเทศแล้ว 3.2 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าปีนี้ว่าเราจะทำให้ได้มากกว่าปีที่แล้วอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท คือจาก 8.5 ล้านล้าน เป็น 9 ล้านล้านบาท ปรากฏว่า 4 เดือนเราทำได้ 3.2 ถ้าคูณ 3 เข้าไปจนสิ้นปี ก็เกิน 9 ล้านล้านแล้ว เพราะฉะนั้นการส่งออกยังเป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการขับเคลื่อน GDP ของประเทศ ไม่ใช่ดับสนิทอย่างที่เพื่อนสมาชิกได้เข้าใจ นี่คืออีกประเด็นที่ขอชี้แจง

ถัดมาท่านพูดเรื่องโลกกำลังเผชิญวิกฤติอาหารขาดแคลน นี่คือโอกาสทองของสินค้าเกษตรไทย ไม่เห็นรัฐบาลให้ความสนใจในเรื่องนี้เลย ไม่จริงครับ ผมต้องอธิบายว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง กระทรวงพาณิชย์ก็เป็นกระทรวงหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้ตลอด แต่เราคิดแค่เพียงจะส่งสินค้าไปขายอย่างเดียวไม่พอ รัฐบาลคิดกว้างกว่านั้น กระทรวงพาณิชย์ก็คิดไกลกว่านั้น คิดไกลกว่านั้นก็คือเราต้องมองทั้งสองด้าน ขณะที่เราเห็นว่ามันเป็นโอกาสในการส่งออกอาหารไปทั่วโลก เราก็ต้องดูตัวเราเองด้วยว่า ถ้าเราส่งออกเพลิน เกิดสต็อกอาหารของไทยไม่พอใช้ เกิดวิกฤตขึ้นมา ทีนี้เราจะแก้ปัญหามันอย่างไร

รัฐบาลจึงต้องดูทั้ง 2 ด้าน ดูว่า 1. สต็อกอาหารในประเทศต้องเพียงพอก่อน 2. ถ้าเหลือส่งออก อันนี้จะทำให้เราได้ทั้ง 2 ข้อ และในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ผมก็ใช้หลักอันนี้ แม้แต่เรื่องปาล์ม ปาล์มตอนนี้เราส่งออกเยอะมาก บวกหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ขณะเดียวกันเราก็คำนึงว่าถ้าส่งออกเพลิน เดี๋ยวน้ำมันปาล์มในประเทศขาด เดี๋ยวไม่พอกินมันจะกลายเป็นปัญหาใหม่ซ้ำซ้อน เพราะฉะนั้นขณะนี้จึงได้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งมีตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนโรงสกัด ตัวแทนโรงกลั่นน้ำมัน refine คือที่ผลิตน้ำมันปาล์มขวด และตัวแทนผู้ส่งออกและส่วนราชการ เป็นวอร์รูมคอยมอนิเตอร์ติดตาม ว่าต่อจากนี้เราต้องมีสต็อกน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคสำหรับคนไทยกี่แสนตัน เวลาเท่าไหร่ ถ้าเหลือ ส่งออก ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขเท่าไหร่ อนุกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้คนไทยมีน้ำมันปาล์มบริโภคได้และขณะเดียวกันก็ส่งออกได้ ถ้าเรามีพอเพื่อจะทำให้ราคาผลปาล์ม มันก็ยังดีอยู่ต่อไป วิน-วินโมเดล

นี่คือสิ่งที่ขออนุญาตกราบเรียนให้ท่านประธานได้เห็นภาพ และด้วยการที่รัฐบาลให้ความสำคัญในยามที่โลกขาดอาหาร เราก็ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เราจะต้องมีการกำหนดสินค้าอาหารเป้าหมายที่จะส่งไปขายในต่างประเทศทำเงิน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และได้กำหนดเป้าหมายไว้ชัด

  1. กลุ่มข้าว แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง เพื่อทดแทนข้าวสาลีที่ปลูกมากในรัสเซีย กับยูเครน แล้วส่งออกมีปัญหาเพราะเขารบกันอยู่
  2. น้ำมันปาล์ม
  3. กลุ่มน้ำตาลทราย
  4. ไก่แปรรูป

ทั้งหมดนี้เราเดินหน้าบุกตลาด 27 ประเทศสำคัญ โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ ที่เรายังไม่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากนัก ไม่ว่าจะเป็นยุโรปตะวันออก เอเชียกลาง อาฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง ทั้งหมดนี้จึงทำให้มูลค่าการส่งออกเฉพาะอาหาร เดือนมกราคม-เมษายน 65 ทำเงินเข้าประเทศถึง 2.3 แสนล้านบาท ข้าวส่งออกบวก 36% แป้งข้าวเจ้าบวก 6.1% น้ำมันปาล์มบวก 296% น้ำตาลบวก 170% ไก่แปรรูปล็อตแรกไปซาอุดิอาระเบียบเรียบร้อยแล้ว และบวก 23% เป็นต้น

และสุดท้ายที่จำเป็นต้องกราบเรียนก็คือว่าผมได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ที่เขามีหน่วยวิเคราะห์ตลาดโดยเฉพาะ ให้ไปดูว่าขณะนี้บางประเทศเขาห้ามส่งออกอาหาร โดยเฉพาะรวมทั้งวัตถุดิบมันจะกระทบประเทศไทยตรงไหนบ้าง ก็พบว่าประเทศที่ห้ามส่งออกอาหารส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เราไม่ได้นำเข้าจากเขาอยู่แล้วในปัจจุบัน หรือนำเข้าน้อยมากเพราะฉะนั้นยังไม่มีผลกระทบอะไรกับประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ผมก็สั่งการให้มีการเฝ้าระวัง และจากมาตรการที่เราเร่งรัดการส่งออกอย่างที่กราบเรียนนนี้ ส่วนหนึ่งก็มีผลทำให้ราคาพืชผลการเกษตร กราบเรียนกับท่านประธานเลยครับ เมื่อเช้าผมนั่งฟังเพื่อนสมาชิกบางท่านบอกพืชเกษตรตกทุกตัว มันไม่ใช่ครับ ตรงกันข้ามครับ

ราคาพืชผลการเกษตรยุคนี้ดีทุกตัว ข้าวนี่ก็จะไปเหยียบหมื่นแล้ว ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลังไป 3 บาทกว่าแล้วจาก 1 บาทกว่าๆ มาตั้งหลายปี ข้าวโพด 6-7 บาทเดี๋ยวนี้ 12 – 13 – 14 บาทแล้ว ยาง 3 โล 100 เมื่อก่อนเราได้กินวลีนี้ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้วครับ ไปกิโลละ 60 กว่าบาทแล้วครับ ขี้ยาง ยางก้อนถ้วย เมื่อก่อนโลละ 10 บาทเดี๋ยวนี้ 25-26-27 ผมไปอีสาน เขาบอก 30 บาทครับในบางจังหวัด ปาล์มเมื่อก่อน 2 บาทกว่า เดี๋ยวนี้ 10-11-12 บาท ผลไม้ท่านไปดูสิครับ ราคาดีเกือบจะเรียกว่าทุกตัว ผลไม้ที่พวกเราห่วงกันว่าปีนี้จีนปิดด่าน เดี๋ยวส่งออกไม่ได้ ผมเข้าไปแก้ปัญหา นโยบายเชิงรุกมีมาตรการตั้งแต่ต้นมือ เชิงลึกลงไปดูลึกถึงขนาดระดับโลจิสติกส์ คือการขนส่ง บก-เรือ-อากาศ ปีที่แล้วเรามีประสบการณ์ส่งออกทางทางบก ติดที่ด่านโยวอี้กวน ด่านผิงเสียง ด่านตงซิง ด่านผ่านไปทางลาว ปรากฏว่าปีนี้เราเลยปรับแผน ลดการขนส่งทางบกไปส่งออกทางเรือแทน แล้วก็ได้ผลดีมาก ปีนี้ผลไม้ไทยส่งออกไทยไปจีนเกือบจะเรียกว่าปัญหาน้อยมาก แล้วนี่จะหมดฤดูแล้วครับ แปลว่ามันรอดแล้วไง

นี่คือสิ่งที่เราทำ และขออนุญาตที่จะกราบเรียนกับท่านประธานให้ได้รับความสบายใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกร และในยามที่โลกขาดแคลนอาหาร เราก็นำอาหารส่งออก ช่วยเกษตรกรนำเงินเข้าประเทศได้อย่างดียิ่งตามตัวเลขที่ผมกราบเรียน

อีกประเด็นหนึ่ง ในเรื่องข้าว ที่เพื่อนสมาชิกท่านหนึ่งอภิปรายว่า รัฐบาลจัดงบแบบสิ้นหวังเรื่องข้าว รัฐมนตรีพาณิชย์ต้องหัดขายข้าวบ้าง แล้วก็รู้จักขายกลิ่น ขายรสชาติ ขายสีสัน และคุณประโยชน์ของเมล็ดข้าวบ้าง ไม่ใช่ขายแบบเดิมๆ ไม่งั้นไม่มีทางสู้เวียดนาม จีน ได้ ผมก็ขออนุญาตที่จะกราบเรียนว่า ทั้งหมดนี้เป็นความปรารถนาดีของท่าน แต่ว่าสิ่งที่ขอเรียนก็คือ รัฐบาลทำอยู่แล้วครับ แล้วก็ทำอย่างมีแผน

ยุทธศาสตร์ข้าวจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เป็นทางการ ตั้งแต่มีประเทศไทย แล้วก็บังคับใช้แล้ว ตั้งแต่ปี 2563 และจะจบในปี 2567 ประเด็นสำคัญที่เราต้องแข่งกับคู่แข่งของเราเรื่องข้าวก็คือเรามีจุดอ่อนเรื่องความไม่หลากหลายของพันธุ์ข้าว เราจึงมีแผนชัดเจนว่า 5 ปีนี้ เราต้องเพิ่มพันธุ์ข้าวให้ได้อย่างน้อย 12 พันธุ์ เป็นข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ พื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์ และข้าวโภชนาการสูงที่ท่านบอกว่าขายคุณประโยชน์ในเม็ดข้าวด้วยนี้ อีก 2 พันธุ์ แต่ไม่ทันถึง 5 ปี เราทำมาปี 63 แล้วมาเริ่ม 64 ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตร สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จัดประกวดเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อต้องการที่จะส่งเสริมให้ผู้ทำ R&D หรือวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เอามาประกวด แล้วเอาไปรับรองพันธุ์ แล้วทำเป็นพาณิชย์ แล้วส่งให้ชาวนาเอาไปปลูก ขายแข่งกับเวียดนาม จีน ต่อไป อินเดีย ได้ ปรากฎว่าเราทำแล้วแค่ 2 ปี ได้ 6 พันธุ์แล้ว ขณะนี้ แล้วก็ไทยส่งเมล็ดพันธุ์ของเราที่มีทั้งกลิ่น รสชาติ สีสัน คุณประโยชน์ที่ท่านพูดนี้ไปแข่งในเวทีโลก ปรากฎว่า เขาจัดประกวดข้าวโลกมา 13 ครั้ง ประเทศไทยได้แชมป์โลก 7 ครั้ง แล้วในรัฐบาลนี้ ล่าสุดได้ 2 ปีซ้อน คือปีที่แล้วเราได้แชมป์ข้าวโลก ปีก่อนหน้านั้นอีกปีเราก็ได้แชมป์ข้าวโลก

และที่เป็นข่าวดีอย่างยิ่งก็คือ ปีนี้ คนที่จัดประกวดข้าวโลกคืออเมริกา โดยนิตยสาร The Rice Trader ซึ่งมีชื่อเสียงมาก หลายปีเขาจัดต่างประเทศแต่ปีนี้เขามาพบกับผม และไม่กี่วันนี้ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและกระทรวงพาณิชย์จะจับมือกันจัดในประเทศไทย จัดที่ภูเก็ตวันที่ 15-17 พฤศจิกายน จะมีผู้ซื้อขายข้าวมาร่วมงานนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 คนทั่วโลก อันนี้นอกจากโปรโมทท่องเที่ยวภูเก็ต พังงา กระบี่ อันดามันแล้ว ก็ยังช่วยทำให้เราโปรโมทข้าวไทยได้ด้วย ให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นในโลก

แล้วก็สุดท้ายเรื่องข้าว ผมเรียนว่าปีที่แล้วเราส่งออกข้าวได้ 6.1 ล้านตัน แต่ปีนี้เราจะส่งออกข้าวได้มากขึ้น เพราะความหลากหลายของพันธุ์ข้าวของเรา ราคาที่เราแข่งขันได้ และความสามารถของเอกชนคือสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยและสมาชิก เราจะเพิ่มจาก 6.1 เป็น 7 หรืออาจจะไปถึงเกือบ 8 ล้านตันสำหรับปีนี้ ซึ่งผลก็คือจะช่วยให้ราคาข้าวดีขึ้นไปอีก

และสุดท้ายเรื่อง Soft Power ที่มีผู้อภิปรายว่างบ 66 ไม่ตอบโจทย์นโยบาย Soft Power ซึ่งความจริงรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับ Soft Power และท่านนายกฯ ก็พูดหลายครั้ง ผมเองก็กำหนดเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ ภาพรวมก็คือขณะนี้ได้มีการตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ซึ่งมี Soft Power เป็น Subset อยู่ในนั้นด้วย และกระทรวงวัฒนธรรมก็ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์สืบสาน Soft Power ซึ่ง Soft Power ก็คือศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต แล้วก็อัตลักษณ์ของความเป็นชาติ ความเป็นไทยของเรา ซึ่งขณะนี้เราให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ สุดท้ายที่ขอกราบเรียนก็คือ ผมสั่งการเป็นนโยบายไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า ให้กรมส่งเสริมการส่งออกทำแผนส่งออก Soft Power ที่ผ่านมาเราส่งออกสินค้ากับบริการแต่ต่อไปต้องมีข้อ 3 Soft Power และขณะนี้ได้มีการกำหนดแผนชัดเจนแล้วว่า จะส่งออก 4 สินค้าหลักที่ใส่ Soft Power เข้าไปคือ 1. อาหารกับร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จะต้องคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย มีสินค้าไทย มี Story มีเรื่องราวอะไรต่อมิอะไรอยู่ในนั้น 2. สุขภาพความงาม 3. สินค้าที่มีลักษณะสร้างสรรค์ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ไทย เช่น ดีไซน์ต่างๆ แฟชั่น ของตกแต่งบ้านที่มีอัตลักษณ์ของความเป็นไทย และ 4. Digital content ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ละคร เกม Animation ต่างๆ ทั้งหมดนี้ต้องใส่ความเป็นไทยเข้าไป ใส่ Soft Power เข้าไป และกำหนดไว้ 3 กิจกรรมใหญ่ คือ 1. จะต้องมีการอบรมให้ความรู้พัฒนาผู้ประกอบการทุกภาคให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง Soft Power และการใส่ Soft Power เข้าไปในสินค้าบริการของท่าน 2. การพัฒนาสินค้าให้มีเรื่องราวต่างๆ ซึ่งขณะนี้สั่งแล้ว และจะมีการนัดประชุมผู้ส่งออก ไม่ว่าจะเป็นอาหารกระป๋อง ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมด ต่อไปนี้ไม่ใช่มีแค่ Made in Thailand แต่จะต้องมีมากกว่านั้นในเรื่องของการสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทย รวมทั้งการเปิดตลาดที่ชื่นชอบอัตลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะเป็นจีนสหรัฐ EU อาเซียนหรือเอเชียตะวันออกก็ตาม นี่ก็คือสิ่งที่ขออนุญาตที่จะกราบเรียนต่อท่านประธาน เพื่อให้เห็นภาพว่า รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ได้ตอบโจทย์การจัดงบประมาณปี 66 นี้ในภาคปฏิบัติอย่างไรบ้าง ขอบคุณครับ