“ชินวรณ์” เสนอร่างแก้ไข รธน.ของ ปชป. 3 ฉบับ จาก 6 ฉบับ เพิ่มสิทธิของประชาชน – สะเดาะกลอนแก้ให้เป็น ปชต.มากขึ้น-เพิ่มการตรวจสอบทุจริตให้เข้มข้น

23 มิ.ย.64 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับจาก 6 ฉบับ ที่พรรค ได้เสนอเป็นเรื่องด่วน เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาในการประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ทั้งนี้เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เสนอร่างฯ เข้ามาพิจารณาจำนวนมากที่สุด จึงได้แบ่งการนำเสนอเป็น 2 ส่วน ซึ่งตนจะได้นำเสนอ 3 ฉบับโดยจะเสนอเรียงลำดับไปทีละฉบับ

ร่างฉบับแรก ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 115 คน ขอเสนอแนะธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. โดยมีหลักการที่สำคัญคือแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 มาตรา 43 มาตรา 46 และมาตรา 72

โดยมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดสิทธิของประชาชนชาวไทยในเรื่องโทษทางอาญา สิทธิในคดีอาญา การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหา การขอประกันตัว ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานการยุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญในหลักประกันขั้นพื้นฐานในเรื่องสิทธิของมนุษยชน

มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดเรื่องบุคคลและชุมชนยังไม่ครอบคลุมสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในการปกป้องสิทธิของประชาชน

มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สิทธิของผู้บริโภคได้กำหนดไว้ให้ได้รับการคุ้มครองและไม่มีกรณีการกำหนดให้ประชาชนและภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมแต่อย่างใด

มาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้รัฐดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ให้มีการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ดินทำกินได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และสภาพความเป็นจริงประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการถือครองที่ดิน เนื่องจากยังไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินทํากินอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม การจัดสรรที่ดินภาครัฐจำต้องคำนึงถึงสิทธิในที่ดินทำกินตามความเป็นจริง

จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ขึ้นมา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเน้นในเรื่องของสิทธิของประชาชนโดยเฉพาะซึ่งคิดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำเสนอเพื่อให้มีการแก้ไขในครั้งนี้

ร่างฉบับที่ 2 ขอเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) (พ.ศ. ….) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ด้วยเหตุผลด้วยมาตราดังกล่าว ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้มีการแก้ไขที่ยากยิ่ง กล่าวคือการแก้ไขเพิ่มเติมก็ทำได้ยากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา คือการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม ญัตติแก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดการออกเสียงลงคะแนน ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ กำหนดให้มีคะแนนเสียงเห็นชอบ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา แต่ได้กำหนดให้ในจำนวนดังกล่าว จะต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา และในวาระ 3 ได้กำหนดให้มีเสียงเห็นชอบด้วยในหลักการ จะให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา และได้กำหนดให้จำนวนนี้ต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และกำหนดให้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้กระบวนการในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นทำได้ยากยิ่ง และไม่เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตย คือกลไกที่จะต้องปกครองด้วยเสียงข้างมากและเคารพเสียงข้างน้อย แต่ว่ากลไกดังกล่าว เป็นการกำหนดให้เสียงข้างน้อยมีสิทธิ์ในการครอบงำเสียงข้างมากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีการแก้ไขได้ยากอยู่ เราจึงได้กำหนดว่า การมีมติเพื่อให้ความเห็นชอบต่อการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 กล่าวคือจะต้องมีเสียงที่เห็นพ้องต้องกันของสมาชิกในรัฐสภาแห่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจำเป็นที่จะต้องใช้คำพูดที่เคยพูดกันมาว่า “เราต้องการที่จะสะเดาะกลอนเพื่อแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญและนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น” ฉบับนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

พร้อมกับยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ถึงแม้ว่าจะมีความคิดดังกล่าวนี้ในการเสนอในวันนี้ก็ตาม แต่กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นยังมีอีกหลายประเด็นและที่มีความจำเป็น และคิดว่าในโอกาสต่อไป ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะแก้ไขได้ ให้พี่น้องประชาชนได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นฉบับของประชาชนต่อไปก็จะเป็นเรื่องที่จะต้องสนับสนุนด้วย

ร่างฉบับที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 236 และมาตรา 237

ด้วยเหตุผลที่ มาตรา 236 และมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทยได้กำหนดในการกล่าวหาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ สมาชิกของทั้งสองสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน มีสิทธิ์เข้าชื่อกล่าวหา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ผู้ใดกระทำการตามมาตรา 234 (1) ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภาพร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันสมควร สงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระจากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวนหาข้อเท็จจริง

จะเห็นได้ว่าการให้ยื่นต่อประธานรัฐสภา หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรก็จะต้องส่งไปให้ศาลฎีกา ย่อมทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเกิดความเสียหายได้ หากมีการต่อรอง สมยอมหรือกระทำการในลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ ประธานรัฐสภาคือฝ่ายที่มาจากพรรคการเมือง หากมีนักการเมืองที่มาจากพรรคการเมืองพรรคเดียวกันกับประธานรัฐสภาถูกดำเนินคดีโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริต ก็อาจมีการเสนอคดีต่อประธานสภา เพื่อดำเนินคดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตเพื่อเป็นการต่อรองในทางคดี เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองในพรรคการเมืองของตนได้

ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงเห็นว่าควรที่จะมีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 มาตรา 237 เพื่อให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้นำส่งเรื่องดังกล่าวไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อที่จะได้ดำเนินการในการตั้งคณะผู้ไต่สวนทำให้เกิดความเป็นกลางและมีประสิทธิภาพ ในการที่จะตรวจสอบและให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นจึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะได้เสนอร่างเพื่อขอความเห็นชอบจากเพื่อนสมาชิกในรัฐสภาแห่งนี้ ในการขอความเห็นชอบในวาระรับหลักการตามลำดับต่อไป