ถึงเวลาลงมือทำจริง โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการคุณภาพดีๆ ของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน”

ที่มา: คอลัมน์กวนน้ำให้ใส แนวหน้า 13 ก.ค. 2563

การพิจารณาตัดสินใจว่าจะใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ไปกับโครงการใดบ้าง นับเป็นเรื่องสำคัญ และทุกภาคส่วนควรสนใจติดตามเกาะติด จากโครงการที่แต่ละหน่วยงานเสนอเข้าไปที่สภาพัฒน์ ทั้งสิ้น 46,411 โครงการ วงเงิน 1.44 ล้านล้านบาท

ในจำนวนนี้ มีโครงการที่จะของบไปสร้างถนนหนทาง ก่อสร้างแลนด์มาร์คท่องเที่ยว ทำป้าย จัดอีเว้นท์ต่างๆ นานา รวมอยู่ด้วยจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ ไม่น่าจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเงินกู้ในส่วนที่จะใช้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องเน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ เสริมความสามารถในทางเศรษฐกิจของประชาชน เพื่อให้สามารถทำมาหากินและใช้ชีวิตได้อย่างเข้มแข็งในยุคใหม่ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การตลาด การค้าการขาย การท่องเที่ยวในชุมชน ฯลฯ และจะต้องเบิกจ่ายได้รวดเร็วทันสถานการณ์
โครงการเหล่านี้ จะต้องผ่านกลไกอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ก่อนจะเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

ล่าสุด ครม.อนุมัติวงเงินงบประมาณรอบแรก 5 โครงการ วงเงินรวม 15,520 ล้านบาท
ปรากฏว่า 5 โครงการแรก เน้นเรื่องการจ้างงาน สร้างอาชีพ และให้ความรู้ประชาชนเศรษฐกิจฐานราก
ได้แก่

โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่ม เกษตรทฤษฎีใหม่ – เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 9.8 พันล้านบาท โดยจะฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ เกิดการจ้างงาน สร้างงาน สร้างรายได้ในพื้นที่ 4,009 ตําบล จํานวนรวม 32,072 คน มูลค่า 3,463 ล้านบาท เกษตรกรได้ รับการพัฒนาให้ มีความมั่นคงในอาชีพ 64,144 คน

โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” – เสนอโดยกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4.78 พันล้านบาท จะเกิดศูนย์เรียนรู้ในพื้นที่ 337 ตำบล และระดับครัวเรือน 24,842 ครอบครัว เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ 3,246 ตำบล จำนวน 9,188 คน

โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ย เพื่อชุมชน – เสนอโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 169 ล้านบาท ดำเนินการ 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด เกษตรกร 1 แสนคน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจต่างๆไม่น้อยกว่า 20% มูลค่า 252 ล้านบาท โดยจะเพิ่มการจ้างงานในชุมชน ประมาณ 2,364 คน

โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า – เสนอโดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วงเงินรวม 741 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและยกระดับสถานที่ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพของอุทยานแห่งชาติ แหล่งดูนก 125 แห่ง ในพื้นที่ 50 จังหวัด จ้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ โดยพัฒนาให้เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นจำนวน 1,250 คน สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 4.2 พันล้านบาท
โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับ นักท่องเที่ยว (Safety zone)- เสนอโดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน 15 ล้านบาท

สำหรับ “โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” ถือเป็นโครงการที่ใช้เม็ดเงินสูงที่สุด ในกลุ่ม 5 โครงการแรกที่ผ่านการอนุมัติลอตแรก
เมื่อตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ Thaime ก็จะพบว่า โครงการนี้เดิม ของบ 14,315 ล้านบาท เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่สุดท้าย ได้ตัดลบลงเหลือ 9,805 ล้านบาท (ครม.อนุมัติ)

เดิม โครงการนี้ มีเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการ 6,918 ตำบล ตำบลละ10 ราย รวม 69,180 ราย

รายละ 3 ไร่ เป็นพื้นที่ 207,540 ไร่
ระยะเวลาดำเนินการ 15 เดือน (เริ่มต้นเดือน เริ่มกรกฎาคม 2563 – กันยายน 2564)
วัตถุประสงค์สำคัญ ระบุว่า “…การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังขยายวงกว้าง จะเป็นผลกระทบต่อเนื่องที่ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งทางIMF คาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกจะตกต่ำในระดับเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression เมื่อทศวรรษ 1930
การฟื้นฟูประเทศไทย ภายหลังเหตุการณ์การการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และครอบคลุมทุกมิติ

ภาคการเกษตร เป็นภาคการผลิตที่สำคัญ ที่ผลิต “อาหาร” เพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” อีกทั้งความเสียหายของภาคเกษตรกรรมยังเป็นปัญหาลูกโซ่ที่จะนำไปสู่ปัญหาในวงจรการผลิตของภาคการเกษตรซึ่งเป็นแหล่งอาหาร รายได้ เป็นความมั่นคงในชีวิตสูงสุดของคนไทย ประกอบกับในช่วงวิกฤติดังกล่าว มีแรงงานที่หนีภัยโควิด-19 กลับสู่ภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ไม่มีงานทำขาดรายได้เพื่อการดำรงชีพ และมีแนวโน้มการตกงานมากขึ้นเนื่องจากการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มาทำงานแทนคนมากขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการนำร่อง คือ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร บรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร มีทางเลือก มีอาหาร มีอาชีพ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความอบอุ่นจากครอบครัว แล้วความสุขตามวิถีชีวิตพอเพียงก็จะเกิดขึ้นกับชุมชน
ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เป็นทางรอดของเกษตรกรไทย

โดยดำเนินงานภายใต้โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 และตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป เป็นภารกิจที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดไปให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั้งประเทศ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว นอกจากจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน พลิกฟื้นชีวิตด้วยศาสตร์พระราชา”

ขั้นตอนและวิธีการดำเนินงาน “โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่”
3.1 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการที่จะต้องบูรณาการจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อน ติดตามประเมินผลและแก้ไขปัญหาการดำเนินงาน จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ
3.2 ตรวจสอบคุณสมบัติเกษตรกร ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ และคัดเลือกเกษตรกรให้เหลือจำนวนตามที่เป้าหมายกำหนด
3.3 กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดำเนินการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือก โดยดำเนินการ 12 ครั้ง เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจและปฏิบัติตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่
3.4 สำรวจระดับชั้นความสูงของภูมิประเทศ สำรวจทำแผนที่ภูมิประเทศ มาตราส่วน 1 : 4,000 เส้นชั้นความสูง ชั้นละ 0.25 เมตร เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบแปลงโคก หนอง นา
3.5 ออกแบบผังแปลง ดำเนินการออกแบบผังแปลง ร่วมกับเกษตรกรเจ้าของแปลง วางผังแปลง แบ่งส่วนการใช้ประโยชน์พื้นที่แต่ละรายอย่างยั่งยืน ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อปรับปรุงพื้นที่ของตนเอง โดยออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ดิน น้ำและอากาศของแต่ละพื้นที่ มีเป้าหมายเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ให้ได้ 100% โดยพิจารณาจากขนาดของพื้นที่ และปริมาณฝนเฉลี่ยในพื้นที่
3.6 ปรับปรุงแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำ ขุดเหมืองไส้ไก่ ปั้นโคก ปั้นหัวคันนาทองคำ และตกแต่งพื้นที่ ตามที่ได้ออกแบบไว้
3.7 ติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ดำเนินการติดตั้งระบบสูบน้ำจากสระเก็บน้ำ สูบน้ำขึ้นหอถังสูง โดยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรได้ตามต้องการ
3.8 ติดตามและประเมินผล มีการติดตามและประเมินผลในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อติดตามความสำเร็จของงาน และหาโอกาสในการปรับปรุงเพื่อให้การปฏิบัติงานของโครงการดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า นี่ไม่ใช่แค่โครงการขุดบ่อน้ำแจกชาวบ้าน เหมือนที่เคยมีมาในอดีต แต่เป็นมีการดำเนินการแบบครบวงจร อันจะทำให้ชาวบ้านที่ได้เข้าโครงการมี “ชีวิตใหม่” ที่ดี มั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืนกว่าเดิม
นอกจากนี้ ยังจะทำให้ชุมชนได้มีแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา จำนวน 69,180 แห่ง สามารถต่อยอดขยายผลต่อไปได้อีกทวีคูณ

นี่คือ โครงการคุณภาพดีๆ ของ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ขอบคุณข้อมูลจาก: แนวหน้า
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://bit.ly/3iZ9SHS

DemocratTH #พรรคประชาธิปัตย์