“ชินวรณ์” เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับญัตติที่ ปชป. เสนอ พร้อมเชิญทุกฝ่ายรวมข้อสงสัย และช่วยกันร่วมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ หวังไกลให้เกิดการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เห็นพ้องต้องกัน

17 มี.ค.2564 นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายในการพิจารณาเรื่องแจ้งเพื่อทราบเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้ขอบคุณประธานรัฐสภาที่ยกประเด็นสำคัญของประเทศเข้ามาหารือก่อน เพราะเป็นเรื่องที่มีความสับสนทั้งในหมู่ของพี่น้องประชาชน หมู่นักการเมือง หรือแม้แต่นักวิชาการ ดังนั้นการที่สมาชิกรัฐสภาได้อภิปรายทั้งวันในวันนี้เป็นเรื่องสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน พร้อมกับเห็นด้วยว่าจะต้องพิจารณาโดยยึดหลักนิติธรรม และเดินหน้าความเป็นนิติรัฐของความเป็นประเทศไทย โดยเฉพาะการปกครองในระบบรัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

นายชินวรณ์ เห็นว่าสิ่งที่ได้อภิปรายในวันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องมาเอาชนะคะคานกัน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องทำให้ประเทศของเราเดินหน้าไปได้ และคิดว่าทุกฝ่ายก็มีความปรารถนาดีที่จะได้เห็นกระบวนการในการที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเรื่องที่เริ่มต้นด้วยการเห็นพ้องต้องกัน การจะเห็นพ้องต้องกันได้ก็ต้องยอมรับว่าจะต้องมาจากการที่มีหลักการที่ชัดเจน

จากความเป็นมาในเรื่องนี้สมาชิกรัฐสภาทั้งหลายได้ร่วมกันเสนอร่างในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และสภาแห่งนี้ก็รับหลักการ และนำไปสู่การตั้ง กมธ. ขึ้นมาศึกษา โดยได้มีการพิจารณาในวาระ 2 เสร็จไปเป็นที่เรียบร้อย ทิ้งไว้ 15 วัน และมีการกำหนดระเบียบวาระเพื่อให้มีการลงมติในวาระ 3 ในวันนี้ แต่เนื่องจากได้มีการเสนอญัตติเข้ามาในรัฐสภาเพื่อนำไปสู่การให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย และมีคำวินิจฉัยกลางที่ 4 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2564 ขึ้น หลังจากนั้นมีคำวินิจฉัยฉบับเต็มประกาศในวันที่ 15 มี.ค. จึงต้องยอมรับความเป็นจริงว่า แต่ละฝ่ายตีความและมีความเข้าใจในคำวินิจฉัยกลางแตกต่างกัน จนนำมาสู่ความสับสน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหารือ และแสวงหาความเห็นพ้องต้องกัน เพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป ขณะที่ในการอภิปรายจากสมาชิกรัฐสภาก็เห็นว่ายังมีความสับสน และมีความเห็นไม่ตรงกัน ในประเด็นต่อไปนี้

  1. วันนี้เราจะใช้รัฐสภาแห่งนี้ในการตัดสินประเด็นบางประเด็นที่เป็นเรื่องหลักการที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
  2. เรามีความจำเป็นที่จะเดินหน้าร่วมมือกันในอนาคต จึงต้องมีบรรทัดฐานในการนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งหลักการนี้ จำเป็นต้องมีบรรทัดฐานทางกฎหมายที่จะต้องดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ยังมีความเห็นที่ควรจะทำให้กระจ่างชัดใน 4 ประเด็น

  1. การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ .. พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ถือว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เนื่องจากคำวินิจฉัยกลางได้พูดถึงประเด็นของการที่รัฐสภาจะมีอำนาจในการที่จะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะต้องสถาปนาโดยพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นการยอมรับกันโดยทั่วไป
  2. ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม หมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากคำวินิจฉัยได้ระบุว่าต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ การดำเนินการของรัฐสภา หากมีการลงมติในวาระ 3 หลังจากนั้นจะนำไปสู่การทำประชามติ ตามมาตรา 256 (8) เพื่อถามประชาชนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถือว่าเป็นการให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
  3. ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการทำประชามติหลังจากผ่านวาระที่ 3 ตามมาตรา 256 (8) ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดวิธีการทำประชามติไว้ 2 กรณี คือทำประชามติตามมาตรา 166 และทำประชามติตามมาตรา 256 (8) ฉะนั้นการทำประชามติเพื่อถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องดำเนินการอย่างไร
  4. การแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่รัฐสภาได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตามลำดับนั้น ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ได้กล่าวถึงเฉพาะประเด็นหลักการที่ 2 คือเรื่องการเพิ่มหมวด 15/1 เพียงเท่านั้น ไม่ได้วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวตกไปทั้งฉบับหรือไม่

ดังนั้นจึงเป็น 4 ประเด็นหลักที่จะนำไปสู่ประเด็นสำคัญว่า เมื่อมีประเด็นดังกล่าวจึงมีเรื่องที่เป็นเหตุผลในเรื่องขอบเขตของอำนาจรัฐสภา ซึ่งนำมาสู่การพิจารณาในวันนี้ ว่าประธานรัฐสภาจะให้ลงมติในวาระ 3 ได้หรือไม่ ซึ่งมีฝ่ายหนึ่งลุกขึ้นมาให้เหตุผลที่เป็นเหตุเป็นผลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องตกไป ไม่สามารถลงมติได้ และมีการเสนอญัตติว่าจะไม่ให้มีการลงมติ ซึ่งก็เห็นว่าจะเป็นเรื่องที่มีปัญหาทั้งเรื่องข้อบังคับ และเรื่องรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีการเสนอญัตติเพื่อไม่ให้มีการลงมติได้เช่นไร ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็เห็นว่ารัฐสภาควรเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ไปเลย ซึ่งก็จะมีข้อโต้แย้งเช่นเดียวกันว่า ถ้าจะมีการลงมติในวาระ 3 ก็จะนำไปสู่ปัญหาที่ได้มีการตีความจากคำวินิจฉัยกลาง

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นที่มาที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้เสนอญัตติด้วยวาจา ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติของให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2)

“ที่ผ่านมาเราก็ใช้รัฐสภาให้มีมติส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 210 (2) วันนั้นถ้าจำได้ ผมคนหนึ่งที่ลุกขึ้นตรงนี้ ผมบอกว่า ผมไม่เห็นด้วย เพราะเป็นของเขตอำนาจของรัฐสภา วันนี้ผมก็แปลกใจว่าวันนี้พอพวกผมต้องการจะเสนอญัตติเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นองค์กรสูงสุดในการวินิจฉัยความคิดเห็น ความขัดแย้งของขอบเขตอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ท่านก็บอกว่าเสียเวลา บางฝ่ายบอกว่าเป็นการยื้อเวลา หรือบางฝ่ายก็บอกว่า คำวินิจฉัยกลางเดิมก็ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ยังมีความสับสน ในสภาแห่งนี้เราต้องพูดกันทั้งวัน เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า มุมมองและการตีความกฎหมายย่อมแตกต่างกัน พอย่อมแตกต่างกันก็ไม่มีองค์กรใดที่สามารถจะตัดสินได้ วันนี้พวกผมจึงได้เสนอญัตตินี้ขึ้นมา และก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เสียเวลา ข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญก็รับทราบทั้งหมดอยู่แล้ว เพียงแต่คำขอวินิจฉัยวันนี้ ผมอยากเรียกร้องว่า ถ้าเกิดที่ประชุมรัฐสภาแห่งนี้ให้ความเห็นชอบว่า เป็นทางสายกลาง ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งในปัจจุบัน ก็คือขอบเขตอำนาจของรัฐสภาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และจะเป็นบรรทัดฐานในอนาคต หากเราจะมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป เราก็จะได้เป็นบรรทัดฐานว่า การแก้ไขเป็นรายมาตราเราจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ การแก้ไขทั้งฉบับเราจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่” นายชินวรณ์กล่าว

พร้อมกับเรียกร้องใน 2 เรื่อง

  1. เนื่องจากมีการพูดและเสนอญัตติกันหลากหลาย ขอให้ประธานรัฐสภาได้สรุปญัตติให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้สมาชิกในรัฐสภาได้ร่วมกันวินิจฉัยต่อไป
  2. เนื่องจากญัตติของพวกตนเป็นญัตติที่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) จึงอยากเรียกร้องว่า หากทุกฝ่ายเห็นด้วยก็จะใช้เวลาไม่มากนัก ถ้ายังมีข้อสงสัยประเด็นใดอีกบ้าง ก็ขอให้ช่วยกันยกร่างขึ้นมา จึงอยากเรียนเชิญผู้เสนอญัตติทางฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาให้มาร่วมกันเสนอความคิดเห็นที่ยังแตกต่างกันอยู่ และอยากเรียกร้องเพื่อนสมาชิกที่บอกว่าต้องเดินหน้าในการลงมติวาระ 3 ที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยงต่อการที่จะเป็นไปตามคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ขอให้มาร่วมกันเสนอความคิดเห็นดังกล่าวนี้เพื่อให้ประธานรัฐสภา ได้นำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ และใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

“พวกผมก็ยึดหลักนิติธรรม ยึดหลักนิติรัฐ และมีความมุ่งมั่นอย่างสูงยิ่งว่า การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เพื่อนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกัน เพื่อนำไปสู่ดุลยภาพทางการเมือง เพื่อนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมือง และหวังไกลไปกว่านั้นว่า ถ้าหากเราได้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เห็นพ้องต้องกัน การปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น คำถามหลายคำถามที่เป็นความขัดแย้งในกฎหมายหลักของบ้านเมืองก็จะหมดไป ในอนาคตใครมาเป็นรัฐบาลก็จะได้เดินหน้าในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติบ้านเมือง แก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆ แก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนต่อไป จึงหวังว่าความปรารถนาดีต่อทุกฝ่ายในวันนี้จะเกิดผลปฏิบัติในการที่จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในการจัดทำร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งแก้ไขเพิ่มเติม และแก้ไขทั้งฉบับ” นายชินวรณ์กล่าวในที่สุด