“ชินวรณ์” ประท้วงเพื่อชี้แจงเหตุผลที่ ปชป. ยื่นญัตติให้ศาล รธน. ไม่ใช่การยื้อเวลา ระบุไม่อยากเห็นรัฐสภาเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด แต่ต้องการหาทางออกและต้องการให้มีความชัดเจนในขอบเขตของอำนาจรัฐสภา

17 มี.ค.2564 นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้ประท้วงตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ต่อการที่มีสมาชิกรัฐสภาบางคนอภิปรายพาดพิงต่อกรณีการยื่นญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ตนยกมือขึ้นเหนือศีรษะ และยืนขึ้น โดยมีความประสงค์เพื่อประท้วงตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เนื่องจากเห็นว่า วันนี้ประธานรัฐสภาเปิดโอกาสให้มีการหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องของการลงมติวาระที่ 3 ในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่มีสมาชิกได้อภิปรายพาดพิงว่า ผู้ที่มีความคิดในการเสนอญัตติ เป็นพวกที่มีความคิดที่จะยื้อเวลา ไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งถือว่าเป็นคำกล่าวอันเป็นเท็จ และไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งนำเหตุการณ์นอกสภา และเรื่องของพรรคพวกตัวเองมาพูดในญัตติเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนุญ

“ผมอยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักประชาธิปไตย ได้เปิดหัวใจของความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่มองว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย แต่มองคนอื่นว่าไม่เป็นนักประชาธิปไตย ผมกับผู้อภิปรายเป็นกรรมาธิการมาด้วยกัน จึงคิดว่าคงได้รับทราบความคิดซึ่งกันและกันเป็นอย่างดีว่า พวกผมมุ่งมั่นที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยร่างของ ส.ส.ร. เพราะเห็นว่าจะเป็นนวัตกรรมทางการเมือง เป็นการสร้างดุลยภาพในทางการเมือง และสร้างเสถียรภาพในทางการเมือง อีกทั้งยังหวังว่าการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญจะถอดสลักที่สำคัญให้กับประเทศ นำไปสู่การปฏิรูปประเทศในอนาคต” นายชินวรณ์กล่าว

นอกจากนี้จากการที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ยื่นญัตติและอภิปรายไว้อย่างชัดเจนถึงเหตุผลในการยื่นญัตติเพื่อหาทางออกในวันนี้ก็คือ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีความสับสน ทำให้เกิดความคิดในการตีความที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่มีใครผิดใครถูก แต่เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นองค์กรที่สามารถมีมติ และผูกพันธ์กับองค์กรอื่น ดังนั้นจึงเห็นว่าการที่จะให้ลงมติว่า รัฐธรรมนูญนี้ตกไป ก็เป็นเรื่องของ “อัตตวาทุปาทาน” มากเกินไป และถ้าลงมติว่าให้โหวตวาระ 3 ก็จะมีประเด็นของความขัดแย้ง และฟ้องร้องกันอีก

เพราะฉะนั้นเมื่อมีการรอเวลาในการพิจารณารัฐธรรมนูญมาตามลำดับแล้ว วันนี้หากจะรอเวลาอีก 20-30 วัน เพื่อส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจึงไม่ใช่เป็นการยื้อเวลา แต่เป็นการหาทางออกสำหรับขอบเขตอำนาจของรัฐสภาว่าลงมติในวาระที่ 3 นี้ได้หรือไม่ และเป็นการหาทางออกในอนาคตว่า หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องดำเนินการในการทำประชามติก่อน ก่อนที่จะเสนอญัตติ หรือก่อนที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องการที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่เป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า เราสามารถที่จะมอบอำนาจให้ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนนี้มาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ดังนั้นจากคำถาม 3 ประเด็นนี้ จะเป็นคำถามที่จะเป็นประโยชน์ต่อสภา ในการเดินหน้าต่อไป

“เราไม่อยากเห็นรัฐสภาเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด และเราก็ไม่อยากเห็นใครบางคนมาคิดว่าพวกเราที่นั่งอยู่ในรัฐสภานี้ ไม่รับผิดชอบ หรือยื้อเวลา ผมยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า เราต้องการเสนอญัตตินี้ขึ้นเพื่อต้องการที่จะหาทางออก และเพื่อต้องการที่จะให้มีความชัดเจนในการดำเนินการในขอบเขตของอำนาจรัฐสภาต่อไป” นายชินวรณ์กล่าวในที่สุด