
23 มิ.ย. 64 นายชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายในการประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่า
วันนี้ตนขอสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 13 ร่าง ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอ 6 ร่าง พรรคพลังประชารัฐ 1 ร่าง พรรคภูมิใจไทย 2 ร่าง และพรรคเพื่อไทย 4 ร่าง ทั้งนี้เราเคยมีความคาดหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 1 รอบและรอบนั้นก็เชื่อว่าไม่มีใครคาดคิดว่าดำเนินการแก้ไขในวันนั้นจะไม่สำเร็จ ทั้งที่ทุกคนคาดหวังให้เดินมาสู่จุดหมายปลายทาง แต่สุดท้ายก็ต้องฝันร้าย
มาครั้งนี้ถือเป็นความหวังใหม่ของ ส.ส. และ ส.ว. ทุกคน ที่ร่วมกันนำเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งส่วนตัวขอพูดในเนื้อหาที่รัฐธรรมนูญปี 60 ปัจจุบันเป็นปัญหา นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 60 ประกาศใช้ และมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2562 เราก็เจอปัญหานับตั้งแต่วันที่เราลงคะแนนเลือกตั้งเสร็จ ประกาศผู้ชนะการเลือกตั้งระบบเขตการเลือกตั้งได้ แต่เราไม่สามารถประกาศระบบสัดส่วนได้หลังจากวันนั้นภายใน 7 วันว่าพรรคไหนจะได้เท่าไหร่ พรรคไหนได้จำนวนสัดส่วนเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ระบุ ตนคิดว่าคาดหวังได้ แต่ถ้าตามใจผู้ที่มีอำนาจก็คิดว่าคาดหวังไม่ได้ บางพรรคอาจจะได้ถึง 87 ที่นั่ง แต่ก็เหลือ 80 กว่าที่นั่ง บางพรรคได้ 10 กว่าที่นั่ง ก็เหลือ 10 กว่าที่นั่ง เพราะปัญหาจากการคำนวน ส.ส. ระบบสัดส่วนของรัฐธรรมนูญปี 60 ทำให้การคำนวณในระบบนี้มีปัญหา
สำหรับการที่มีเพื่อนสมาชิกร่วมกันยื่นร่างเพื่อแก้ไขจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากระบบเขตการเลือกตั้ง 375 เขตเป็น 400 เขต ลดระบบบัญชีรายชื่อจาก 125 คน เหลือ 100 คน เป็นเพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้แทนที่มาจากเขตการเลือกตั้ง และ 400 เขต ส.ส. ดูแลประชากร แสนหกหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยคน ขณะที่วันนี้ ส.ส. ดูแลพี่น้องประชาชนจำนวน แสนแปดหมื่นห้าพันคน และมีพื้นที่ใหญ่ ประชาชนเยอะ การดูแลก็ไม่ค่อยทั่วถึง ดังนั้นการยื่นแก้ไขรายมาตราให้เป็น 400 เขต เพราะต้องการลดจำนวนพื้นที่ และลดจำนวนพี่น้องประชาชน เพื่อให้ ส.ส. จะได้ช่วยกันดูแลได้อย่างทั่วถึง แต่ที่ไม่ตัดระบบบัญชีรายชื่อ เพราะ 100 คนนี้เป็นบุคคลมาจากนักวิชาการ ผู้มีความรู้หลากหลายอาชีพ ที่จะเข้ามาร่วมกันทำงานกับพี่น้องกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบเขต
อีกทั้งการเสนอในเรื่องใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในมาตรา 83 นั้น เป็นเพราะ เราคิดว่าการเลือกตั้ง เราสามารถให้ประชาชนเลือกแบบถ่วงดุลอำนาจได้ เช่น พี่น้องประชาชนชอบ สมาชิกสภาผู้แทนระบบเขตอีกท่านหนึ่ง คาดหวังนายกมนตรีอีกท่านหนึ่ง หรือชอบทั้งคนทั้งพรรค ทั้งเขต ชื่อพรรคเดียวกัน แต่เมื่อไหร่อยากจะคานอำนาจก็เลือกเขตไปตรวจสอบผู้บริหาร
ดังนั้นจึงเห็นว่าการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ และ 400 เขต + บัญชีรายชื่อ 100 เป็นการเลือกตั้งที่ตอบโจทย์ประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีการเลือกตั้งระบบนี้ ซึ่งปี 2544 ปี 2548 ไม่มีปัญหาเรื่องคำนวณระบบสัดส่วนเลย ไม่มีปัญหาระบบการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นทุกพรรคการเมืองก็เลยนำเสนอแก้ไขรายมาตราในเรื่องนี้
สำหรับในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ระบุ ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปแทรกแซงหน่วยงานราชการ ขณะที่พวกตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงไม่ใช่มาจากการแต่งตั้ง เวลาพี่น้องประชาชนร้องเรียนปัญหาทุกข์ยากลำบากหรือต้องแก้ไข บางครั้งก็ต้องทำหนังสือไปถึงหน่วยงานราชการ แต่กลับถูกผู้ไม่หวังดียื่นร้องตีความว่าเป็นการแทรกแซงการบริหารราชการ ถามว่าสิ่งที่พี่น้องประชาชนมายื่นร้องเรียนและมีปัญหาอยู่เรามาพูดในสภาได้อย่างเดียวหรือ เราไม่สามารถนำปัญหานี้กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอยู่ในพื้นที่นั้นได้เลยหรือ นี่เป็นปัญหาของการทำงานในปัจจุบันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน
“ร่างรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ทุกพรรคการเมืองได้ร่วมกันยื่นวันนี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มีความหมายกับการเมืองไทย เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราทั้งหลาย 750 ชีวิตจะร่วมให้กำเนิดประชาธิปไตยที่เต็มใบกับประเทศไทยแล้วจริงแล้วหรือไม่ เป็นการวัดใจสมาชิกรัฐสภาทุกท่านว่าวันนี้ท่านคิดถึงตัวเองหรือคิดถึงชาติบ้านเมืองเป็นหลัก ทุกคนพยายามบอกว่าเรารักประเทศนี้แต่ทำไมเราไม่แก้ไขข้อบกพร่องประเทศนี้ ผมคาดหวังอย่างยิ่งว่าการโหวตลงมติในวันพรุ่งนี้ สภานี้จะไม่เป็นสภาโจ๊กเหมือนที่ผ่านมา สภานี้จงเป็นสภาที่พี่น้องประชาชนชาวไทยฝากความหวังไว้ได้ และเป็นสภาที่ต้องยอมรับแก้ไขข้อบกพร่องได้” นายชัยชนะ กล่าว
DemocratPartyTH #พรรคประชาธิปัตย์