ประชาธิปัตย์ !! จุรินทร์ นำประชุมใหญ่ ประกาศเดินหน้า “ประกันรายได้” ทำต่อไป “ทำได้ไว ทำได้จริง” ดูแลประชาชนทุกกลุ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานประชุมประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของพรรคประชาธิปัตย์ “เดินหน้า ทำต่อไป ทำได้ไว ทำได้จริง”

ว่า ท่านอดีตหัวหน้าพรรค ท่านชวน หลีกภัย ท่านอดีตหัวหน้าพรรค ท่านบัญญัติบรรทัดฐาน พี่น้องชาวประชาธิปัตย์ทุกท่านทั้งที่อยู่ในห้องประชุมนี้ และที่ได้ร่วมสังเกตการณ์ผ่านระบบ zoom จากทั่วประเทศ

วันนี้ถือว่าเป็นวันประชุมใหญ่สามัญพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 2 นับเนื่องจากที่ผมได้มาทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงขอถือโอกาสนี้ใช้เวลาไม่ถึงกับยืดยาวนักที่จะสื่อสารกับเพื่อนสมาชิกทั้งประเทศขออนุญาตเรียนว่าตลอด 2 ปีเศษพรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายเรื่องซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าถ้าเป็นเครื่องบินประชาธิปัตย์ก็เปลี่ยนกัปตันคนใหม่ เพราะฉะนั้นจะเอาเครื่องขึ้นได้ก็ใช้เวลาพอสมควร โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องทะยานผ่านเมฆ เครื่องก็สั่นทั้งลำ แต่ว่าพอมาถึงวันนี้ผมคิดว่าสถานการณ์นิ่งขึ้น เครื่องบินประชาธิปัตย์ก็มีเสถียรภาพขึ้น แม้ว่าจะตกหลุมอากาศบ้างเป็นครั้งคราว แต่ว่าก็ถือเป็นเรื่องปกติของการที่จะต้องทำงานร่วมกับคนหมู่มาก แต่อย่างน้อยที่สุดที่ผมเชื่อว่า พวกเราได้สัมผัสก็คือ
คำปรามาสเรื่องประชาธิปัตย์สูญพันธุ์
เริ่มหายไป แม้จะยังมีเลือดไหลออกอยู่บ้างแต่ก็มีเลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับเข้ามาทดแทน

โดยเฉพาะคนเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์กับพรรรคก็มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเข้ามาร่วมในฐานะคณะทำงาน ในฐานะผู้สนับสนุนพรรคในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค หรือเข้ามาในฐานะยุวชนของพรรคก็ตาม ที่เห็นล่าสุดเป็นรูปกระทำก็คือเราได้มีโอกาสต้อนรับเลือดใหม่คุณภาพที่จะมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ดร.เอ้ สุชัชวีร์สุวรรณสวัสดิ์

และยังไม่นับรวมถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สก. 50 คนซึ่งในจำนวนนั้นเป็นอดีต สก. 13 คน แต่ที่เหลือคือเลือดใหม่ รุ่นใหม่ของประชาธิปัตย์ 37 คน ไม่นับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่ยังมีเลือดใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มร่วมอุดมการณ์กับพรรคอีกจำนวนมากซึ่งยังไม่ขอประกาศจะรอเวลาที่มีความเหมาะสมกว่านี้ และยังมีทีมงานนักวิชาการรุ่นใหม่เลือดใหม่ที่เข้ามาร่วมเป็นคลังสมองกับพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายท่าน

ยกตัวอย่างเช่น ดร.อนุวัติ สาคริก ซึ่งจะเข้ามาเป็นคลังสมองด้าน Digital economy ดร.เจนจิรา รัตนเพียร รองอธิการบดี RBAC ก็จะเข้ามาทำหน้าที่ในการเตรียมการขับเคลื่อนเรื่องการศึกษายุคใหม่ ร่มธรรม ขำนุรักษ์ เจ้าของเพจ environman ที่ดังอยู่ทั้งประเทศทั้งในกลุ่มคนที่รักสิ่งแวดล้อมและในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็จะเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมให้กับพรรคประชาธิปัตย์

นรุตม์ชัย บุนนาค จบกฎหมายต่างประเทศก็จะเข้ามาขับเคลื่อนพรรคในเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ ชยันต์ ไชยพร ลูกใครผมเชื่อว่าพวกเรารับทราบดี คุณพ่อเป็นผู้มีบทบาททางวิชาการและทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับทั่วประเทศ ชยันต์ ไชยพรจะเข้ามาช่วยเป็นคลังสมองในการขับเคลื่อนด้านกิจการต่างประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวม Young Democrat หรือยุวประชาธิปัตย์ที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ผมเข้ามารับหน้าที่หัวหน้าพรรค เราได้บ่มเพาะคนรุ่นใหม่ไว้เป็นแม่ทัพให้กับประชาธิปัตย์ในอนาคตแล้วถึง 1,075 คน ทั้งหมดนี้ที่ผมเรียนกับพวกเราก็เพื่อจะบอกว่าประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคการเมืองของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่งแต่ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองของคนทุกรุ่น

อย่างไรก็ตามแม้เวลาจะผ่านมาถึง 2 ปีเศษแล้ว แต่ว่าก็ต้องยอมรับความจริงว่าก็ยังมีบางคำถามที่ผมยังไม่มีโอกาสได้อธิบายพร้อมๆ กันในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรรค โดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่ควรจะได้มีโอกาสซักซ้อมทำความเข้าใจด้วยกันในที่ประชุมใหญ่นี้

ความจริงหลังการเลือกตั้งประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคขนาดกลาง เราได้รับเสียงจากพี่น้องประชาชนเหลือเพียง 52 เสียง ทางเลือกของประชาธิปัตย์ในเวลานั้นเรามีทางเลือกสองทาง

ทางที่ 1 ก็คือไปเป็นฝ่ายค้านกับทางที่ 2 คือไปเป็นรัฐบาลแต่ไม่ว่าเราจะเลือกทางไหนเราก็ไม่สามารถเข้าไปทำหน้าที่เสมือนพรรคการเมืองใหญ่ที่เราเคยมีโอกาสมาในอดีต เราไปเป็นรัฐบาลเราก็ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้ เพราะมีพรรคการเมืองที่มีเสียงมากกว่าเราหลายเท่าเป็นผู้รวบรวมเสียงไว้ได้ก่อนแล้ว และโดยเหตุที่เรามีแค่ 52 ทางเลือกของเราก็เหลืออยู่แค่เราจะไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ หรือถ้าเราคิดว่าเราจะไปเป็นฝ่ายค้าน เราก็คงไม่ไปอยู่ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านอย่างที่เราเคยเป็นมาในอดีตเพราะยังมีอีกอย่างน้อย 2 พรรคที่มีเสียงมากกว่าเรา อย่างดีก็เราไปเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน

สุดท้ายเราก็ต้องตัดสินใจแต่การตัดสินใจของประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาลนั้นเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์ที่เรายึดมั่นมาต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปีนับตั้งแต่เราก่อตั้งพรรคด้วยการลงมติและสุดท้ายผลออกมา 61 ต่อ 16 ให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยในพรรคอย่างที่ผมกราบเรียน

และการร่วมรัฐบาลเที่ยวนี้ก็เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญที่แม้เราจะไม่เห็นชอบเบื้องต้นแต่เมื่อผ่านการลงประชามติด้วยเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเราก็เคารพและพร้อมที่จะเดินหน้าตามวิถีตามรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ที่สำคัญก็คือการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามวิถีทางของระบบรัฐสภาที่เมื่อใครรวมเสียงข้างมากได้ก็ต้องสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่ทั้งหมดนี้ก็ใช่ว่าประชาธิปัตย์จะสักแต่ขอให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งได้มีตำแหน่งหรือมีเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี

ผมขออนุญาตกราบเรียนย้อนหลังและเพราะเหตุที่ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่เคยได้พูดต่อสาธารณะวันนี้ก็ขอถือโอกาสรายงานให้เพื่อนสมาชิกประชาธิปัตย์ทั่วประเทศได้มีโอกาสรับทราบ

ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลเรามีเงื่อนไข 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 เงื่อนไขเรื่องกระทรวง เรื่องที่ 2 เงื่อนไขเรื่องนโยบายเรื่องกระทรวง ประชาธิปัตย์มีธงชัด ผมเป็นผู้มอบหมายให้ท่านเลขาธิการพรรค กับท่านนิพนธ์ บุญญามณีไปเจรจา กระททรวงที่ได้มา 3 กระทรวง พาณิชย์ เกษตร พม. ไม่ใช่ได้มาเพราะเขาให้ แต่ได้มาเพราะการเจรจา เพราะเราตั้งมั่นว่าเราต้องการ 3 กระทรวงนี้ ไม่ใช่เพื่อให้ผม ท่านเฉลิมชัย หรือใครต่อใครได้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรี แต่เราต้องการ 3 กระทรวงนี้ เพราะเรามีเป้าหมายสำคัญในการที่จะทำงานเพื่อประชาชนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริงหลังร่วมรัฐบาล

ภายใต้วิสัยทัศน์ที่เราคิดตั้งแต่ตอนโน้น คือ เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ผู้ด้อยโอกาสต้องได้รับการดูแล นี่คือทำไมเราจึงเลือก3 กระทรวง และเหตุผลอีกประการหนึ่งเพราะถ้าเรามีโอกาสทำหน้าที่ใน 3 กระทรวงนี้ เราจะมีโอกาสดูแลพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศในหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งพ่อค้า นักธุรกิจ ผู้ส่งออก SMEs Micro SMEs OTOP Startup พ่อค้าแม่ขาย เกษตรกรไปจนถึงกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนไร้บ้าน ผู้ด้อยโอกาส LGBT เด็กสตรี ไปจนกระทั่งถึงผู้พิการ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคน

นี่คือเหตุผลว่าทำไมประชาธิปัตย์เลือกกระทรวงพาณิชย์ เลือกกระทรวงเกษตรและเลือกกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ยังไม่เคยมีโอกาสขยายความกับใคร

เงื่อนไขเรื่องที่ 2 เงื่อนไข คือเงื่อนไขเรื่องนโยบาย ในการเจรจาเข้าร่วมรัฐบาลประชาธิปัตย์มีเงื่อนไขชัดเจน 3 ข้อเป็นที่ทราบกัน 1. ถ้าจะให้ประชาธิปไตยร่วมรัฐบาล รัฐบาลต้องนำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรไปเป็นนโยบายรัฐบาล 2.ต้องนำการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปบรรจุไว้ในนโยบายของรัฐบาลเช่นเดียวกัน และ 3. เราจะต้องยึดหลักการของความซื่อสัตย์สุจริตในการบริหารราชการแผ่นดิน

สุดท้ายแกนนำตั้งรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในอนาคตเวลานั้น ยอมรับเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 3 ข้อเพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงวันนี้ยังไม่มีข้อไหนที่ประชาธิปัตย์ยังไม่ได้ทำ และไม่มีข้อไหนที่ประชาธิปัตย์ทำไม่ได้ เราทำแล้วครบทุกข้อทั้ง 3 ข้อ

ในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริต 2 ปีเศษที่ผ่านมา รัฐมนตรีทุกคนของพรรคยึดมั่นในหลักการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดังเช่นที่บรรพบุรุษของเราได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนถึงวันนี้ตั้งแต่ยุคท่านควง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ท่านพิชัย รัตตกุล ท่านชวน หลีกภัย ท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมาจนถึงยุคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ล่าสุดผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงเห็นข่าวที่ผมก็เชื่ออีกว่าหลายคนสะเทือนใจ ข่าวที่ว่าก็คือข่าวของการลดโทษบุคคลที่ศาลพิพากษาว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นลงมาเหลือโทษแค่ไม่กี่ปี สร้างกระแสความ ไม่ยอมรับของสังคมขึ้นมามากมายจนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่จบสิ้น

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าการพิจารณาลดโทษเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจประกอบกับเหตุผลที่ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องมีช่องว่างบางประการประชาธิปัตย์จึงเป็นพรรคแรกที่ขอประกาศว่าเราจะเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้

เพื่อให้การพิจารณาลดโทษในคดีทุจริตต้องเป็นอำนาจศาลไม่ใช่อำนาจกรมราชทัณฑ์ภายใต้ฝ่ายบริหารแต่เพียงอย่างเดียว นี่คือเครื่องยืนยันว่าประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดการและยึดอุดมการณ์แห่งความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง

ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ามาถึงวันนี้ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคแรกที่ชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และไม่แก้ มาตรา 112 และสุดท้ายเราลงลึกถึงขนาดระบุว่าเราจะแก้มาตราใดเพื่อเปิดประตูประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น และสุดท้ายเราก็ใช้ความพยายามโดยต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงวันนี้ เราสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แม้จะแค่ฉบับเดียวแต่ฉบับนั้นก็เป็นฉบับของพรรคประชาธิปัตย์

แล้วเรื่องนี้เรายังจะต้องเดินหน้าต่อไปสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตรงกับทิศทางประชาธิปัตย์ ถ้าร่างฉบับนั้นนำไปสู่ประชาธิปไตยยิ่งขึ้นไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 อย่างที่พรรคกำหนดทิศทางไว้

ในเรื่องการประกันรายได้เกษตรกรอันนี้ก็มีความชัดเจนแม้เริ่มต้นต้องผ่านปัญหาอุปสรรคเยอะเลย โดยเฉพาะในฐานะผู้ปฏิบัติทั้งผม ทั้งท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัย เลขาธิการของเรา ต้องฟันฝ่าหลายเรื่องทั้งในเรื่องของการทำความเข้าใจกับฝ่ายบริหาร ฝ่ายราชการประจำ ทั้งในเรื่องของงบประมาณ ทั้งในเรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้ประกันรายได้ สามารถช่วยเกษตรกรทุกคนที่เขาปลูกพืชที่เราประกันจริงๆ กว่าบัตรสีชมพูของชาวสวนยางจะได้รับการประกันรายได้ กว่าชาวไร่มัน ไร่ข้าวโพดและพืชเกษตรตัวอื่นที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่เขาทำกินอยู่นาน และเขาปลูกพืชชนิดนั้นจริงจะได้รับการดูแลด้วยระบบประกันรายได้เราฟันฝ่าอุปสรรคมาพอสมควร

แต่สุดท้ายด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเราทุกคน เราผ่านอุปสรรคนั้นมาทำให้การประกันรายได้เกษตรกรสามารถจ่ายเงินส่วนต่างได้ภายในเวลารวดเร็วแค่ 4 เดือนจึงเป็นที่มาของวลีที่ว่า “ประชาธิปัตย์ ยุคอุดมการณ์ทันสมัยทำได้ไวทำได้จริง” และในปีต่อๆไปเราก็จะเดินหน้าทำเรื่องนี้ต่อไป ตราบเท่าที่ประชาธิปัตย์ยังเป็นรัฐบาลนี่คือคำมั่นสัญญาที่จะให้ไว้กับพวกเราและเกษตรกรในพื้นที่ของพวกเราทุกคนเพราะหลายคนหวั่นไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะมันเป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริง

และด้วยผลงานเป็นรูปธรรมที่ปรากฏผมมั่นใจว่ามาถึงวันนี้ประชาชนมองเห็นว่าประชาธิปัตย์ทำงานอย่างไรและผมมั่นใจว่ามาถึงวันนี้ประชาชนต้อนรับเรามากขึ้นและมั่นใจขึ้นว่า เรากำลังเดินหน้าไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องแม้เราจะเดินทีละก้าว แต่ก็เป็นก้าวที่มั่นคงด้วยประสบการณ์ด้วยผลงาน วุฒิภาวะ การทำงานเป็นทีมและด้วยการทุ่มเทเสียสละ ไม่มีวันเหน็ดเหนื่อยของพวกเราทุกคนในที่นี้

และสำหรับอนาคตในการที่จะนำประเทศของเราไปข้างหน้านอกจากประกันรายได้ นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา นอกจากหลายเรื่องที่เราทำประชาธิปัตย์ยังจะต้องมีภารกิจในการที่จะต้องคิดถึงอนาคตของประเทศ ว่าภายใต้ภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลก และภายใต้ความสลับซับซ้อนของปัญหาในประเทศเราจะมีทิศทางในการเดินหน้าพาประเทศไปอย่างไรถ้าเราได้รับโอกาส

อย่างน้อย 3-4 เรื่อง ที่ผมขออนุญาตฉายให้พวกเราได้เห็นภาพ เรื่องที่ 1 เรื่องปัญหาใหญ่ของประเทศวันนี้ ถ้าเราหลับตาไม่ดูรายละเอียดมองภาพรวม เราจะเห็นชัดว่าวันนี้ประเทศไทยของเรา เผชิญกับ 3 ปัญหาใหญ่ 1.โควิด 2. เศรษฐกิจ 3.ซ้ำด้วยการเมือง เราจะพาประเทศฝ่าวิกฤติทั้ง 3 วิกฤตินี้ไปได้อย่างไร หลายคนบอกว่าฝ่าไปได้ด้วยระบอบประชาธิปไตย ผมไม่ขัดข้องและผมก็ไม่มีข้อโต้แย้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ขออนุญาตที่จะเรียนตรงนี้ก็คือ อย่างน้อยประชาธิปไตยของประชาธิปัตย์ต้องเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนท้องอิ่มหรือที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยกินได้” ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพียวๆ ประชาธิปไตยอย่างเดียวจนลืมเศรษฐกิจปากท้องและความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนในเรื่องอื่นๆ

นี่คือสิ่งที่ถ้าเรามีโอกาส เราจะทำ ขณะเดียวกันในเรื่องโควิดกับเศรษฐกิจ เราจะไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งจุดจบ เราจะต้องทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไป อย่างที่ผมเคยพูดภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เราต้องนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤติโควิดไปให้ได้ ด้วยประชาธิปไตยกินได้

นี่คือสิ่งที่ขออนุญาตฉายภาพให้พวกเราได้เห็นทั้งหมดเป็นนโยบายหรือไม่นโยบายวันหนึ่งผมจะประกาศ แต่วันนี้อย่างน้อยฉายภาพให้เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาอะไร โจทย์สำคัญๆ ที่เราต้องแก้มีอะไรบ้าง โจทย์ข้อที่ 2 ที่ขอเกริ่นตรงนี้ก็คือว่า ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างประเทศ ท่ามกลางปัญหาของมหาอำนาจที่ไม่ลงรอยกัน สถานการณ์โลกวันนี้ มีการนำเรื่องความมั่นคง เรื่องการเมืองระหว่างประเทศมาผูกมัดติดกับเรื่องเศรษฐกิจ มีการแบ่งขั้วแบ่งค่ายและบังคับเลือกข้าง โจทย์ใหญ่ของประเทศไทยก็คือเราต้องมีคำตอบว่าภายใต้สถานการณ์นี้เราจะรักษาสมดุลของความเป็นประเทศไทยของเราไว้ได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยรอดและทำอย่างไรให้ประเทศไทยได้กำไรสูงสุดจากสถานการณ์และวิสัยทัศน์การตัดสินใจที่แม่นยำของคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบประเทศ

สุดท้ายที่ขอยกตัวอย่างประเทศไทยหนีไม่พ้นที่จะต้องตอบโจทย์อนาคต แต่ผมเชื่อว่าหลายคนต้องการเห็นคำตอบนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปในเรื่องของความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทั้งในทางเศรษฐกิจสังคมหลายคนต้องการเห็นคำตอบว่าต่อไปนี้ประเทศไทยจะตอบโจทย์นี้อย่างไร จะมีนโยบายอย่างไรและจะพาประเทศไทยของเราเดินหน้าประเทศต่อไปอย่างไรในอนาคตไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Blockchain เรื่องของ Bitcoin เรื่องของ Metaverse เรื่องคาร์บอนเครดิต ในเรื่องการศึกษายุคใหม่ไปจนกระทั่งถึงในเรื่องของ Soft Power

ผมขออนุญาตเรียนกับพวกเราให้ได้รับความมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้เรามีคณะทำงานมีทีมงานศึกษาและจนมาถึงวันนี้ไม่ต้องรอวันหน้า ประชาธิปัตย์มีคำตอบแล้ว

นี่คือสิ่งที่อยากให้พวกเราพอเห็นว่าผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้กำลังคิดและกำลังเตรียมการที่จะทำอะไรอยู่

( มีต่อ )