ประยุทธ์-จุรินทร์-อนุทิน แท็กทีม ซัดฝ่ายค้านบิดเบือน!! รัฐบาลจริงใจลุยช่วยประชาชนทุก…

คำต่อคำ การชี้แจงของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

22 ก.ค.2565

ท่านประธานที่เคารพ กระผม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขออนุญาตขยายความจากที่ท่านนายกฯ ได้ชี้แจงกับสภาไปเมื่อวาน แล้วก็เมื่อสักครู่ พร้อมทั้งถือโอกาสที่จะอธิบายความในกรณีที่มีเพื่อนสมาชิกให้ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวพันกับภารกิจที่ผมรับผิดชอบในรัฐบาล มี 4 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรกคือเรื่องเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ท่านเขียนไว้ในญัตติชัดเจน 

ประการที่ 2 คือในเรื่องที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายว่าเงินเฟ้อซ้ำเติมเกษตรกร แล้วก็หยิบยกปัญหาเกษตรกรขึ้นมาอภิปราย ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ในเรื่องที่ท่านบอกว่าราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ รายได้เกษตรกรก็ตกต่ำ ซึ่งไม่เป็นความจริง ซึ่งผมจะได้อธิบายต่อไป นอกจากนั้นท่านยังได้พูดถึงปัญหาหนี้สินเกษตรกรว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจจนเกิดม็อบเกษตรกรที่กระทรวงการคลัง ผมก็จะได้อธิบายในลำดับต่อไป และเรื่องราคาปุ๋ย 

ประเด็นที่ 3 ก็คือท่านให้ความเห็นว่ารัฐบาลนี้ไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ของพี่น้องประชาชนอย่างน้อยที่สุด ก็ไม่สนใจเรื่องลดรายจ่ายเพิ่มรายได้และขยายโอกาส ผมก็จะขอถือโอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจว่ารัฐบาลนี้ได้ทำไปก่อนหน้านี้แล้วอย่างไร และประสบผลสัมฤทธิ์อย่างไร 

ประการสุดท้ายก็คือมีสมาชิกบางท่านได้บอกว่ารัฐบาลนี้ยิ่งบริหาร ขีดความสามารถการแข่งขันยิ่งลดลงจนกระทั่งขีดความสามารถการแข่งขันสู้เวียดนามไม่ได้ อันนี้เป็นประเด็นที่ผมจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจ 

ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องเงินเฟ้อหรือของแพง ขออนุญาตเรียนซ้ำเหมือนกับท่านนายกฯ ได้เรียนไปแล้วและเพื่อนสมาชิกหลายท่านได้พูด ว่าความจริงมันเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งโลก แล้วก็ที่เกิดขึ้นเพราะว่าภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติมันเกิดขึ้นในโลก ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งวิกฤติโควิด และสุดท้ายเจอวิกฤติซ้ำซ้อนเข้ามาคือวิกฤติสงครามรัสเซีย – ยูเครน ผลกระทบที่เกิดหนักที่สุดเห็นชัดเจนก็คือ ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้นทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยของเรา ตัวเลขเฉพาะเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ เปรียบเทียบกับปีที่แล้วทั้งปี ราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น 60% ตัวเลขกลมๆ และที่สำคัญขีดเส้นใต้ ท่านประธานจำตัวเลขนี้ไว้นิดนึง ราคาก๊าซธรรมชาติของโลกเพิ่มขึ้น 195% ตรงนี้แหละครับคือคำตอบเบื้องต้นว่าทำไมราคาปุ๋ยสำหรับเกษตรกรถึงแพงนัก แล้วก็ไม่ใช่แพงเฉพาะในเมืองไทย แพงทั้งโลก ที่มันแพงเพราะว่าปุ๋ยมีแม่ปุ๋ยสำคัญ 3 ตัว N P K ผมไม่ต้องอธิบาย เกษตรกรทราบดี ท่านประธานก็ทราบ จังหวัดท่านก็มีเกษตรกรเยอะเหมือนจังหวัดผม ตัว N คือยูเรีย ทำจากก๊าซธรรมชาติ ตัว P คือฟอสฟอรัส นี่ก็ทำจากก๊าซธรรมชาติ แค่ 2 ตัวนี้ ก็เป็นคำตอบแล้วว่าทำไมแม่ปุ๋ยถึงราคาสูงขึ้นหนัก เพราะก๊าซธรรมชาติมันแพงขึ้น 195% และยังส่งผลกระทบตามมาก็คือทำให้เกิดความภาวะของแพงทั่วโลก 

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ขออนุญาตเรียนประธานก็คือสำหรับประเทศไทยของเรา ต้องถือว่าเงินเฟ้อดีกว่าหลายประเทศรวมถึงดีกว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายประเทศในโลก สหรัฐอเมริกา ท่านประธานเห็นใช่ไหมครับ ไม่กี่วันมานี้ตัวเลขเงินเฟ้อออกมาเดือนมิถุนายน + 9.1 นั่นมาหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ยังไม่นับรวมประเทศอื่นๆ แต่ภาวะเงินเฟ้อของไทยอยู่ในลำดับที่ถือว่าดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก คือเฟ้อน้อย มีการจัดอันดับเงินเฟ้อ 137 ประเทศซึ่งเป็นข้อมูลจาก Trading Economic ซึ่งเป็นสถาบันที่ยอมรับกันทั้งโลก ประเทศไทยมีภาวะเงินเฟ้อ อยู่ในลำดับที่ 125 จาก 137 ประเทศของโลกแปลว่าอะไรครับ แปลว่า 137 ประเทศในโลกที่เฟ้อน้อยกว่าประเทศไทย มีแค่ 12 ประเทศ ที่เหลือเฟือเยอะกว่าเรา ของแพงกว่าเราทั้งนั้น 124 ประเทศครับ นี่คือตัวเลขที่ผมจะต้องนำมากราบเรียนกับท่านประธานให้เห็นว่า เราก็ยังอยู่ในสถานะที่ดีกว่าหลายประเทศเมื่อเทียบกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเยอะแยะในโลก ดีกว่าสหรัฐอเมริกา ดีกว่าตุรกี ดีกว่าอาร์เจนตินา อิหร่านศรีลังกา ไม่ต้องพูดเลยครับ ดีกว่ารัสเซีย โปแลนด์ ปากีสถาน อียิปต์ ลาว บราซิล เนเธอร์แลนด์ สเปน EU อังกฤษ เยอรมันแคนาดา แม้แต่กระทั่งอินเดีย เป็นต้น นี่คือสิ่งที่อยากให้ท่านประธานได้เห็น 

นอกจากนั้นเมื่อไปดูตัวเลขการจัดอันดับเปรียบเทียบประเทศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารได้ในราคาไม่แพงหมายความว่าเหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบรายได้กับราคาอาหารที่เป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ The Economist ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับที่น่าเชื่อถือของโลก ให้ประเทศไทย 81.8 ใน 100 คะแนนเต็ม แปลว่าดีที่สุด เป็นลำดับที่ 6 ของเอเชีย นั่นคือประชาชนเข้าถึงอาหารได้ในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ ดีกว่าจีน ดีกว่าเกาหลี ดีกว่าอินเดีย และดีกว่าอาเซียน 7 ประเทศ นี่คือสิ่งที่ขออนุญาตเรียน แล้วก็ถ้าไปดูตัวเลขเงินเฟ้อตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา หรือดูตัวเลขราคาสินค้า หรือของแพง ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา ต้องถือว่ายังต่ำกว่าหลายยุคหลายสมัย หลายรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ท่านบอกว่าไม่มีรัฐบาลไหนของแพงเท่ารัฐบาลนี้อีกแล้ว ไม่จริงหรอกครับ ตอนท่านเป็นรัฐบาล ขออภัย ต้องพูดสักคำนึง แพงกว่านี้เยอะครับ ตอนท่านเป็นรัฐบาล บวก 8.9 ครับ เงินเฟ้อ บวก 9.2 บางช่วงเวลา ขณะที่ในช่วงรัฐบาลนี้ ปี 62 บวกแค่ 0.71 พอมาปี 63 ลบ 0.85 เพราะว่าเจอสถานการณ์โควิด แต่ต่อมาที่คลี่คลายปี 64 ปีที่แล้ว ก็บวกแค่ 1.23 มาบวกเอาปีนี้ครับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดแล้ว 6 เดือนเฉลี่ย บวก 5.61 แต่ก็ยังอยู่ลำดับ 125 ของ 137 ประเทศ อย่างที่ผมกราบเรียนท่านประธาน

กระทรวงพาณิชย์ทำอะไรบ้าง มาดูแลเรื่องราคาสินค้าบริการ ผมขอกราบเรียนว่ากระทรวงพาณิชย์ดูทั้ง 2 ด้าน ดูทั้งในเรื่องของรายจ่าย และดูทั้งในเรื่องของรายได้ อย่างที่ท่านพูด แต่ว่าท่านพูดวันนี้กระทรวงพาณิชย์ทำไปไกลแล้วครับ รัฐบาลชุดนี้ก็ทำไปก่อนหน้าที่ท่านจะพูดเมื่อสักครู่ เพราะเราตระหนักว่า 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในเรื่องรายจ่ายก็คือการเข้าไปกำกับดูแลราคาสินค้า นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ชัดเจนที่ผมมอบไป ก็คือว่า 

1.  ให้ใช้ วิน-วิน โมเดล วิน-วินโมเดลแปลว่าอะไร แปลว่าให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้เกษตรกรต้องไม่ถูกกดราคาพืชผลการเกษตร ผู้ประกอบการต้องประกอบธุรกิจต่อไปได้โดยไม่ขาดทุนจนหยุดผลิตแล้วทำให้ปัญหาใหม่ตามมาคือของขาดตลาดซ้ำซ้อนจากของแพงเข้ามาอีกปัญหาหนึ่ง และผู้บริโภคต้องไม่รับภาระจนไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของราคาสินค้าและบริการ นี่คือต้องให้ 3 ฝ่ายอยู่ร่วมกันได้แบบ วิน-วิน นอกจากนั้นก็ยังมีมาตรฐานเชิงรุกและเชิงลึก เชิงรุกและเชิงลึกคืออะไรครับ เข้าไปแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นมือแล้วก็ลงลึกรายละเอียดรายสินค้า ไม่ใช่พิจารณาแบบองค์รวม แต่ต้องดูว่าสินค้าตัวนี้ต้นทุนสูงต่ำมากน้อยแค่ไหน ถ้าสูง สูงแค่ไหนที่จะมาขอขึ้นราคา แล้วก็ยึดหลักชัดเจนครับว่า 1. ถ้าต้นทุนไม่เพิ่มไม่ให้ขึ้นราคา 2. จะตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด ถ้าทำได้ เพื่อสร้างผลกระทบกับผู้บริโภคให้ช้าที่สุด และตราบเท่าที่ผู้ประกอบการไม่ขาดทุนจนหยุดผลิต ทำของขาด เหมือนที่ผมเรียนเมื่อสักครู่ ประการที่ 3 ก็คือถ้าต้นทุนสูงขึ้นจริง ก็ให้ปรับราคา แต่ต้องปรับราคาตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ นั่นก็คือว่าต้องปรับตามราคาต้นทุนที่สูงขึ้นจริง และให้ปรับน้อยที่สุด เท่าที่จะปรับขึ้นได้ และขีดเส้นใต้ ครับ เมื่อไหร่ต้นทุนลดลงจะต้องปรับลดราคาลงมาทันทีตามนโยบาย 

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนแล้วเมื่อไม่กี่วันมานี้ ราคาน้ำมันปาล์มขวด ก่อนหน้านี้ผลปาล์ม โล 11-12 บาท น้ำมันปาล์มขวดไป ขวดละ 70 วันนี้ผลปาล์มปรับลดมาเหลือ 7 บาท 8 บาท เอาว่าตัวเลขกลม ๆ โดยเฉลี่ย สัปดาห์ที่แล้วราคาน้ำมันปาล์มขวดต้องปรับลดลงมาแล้วครับ 5-6 บาท ท่านอาจจะไม่ได้สังเกต สัปดาห์นี้ลงมาอีก 3-4 บาท จาก 69-70 วันนี้ท่านไปดูแม็คโคร โลตัสเหล่านี้เป็นต้น หรือราคาหลายจังหวัด ลงมาเหลือ 57 บาท 50 ก็มี 58 แล้วก็มี นี่ก็คือสิ่งที่ขออนุญาตเรียนว่าเป็นนโยบายที่ต้องเดินหน้าไปตามนี้ ท่านอาจจะถามว่าแล้วทำไมไม่ลงมา 40 มันยังลงไม่ได้ ลงไม่ได้เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการเขาด้วย เนื่องจากเขาสต๊อกน้ำมันราคาต้นทุนผลปาล์มเดิม 11 -12 บาทไว้เยอะครับ และยังระบายไม่หมดถ้าเขาขาดทุนหนัก ต่อไปเขาก็ไม่ขาย ไม่ผลิต แล้วสุดท้ายราคาผลปาล์ม เกษตรกรก็จะราคาตก เพราะขายต่อไม่ได้ อันนี้ก็คือสิ่งที่เป็นข้อสะท้อนว่า วิน-วิน โมเดล กำลังทำงาน 

นอกจากนั้นถ้าพบว่ามีการค้ากำไรเกินควรก็ดำเนินคดี ตั้งแต่ปี 62 รัฐบาลนี้เข้ามาถึงปี 64 ดำเนินคดีพวกค้ากำไรเกินควรพวกทำผิดกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการไปแล้วตั้งแต่ 62 ถึง 64 1,064 คดี จำคุก 101 คดี เป็นสินค้าเกษตร 70 คดี เช่น โกงตาชั่ง โกงตาชั่วข้าวบ้าง โกงตาชั่งมันบ้าง โกงตาชั่งปาล์มมั่ง เพิ่งไปดำเนินคดีอีกไม่กี่วันนี้ครับ อีก 47 ราย โกงตาชั่งปาล์มเกษตรกร แล้วก็สุดท้ายก็ดำเนินคดีอาญาไป 4 ราย ที่เหลือปรับแล้วก็ตีตราห้ามใช้ตาชั่ง 10 ราย เพราะต้องปรับแก้ไขจนกว่าจะเป็นธรรม แล้วก็ไม่โกงตาชั่ง นอกจากนั้นก็เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค 994 คดี นี่คือสิ่งที่ขออนุญาตเรียน

ผลที่ปรากฏเป็นรูปธรรมจากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งในเรื่องของการตรึงราคาและการไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา ถ้าต้นทุนไม่ขึ้น ถ้าขึ้นก็ต้องขึ้นน้อยที่สุด ลดเมื่อไหร่ปรับราคาลงมาก็มีผลรูปธรรมเกิดขึ้น ทำให้สินค้าจำนวนหลายรายการ ปรับลดราคาลงมา ที่ท่านบอกแพงทั้งแผ่นดินไม่จริงหรอกครับ ท่านอาจจะพูดเป็นวาทกรรม พี่น้องประชาชนหลายท่านก็อาจจะรู้สึกว่าหันไปทางไหนก็แพง ผมเข้าใจ แล้วมันก็จริงที่มีหลายรายการแพง แต่ถ้าลงลึกตัวเลขจริงๆ จะพบว่ามีหลายรายการที่ราคาลดลง หลายรายการตึงราคา ราคาเดิมแล้วก็หลายรายการเหมือนกันแพงขึ้น แต่ผมต้องแยกแยะให้ท่านประธานได้เห็น เพื่อจะได้เข้าใจว่าสถานการณ์ความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ผมไม่ได้พูดเอง เกิดจากการสำรวจที่สินค้าสำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชาชน 242 รายการ โดยอาสาสมัครพาณิชย์ 546 คน กระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดและสำรวจทุกวันไม่มีวันหยุดครับ แล้วก็เอามาประมวลผลทุกวัน พบว่ามีสินค้าที่จาก 242 รายการสามารถตรึงไว้ได้ คือราคาคงเดิมในช่วงระยะเวลาที่มีการสำรวจที่ผ่านมา 71 รายการ จาก 242 และราคาลดลง 47 รายการรวมที่ตรึงราคา คือราคาเดิม และราคาลดลง 118 รายการ จากทั้งหมด 242 รายการ แปลว่าตรึงราคาไว้ได้ และราคาลดลง 49% ไอ้ที่เพิ่มขึ้น 51% แต่มันไม่ใช่ 100% เหมือนท่านพูด 

นี่คือตัวเลขจริงที่เขาไปดูราคา เขาจดราคาย้อนกลับมาทุกวัน สินค้าที่ตรึงราคาไว้ได้ ราคาทรงตัว ผมยกตัวอย่างก็แล้วกัน ปลาทูนึ่ง เส้นก๋วยเตี๋ยวสด นมถั่วเหลือง น้ำดื่มน้ำยาซักฟอก เศษกระดาษ กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องปูหลังคา สังกะสี ท่อซีเมนต์ คอนกรีตผสมเสร็จ น้ำมันหล่อลื่น ถุงพลาสติก ยาแก้ไข้ ยาแก้ปวด รถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวข้าวนวดข้าวเครื่องสูบน้ำ แม้แต่เสียมก็สำรวจ กรรไกรตัดหญ้าก็สำรวจ นี่ราคาคงเดิม เครื่องแบบนักเรียน รองเท้า นักเรียน คาร์ซีท บริการซ่อมรถยนต์ ตัดเย็บเสื้อผ้า บริการขายน้ำมันเครื่อง แม้แต่ตัดผมผู้หญิงผู้ชาย ซักอบรีด ขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ คือค่ามอเตอร์ไซค์ไรเดอร์ เวลาท่านส่งสินค้า ท่านสั่งอาหารทางดีลิเวอรี่ นี่ก็ราคาคงเดิม ซึ่งขออนุญาตเรียนท่านประธาน 

ส่วนราคาลดลง ท่านประธานอาจจะไม่ค่อยได้สังเกต เพราะเวลาของขึ้นนี่เราสังเกต เราจำไม่ลืมมันแพงขึ้น แต่เวลามันลดลง เราก็อาจจะลืม ๆ มั่ง เราเฉยๆ บ้าง ลดลงก็ดีแล้ว แต่มันลดลงครับ จากการสำรวจ 47 รายการ ยกตัวอย่าง เช่น ปลาทูสดนี่ลดลงครับ ปลานิลนี่ก็ลดลง ผักคะน้าลดลงเกือบ 10% ผักชีลดลง 17% ผักกาดขาวปลีลด 17 กะหล่ำปลีลด 9 แม้แต่หอยแครง ลด 5% ข้าวสารถุงที่มีคนวิจารณ์ว่าแพงก็ราคาปรับลดลง แล้วก็เพิ่งมีการจัดรายการข้าวสารถุงราคาถูกนี่กระจายไปขายในปั๊มน้ำมัน 3 ปั๊มหลายสาขาทั่วประเทศทั้ง PT ทั้ง ปตท. ทั้งบางจาก แล้วก็จะลดจนถึง 31 กรกฎาคมนี้อีก ขายทั้งหมด 700 กว่า เอาท์เล็ตทั่วประเทศ นี่ก็ตัวอย่าง นมข้นหวานนี่ก็ลดลง นมเปรี้ยว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย น้ำยาขจัดคราบเสื้อผ้า ใบมีดโกน ผลิตภัณฑ์ฟอกผ้าขาว ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กนี่ก็ลด 10% ราคาต่ำลง หลอดไฟฟ้า ตู้เย็น เครื่องฟอกอากาศเครื่องบดผสมอาหาร เครื่องปรับอากาศ แอร์คอนดิชั่นเนอร์ ลดลง 13% เครื่องดูดฝุ่น เครื่องทำน้ำอุ่น รถจักรยาน นี่ก็ราคาลดลง ผ้าเบรก ไส้กรองอากาศ ยางรถจักรยาน แบตเตอรี่ ฟิล์มกรองแสง หน้ากากอนามัยลด 17% เจลแอลกอฮอล์ ลด 7% ATK ลดลง 33% น้ำยาใส่แผล ฟ้าทะลายโจร ที่ท่านบอกว่าขึ้นเหลือเกิน ลดแล้วครับ 57% สำลี เครื่องกรองน้ำ กล้องติดรถยนต์ ค่าบริการถ่ายเอกสาร ค่าชมภาพยนตร์ ชมกีฬา ค่าสถานที่ออกกำลังกายลด 40% เหล่านี้เป็นต้น 

ท่านจะได้พอเห็นภาพว่าที่ราคาลดลงมันก็มีไม่น้อย รวมทั้งตรึงราคาไว้ได้ แต่สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นแล้วก็กระทบพี่น้องประชาชนมากโดยเฉพาะเกษตรกรนอกจากน้ำมันปาล์มที่ผมอธิบายไปเมื่อสักครู่ ปุ๋ยครับซึ่งเดี๋ยวผมจะได้ชี้แจงต่อไปว่าทำไมมันแพง แล้วเกิดจากสาเหตุอะไรอย่างไรครับ แต่นี่คือผลจากการที่กระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาลเข้าไปดูแลเรื่องรายจ่ายของพี่น้องประชาชน คนไทยทั้งประเทศก็สัมฤทธิ์ผลไม่น้อยทีเดียว อย่างน้อยก็ตึงราคาไว้ได้ แล้วก็ปรับลดราคาลงมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ตรึงราคา หมวดนี้สำคัญมากที่จะต้องขออนุญาตกราบเรียนให้ท่านประธานได้รับทราบ ท่านทราบไหมครับช่วงตลอดระยะเวลา ตั้งแต่ปลายธันวาคม 64 มาจนถึงปัจจุบัน มีสินค้าขอขึ้นราคาเยอะมากเลยครับ แต่กระทรวงพาณิชย์ไม่อนุญาต 

ขอขึ้นมาทั้งหมดรวม 127 ครั้ง 11 หมวดสินค้า 61 บริษัท 116 ยี่ห้อ สินค้าทั้งหมดเกือบพันรายการ 936 รายการ และทั้งหมดนี้ กระทรวงพาณิชย์ไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคาจนวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง นม สินค้าอื่นๆผงซักฟอก ผ้าอนามัย น้ำยาล้างจาน และอื่นๆ 11 หมวดสำคัญ ๆ และผลจากการที่กระทรวงพาณิชย์ตรึงราคาสินค้าไม่ให้ขึ้น ท่านประธานเคยลองคิดมั้ยครับว่า ที่ตรึงมาได้ 6 ถึง 19 เดือนนั้น มันทำให้ช่วยประหยัดรายจ่าย ประหยัดเงินในกระเป๋าประชาชนเท่าไหร่ ถ้าปล่อยให้ขึ้นแปลว่าประชาชนต้องควักเงินจากกระเป๋าออกมาจ่ายเพิ่มขึ้น แต่เพราะไม่ให้ขึ้น ตรึงราคาไว้ได้ 6-19 เดือนเกือบ 2 ปี ประชาชนไม่ต้องควักเงินออกมาเป็นจำนวนเท่าไหร่

ผมให้เจ้าหน้าที่ไปคำนวณจะได้มาบอกประชาชนได้ว่าผลจากการตรึงราคาช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชน รวมทั้งประเทศเท่าไหร่ ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ตรึงราคาไว้ที่ซองละ 6 บาทเพราะท่านขอขึ้นมาเป็น 8 บาท แล้วก็ขอขึ้นมา 19 เดือนแล้ว ตรึงมาเกือบ 2 ปีนี้ ประหยัดเงินให้ประชาชนเท่าไหร่ เฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 20,900 ล้านบาทครับ ที่ท่านไม่ต้องควักเงินเพิ่ม ยังมีเงินคงในกระเป๋าผู้บริโภคทั้งประเทศและรวมสินค้าทั้งหมด 11 หมวดที่ไม่ให้ขึ้น รวมแล้วประหยัดเงินประชาชน จนถึงวันนี้ไม่ต้องควักเงินออกมาได้รวมกัน 98,287 ล้านบาท เกือบแสนล้านครับ นี่คือสิ่งที่ผมขอขีดเส้นใต้ ผลงานกระทรวงพาณิชย์ ผลงานรัฐบาลชุดนี้ นี่คือด้านของการตรึงรายจ่ายหรือช่วยกำกับควบคุมรายจ่ายไม่ให้เป็นภาระกับพี่น้องประชาชนผู้บริโภคเกินสมควร

แต่ในส่วนการเพิ่มรายได้ เราก็ทำครับ การเพิ่มรายได้ประชาชนทำทั้งประเทศ เพิ่มรายได้ทั้ง 2 ส่วน การเพิ่มรายได้ประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ท่านบอกว่าราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ผมเรียนเลยครับ รัฐบาลนี้เข้ามาราคาพืชผลการเกษตรดีเกือบทุกตัว แม้จนวันนี้ราคาข้าวเปลือกถ้าไปดู ราคาข้าวเปลือกมาตรฐานนะครับ ไม่ใช่ข้าวเปียก ราคาข้าวเปลือกมาตรฐานมาวันนี้ 9,000 – 9,500 ต่อตันแล้วครับ ข้าวหอมมะลิไปเกิน 15,000 แล้วครับ ราคามันสําปะหลัง กี่ยุคกี่สมัยแล้วครับ โลบาทกว่า วันนี้ท่านไปดูครับ 3 บาทกว่าครับ ราคายาง ท่านบอกว่า 3 โล 100 บาท เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้วครับ แม้ไม่กี่วันมานี้ราคาหย่อนลงมามั่ง แต่ยางแผ่นดิบก็ยัง 50 กว่าครับ น้ำยางข้นก็ 50 กว่า ยางก้อนถ้วยหรือขี้ยางที่เดี๋ยวนี้เกษตรกรชาวสวนยางอีสานทำเยอะเลย แล้วปักษ์ใต้ก็ทำเยอะ ทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาหลายปี โล 10 บาท 11 – 12 วันนี้ 24-25-26 ผมไปอีสานเมื่อเดือนที่ผ่านมา บางที่ 30 ครับ ราคาข้าวโพดเมื่อก่อน 5 บาท 6 บาท เดี๋ยวนี้ 11-12 บาท ราคาปาล์มกี่ยุคกี่สมัยหลายช่วงที่ผ่านมา 2 บาทกว่า 3 บาท วันไหน 4 บาทเกษตรกรก็ไชโย วันนี้บางช่วงขึ้นไป 11-12 แม้วันนี้หย่อนมามั่งก็ยัง 7-8 บาท ราคาผลไม้ดีทุกตัวครับ ราคาหมอนทองปีนี้ส่งออกทุกอย่างราบรื่นเพราะลงไปแก้ปัญหาระบบแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นมือแทนที่จะไปทางบก เพราะด่านปิดๆ เปิดๆ ผมส่งเสริมให้ไปทางเรือมากขึ้น จองเที่ยวเรือให้ เอาทุกฝ่ายมาพบกัน ปีนี้ราบรื่น ผลไม้ไม่มีปัญหาเลยครับ ราคาหมอนทองปีนี้ถึงขึ้นไป 50 ถึงโลนึง 135 ถึง 150 บาท ขนาดปีที่แล้วเราคิดว่าดีสุดแล้วนะครับ ได้ 117 ปีนี้ 135 – 150 เงาะโรงเรียนราคาก็ดีขึ้น หมอนทอง บวก 45% มังคุดปักษ์ใต้ บวก 90% ครับ มังคุดผิวมัน มังคุดคละ บวก 114% ราคาดอกดำ บวก 362% มากกว่าปี 64 ตะกร้า บวก 168% สำหรับเงาะโรงเรียนปักษ์ใต้ สับปะรดภูแล ภาคเหนือ ราคาปีนี้ บวก 20% สับปะรดโรงงาน บวก 4% ลิ้นจี่จักรพรรดิ เกรด b บวก 19% มะม่วงน้ำดอกไม้ บวก 100% มะม่วงน้ำดอกไม้คละบวก 48% เป็นต้น 

นี่คือราคาพืชผลการเกษตรที่ผมขออนุญาตที่จะกราบเรียนกับท่านประธานว่าดีขึ้นเกือบจะเรียกว่าทุกตัว และหากราคาตก ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด ก็ยังมีประกันรายได้เกษตรกรจ่ายเงินชดเชยให้อีก และยังมีมาตรการคู่ขนานข้าวยังมีจ่าย ชาวนาไร่ละพัน เกิดวิกฤตโควิด รัฐบาลนี้ยังจ่ายเงินเยียวยาช่วยเกษตรกร ครัวละ 5,000 3 ครั้ง ตกครัวละ 15,000 บาท รวม 3 ปีที่ผมต้องนำมากราบเรียนกับท่านประธาน รัฐบาลชุดนี้ช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งหมด ประกันรายได้ 234,000 ล้านบาท มาตรการคู่ขนาน 15,739 ล้าน ไร่ละพัน 157,744 ล้าน เยียวยาโควิดครัวละ 15,000 บาท 113,34 ล้าน ผลไม้ 1,352 ล้าน รวม 3 ปีที่ท่านบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่เหลียวแลเกษตรกร รัฐบาลนี้ช่วยเกษตรกรไปรวมทั้งหมด 522,378 ล้านบาท รวมเกษตรกรทั้งหมดเกือบ 10 ล้านครอบครัว นี่คือสิ่งที่ต้องจารึกไว้ให้เพื่อนสมาชิกแล้วก็ท่านประธานได้รับทราบ และเพราะราคาพืชผลการเกษตรที่ออกมาดีนี่เองส่งผลให้ตัวเลขทางสถิติที่ผมขออนุญาตนำกลับเรียนกับท่านประธานให้เห็นได้ชัดเจนบอกมาชัดเลยครับผลการสำรวจดัชนีรายได้เกษตรกร สูงขึ้นปี 62 ดัชนีรายได้เกษตรกร + 1.42 ปี 63 + 4.23 ปี 64 + 3.29 และปีนี้ 6 เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 5 เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมบวก 12.44% นี่คือสิ่งที่เราดูแลเกษตรกรแต่ถ้าเทียบกลับไปยุคที่ท่านเป็นรัฐบาลที่ท่านบอกว่าดูแลเกษตรกรดีที่สุดเกษตรกรรักที่สุดที่ท่านพูดในสภาเมื่อเช้านี้อันนั้น ท่านประเมินเอง แต่พอไปดูรายได้ยุคท่านท่านไปดูสิครับปี 55 ดัชนีรายได้เกษตรกร -7.91 พอมาปี 56 -2.28 นี่คือผลสัมฤทธิ์ที่ใครไปบิดเบือนตัวเลขไม่ได้ ตัวเลขดัชนีรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นนี้ มีผลทำให้เกิดตัวเลขตัวนึงครับ ที่ขอพูดให้ท่านประธานได้เห็น ตัวเลขนี้คือตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศไทยที่เป็นตัวเลขทางสถิติ ท่านประธานฟังช้า ๆ นิดเดียวครับ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคคืออะไร คือดัชนีที่เป็นตัวเลขชี้บอกว่า ผู้บริโภคกลุ่มไหนที่พร้อมจะควักเงินในกระเป๋าออกมาจับจ่ายใช้สอย เพราะเขามีรายได้พอที่จะใช้จ่ายได้ ทำให้เกิดความมั่นใจ เชื่อมั่น กล้าจ่ายเงิน เขาเอาตัวเลขของคนหลายกลุ่มมาเปรียบเทียบดัชนีนี้เขาทำมาหลายปีนะครับ ไม่ได้เพิ่งมาทำเพื่อจะมาตอบอภิปรายไม่ไว้วางใจ เขาเปรียบเทียบทั้งพนักงานเอกชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ คนรับจ้างอิสระ เกษตรกร พนักงานของรัฐ นักศึกษา คนมีงานทำ ไม่ได้มีงานทำ ข้าราชการบำนาญ ทำรายภาค ทำหมดเลยครับ มีตัวเลขที่ท่านประธานคงไม่เคยนึกมาก่อน ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในกลุ่มที่สูงสุดคือพนักงานของรัฐ อันนี้สูงลำดับ 1 ตลอด เพราะอะไรเพราะพนักงานของรัฐมีเงินเดือนประจำกิน เพราะฉะนั้นเขารู้ว่าเขามีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ เขามั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอยที่ 1 มาตลอดเลยครับ แต่ท่านประธานคิดไม่ถึงที่ 2 ใครท่านประธานทราบไหมครับ บางยุคเคยเป็นผู้ประกอบธุรกิจ เป็นนักธุรกิจผู้ประกอบการ แต่ 6 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่มกรา กุมภา มีนา เมษา พฤษภา มิถุนาไม่ใช่แล้วครับ ที่มาลำดับ 2 คือเกษตรกรครับ เพราะอะไร คำตอบเพราะเกษตรกรราคาพืชเกษตรดีขึ้นไงครับ รายได้ก็ดีอย่างที่ผมเอาตัวเลขมาชี้กับท่านประธาน ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยเกษตรกรถึงดีขึ้นมาเป็นลำดับ 2 รองจากพนักงานของรัฐที่มีเงินเดือนประจำ และสูงกว่านักธุรกิจ ผู้ประกอบการครับ นี่คือสิ่งที่ต้องขออนุญาตที่จะกราบเรียนให้ท่านประธานให้เห็นให้เกิดความชัดเจน และนี่คือการเพิ่มรายได้ให้กับภาคประชาชน 

ส่วนการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศขออนุญาตเรียนสั้นๆ กระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลนี้ จับมือกับภาคเอกชน ตั้ง กรอ. พาณิชย์ขึ้นมาส่งออกทำเงินเข้าประเทศ ตะกี้ ท่านอภิปราย ตอนสายๆ บอกว่าส่งออกก็นักธุรกิจรวย ไม่จริงครับ ไม่จริงทั้งหมด นักธุรกิจรวยส่วนหนึ่ง ถ้าส่งออกดี แต่ถ้าส่งออกดี สุดท้ายใครได้ประโยชน์ครับ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกร SMEs Micro SMEs วิสาหกิจชุมชนที่แปรรูปสินค้าเกษตร แล้วก็ส่งออก และสุดท้ายปลายทางเกษตรกรได้ประโยชน์ เพราะถ้าส่งออกไม่ได้ พืชเกษตรก็อออยู่ในตลาดในประเทศ ราคามันก็ตก แต่พอส่งออกได้ ราคาพืชผลการเกษตรดี ปลายทางเกษตรกรคือผู้รับประโยชน์เต็มๆ อีกกลุ่มหนึ่ง นี่คือสิ่งที่ต้องเรียนให้ท่านประธานได้เห็น 

ส่งออกปีที่แล้วทั้งปี ทำเงินให้ประเทศ 8.5 ล้านล้านบาท บวก 17.1% 5 เดือนนี้ ทำแล้วแตะ 4 ล้านๆ แล้วครับ บวก 12.9 หรือ 13% ค้าชายแดนครับ พี่น้องประชาชนที่อยู่รอบชายแดน ทั้งไทย-มาเลย์ ไทย-เมียนมาร์ ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา ทั้งเหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออก ได้รับประโยชน์หมดเลยครับ เพราะอะไร เพราะเราไปเร่งเปิดด่าน ที่มันปิดอยู่เดิม 97 ด่าน ตอนนี้เปิดมาได้ 59 แล้วครับ แล้วเดี๋ยวจะทยอยเปิดต่อ พ่อค้าแม่ค้าชายแดนได้ประโยชน์ เกษตรกรได้ประโยชน์ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ค้าใช้แดนปีนี้ 5 เดือน ทำเงินเข้าประเทศจากการส่งออกอย่างเดียวแล้ว 267,052 ล้านบาท บวกเพิ่มขึ้น 17.24% นี่คือการทำเงินให้กับประเทศ นอกจากทำรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งผมต้องขออนุญาตกราบเรียนให้กับท่านประธาน 

อีกประเด็นหนึ่งครับเรื่องปุ๋ย ขออนุญาตทำความเข้าใจ เพื่อนสมาชิกหลายท่านพูดเรื่องปุ๋ย ผมเข้าใจ และผมก็จำเป็นจะต้องชี้แจง ปุ๋ยแพงจริงไหมครับ แพงจริงครับ แล้วก็ไม่ได้แพงได้น้อยๆ แพงเยอะมากครับ แล้วก็แพงมาตั้งแต่ต้นปี 64 ปีที่แล้วครับ แต่ไม่ได้แพงเฉพาะประเทศไทย แพงทั้งโลก นี่คือสิ่งที่ต้องขอปูพื้นทำความเข้าใจ เพราะอะไรครับ ก็เพราะปุ๋ยทำจากแก๊สที่ราคาเพิ่มขึ้น 195% และขนส่งด้วยน้ำมันมายังประเทศไทยที่ราคาเพิ่มขึ้น 60% เพราะปุ๋ยเราผลิตเองไม่ได้ต้องนำเข้า 100% ผลจากราคาน้ำมันกับแก๊สที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปุ๋ยโลก ปี 64 ถึงปัจจุบัน เดือนกรกฎาคมล่าสุด ผมไปคำนวณตัวเลขเฉลี่ย NPK มาหารเฉลี่ยกัน ราคาปุ๋ยโลกเพิ่มขึ้น 236% ราคาปุ๋ยไทยเพิ่มขึ้น 130% เพิ่มขึ้นน้อยกว่าปุ๋ยโลกเกือบ 1 เท่าตัว ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเมืองไทย แม้มันแพงขึ้น แพงเยอะแต่ก็ยังแพงน้อยกว่าหลายประเทศ ดูตัวเลขกรกฎาคม เดือนนี้เดือนเดียว 15 วันนี้ ปุ๋ยยูเรียหรือตัว N ของไทย ราคาถูกเป็นลำดับที่ 4 ของประเทศเกษตรกรรมสำคัญของโลกที่เขามาเรียงราคากัน โปแทสเซียม หรือตัว P ไทย ถูกเป็นลำดับ 3 ของประเทศเกษตรกรรมสำคัญ ๆ ของโลก นี่คือสิ่งที่ขออนุญาตที่จะเรียน 

กระทรวงพาณิชย์ทำอะไรมั่งครับ ในการช่วยเหลือเกษตรกร ในเรื่องราคาปุ๋ย สิ่งแรกที่ทำก็คือว่า จัดหาปุ๋ยราคาถูกช่วยเกษตรกร 4.5 ล้านกระสอบ ที่ผมเคยมากราบเรียนต่อที่ประชุมนี้ ตั้งแต่กรกฎา ถึง ธันวา ปลายปีที่แล้ว ราคาถูกกว่าตลาด  20-50 บาท ต่อกระสอบ ปรากฏว่าขายได้ไป 3,150,000 กระสอบ ช่วยกลุ่มเกษตรกร ช่วยสหกรณ์ ช่วยวิสาหกิจชุมชนไปได้ระดับหนึ่ง ประการที่ 2 สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำคือพยายามตรึงราคาปุ๋ยในประเทศไว้ 1 ปีเต็ม ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 64 ภายใต้โครงสร้างราคาปุ๋ยเดิมที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 54 เมื่อ 11 ปีที่แล้ว แต่สุดท้ายเพราะว่าต้นทุนปุ๋ยมันสูงขึ้นเยอะมากอย่างที่ผมกราบเรียน ก็เลยเกิดปรากฏการณ์เมื่อเราตรึงราคาปุ๋ยไว้มาก ๆ ปรากฏว่าเกิดปัญหา ผลตัวเลขนำเข้าปุ๋ยเดือนมกราคมที่ผ่านมาติดลบ 48% พอมาเดือนกุมภาพันธ์ ลบ 51% ผมตกใจแล้วครับ ตกใจเพราะว่าถ้าไปตรึงไว้มาก ๆ ปุ๋ยนำเข้าลด 50% โดยเฉลี่ย ปัญหาที่จะตามมาคือปุ๋ยมันจะขาดครับ 

ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบแก้ปัญหาด้วยการประกาศว่าเราจะรีบปรับโครงสร้างราคาให้ใหม่เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้นำเข้ารีบนำเข้าปุ๋ยมาแก้ปัญหาปุ๋ยขาดก่อน แม้ต้นทุนมันจะแพง ทำให้เดือนมีนาคม การนำเข้าปุ๋ยเพิ่มขึ้นเป็น 59% และเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นเป็น 29% แต่นำเข้ามาได้เยอะ 2 เดือน พอพฤษภาคมลดไปอีกแล้วครับ 45% ลบ 45% เพราะอะไรเพราะเราไปพยายามตรึงราคา ดึงเวลาไม่ประกาศโครงสร้างใหม่เพื่อช่วยเกษตรกร แต่สุดท้ายเอาไว้ไม่อยู่ครับ ปลายพฤษภาคมต้องปรับโครงสร้างราคาใหม่ให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง แต่มีข้อนึงที่ขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานก็คือโครงสร้างราคาใหม่ ผู้ค้าและผู้นำเข้า สัดส่วนกำไรลดลงจากปี 54 ที่เป็นโครงสร้างเดิม อันนี้ก็คือสิ่งที่ขอเรียนท่านประธานได้รับทราบ 

สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำต่อไปกับรัฐบาลก็คือ เร่งหาแหล่งปุ๋ยราคาถูก และแหล่งปุ๋ยใหม่ๆ เพื่อป้องกันปุ๋ยขาดก่อน เพราะตอนนี้ปุ๋ยแพงเราไปลดราคาปุ๋ยโลกยังไม่ได้ สิ่งที่ทำก็คือว่า 1. หลังจากท่านนายกO ไปเปิดสัมพันธไมตรีกับซาอุO ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ก็ตามไปครับ ตามไปเจรจากับซาอุฯ ขอให้เราได้มีโอกาสนำเข้าปุ๋ยราคาพิเศษจากซาอุฯ และวันที่ 29 เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์จัด matching ระหว่างผู้นำเข้าไทยกับผู้ส่งออกปุ๋ยซาอุฯ ตั้งเป้าว่าจะซื้อเขา 800,000 ตัน วันนี้สำเร็จแล้วครับการเจรจา 324,000 ตัน นี่คือข่าวดีอย่างน้อยก็ กราบเรียนให้เกษตรกรทั่วประเทศรับทราบ 

2. รัสเซีย ขณะนี้ได้มีการจัดให้มีการพบปะเจรจากัน ระหว่างผู้นำเข้าไทยกับผู้ส่งออกปุ๋ยรัสเซีย ปรากฏว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง 3 ผู้นำเข้าของไทยสามารถเจรจานำเข้ามาได้ 7.2 หมื่นตัน แต่ก็ยังติดปัญหาอุปสรรคสำหรับการเพิ่มยอดจากนี้ไปเพราะ 1. ติดเรื่องระบบการโอนเงิน 2. ติดเรื่องระบบการขนส่ง 3. ติดเรื่องบริษัทประกันภัยการขนส่งที่หลายบริษัทเขาไม่รับรอง ถ้าขนปุ๋ยจากรัสเซียมาไทย แล้วก็สุดท้ายติดปัญหาค่าเงินบาทอ่อน ทำให้ราคานำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียแพงขึ้นไปอีกเพราะเงินบาทอ่อนค่า แต่เราก็ไม่ละความพยายามครับ ขณะนี้รัสเซียเจรจากับเราบอกว่าจะเพิ่มโควต้าให้ไทย 1 เท่าตัวจาก 5 แสนตันเป็น 1 ล้านตัน ขอให้ผลการเจรจามีความคืบหน้าต่อไป และที่ผมสั่งการล่าสุด สั่งให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกทำบัญชีผู้ส่งออกปุ๋ยทั้งโลกครับ เพื่อที่จะส่งให้กับผู้นำเข้าปุ๋ยไทยแล้วเดี๋ยวจะจัดให้เขาพบปะเจรจากัน โดยจะจัดวันที่ 25-27 สิงหาคมปีนี้ครับ ให้ได้พบกันอีกเพื่อที่จะแก้ปัญหาปุ๋ยให้กับเกษตรกร 

กล่าวโดยสรุปที่ผมจะกราบเรียนกับท่านประธานก็คือว่า 1. มีหลักประกันวันนี้ว่าอย่างน้อย แม้ปุ๋ยมันจะยังแพง แต่ปุ๋ยไม่ขาดแน่นอนครับ ประเด็นที่ 2 ถ้าราคาปุ๋ยโลกปรับลดลงเมื่อไหร่ เช่นตอนนี้เริ่มปรับลงมา 300 เหรียญแล้ว ราคาปุ๋ยไทยต้องปรับลดลงมาตามต้นทุนที่แท้จริง เหมือนน้ำมันปาล์มขวด และนี่คือสิ่งที่ขออนุญาตกราบเรียนให้ท่านประธานได้รับทราบ กระทรวงพาณิชย์กับรัฐบาลชุดนี้ ท่านนายกฯ ก็จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป

เรื่องที่ท่านพูดถึงหนี้สินเกษตรกร แล้วก็บอกว่ามีม็อบมาที่กระทรวงการคลังเรื่องนี้  แล้วก็รัฐบาลนี้ไม่สนใจแก้ไขปัญหาเพราะไปมองว่า ม็อบเป็นการเมือง ขออนุญาตกราบเรียนว่าไม่จริงเลยครับ รัฐบาลนี้ไม่ได้มองม็อบเกษตรกรเป็นการเมือง แล้วก็ได้ลงไปแก้ปัญหา ผมเป็นคนเดินทางไปพบม็อบเกษตรกรที่กระทรวงการคลังด้วยตัวเองครับ ในช่วงที่ผ่านมาม็อบเกษตรกรที่กระทรวงการคลัง เขาต้องการให้กองทุนฟื้นฟูพัฒนาเกษตรกรเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเขาและในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เขาพอใจแล้วครับ ขณะนี้เขาเดินทางกลับไปแล้ว 2-3 วันที่ผ่านมา ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกษตรกรมาขอบคุณท่านนายกฯ แล้วก็มามอบกระเช้าดอกไม้ขอบคุณให้ผมด้วยครับ ว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลชุด 1 ที่สนใจ เอาใจแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร ซึ่งท่านนายกฯ มอบหมายให้ผมเป็นประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 42 ตอนท่านชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 และผมเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักฯ ตอนนั้น เราจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ ขึ้นมาในยุคนั้นครับ แล้วก็เดินหน้าแก้ปัญหามาจนถึงวันนี้ วัตถุประสงค์สำคัญคือแก้ปัญหาหนี้ให้กับเกษตรกร โดยจะเข้าไปซื้อหนี้ หมายความว่าถ้าเขาไปเป็นหนี้สถาบันการเงิน ดอกเบี้ย 10-20% ให้เขามาเป็นหนี้กองทุนฟื้นฟูแทน จะได้ไม่ต้องเสียดอก 10-20% แต่เสียดอก 0% แล้วก็ผ่อนชำระได้ยาวนาน และไม่ยึดที่ดินทำกิน แม้เขายังคืนหนี้ไม่หมด แต่คืนหนี้หมดเมื่อไหร่ก็คืนโฉนดให้ เหมือนที่ผมเดินทางไปคืนโฉนดให้ทั่วประเทศ ทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก อีสาน ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งภาคกลาง

นอกจากนั้นก็ให้ไปซื้อทรัพย์ ซื้อทรัพย์หมายความว่าถ้าที่ดินทำกินเกษตรกรถูกสถาบันการเงินยึดไป กองทุนก็ไปซื้อที่ดินมาเป็นของกองทุน แล้วให้เกษตรกรเจ้าของที่ดินเดิมมาผ่อนชำระกับกองทุน ผ่อนหมดเมื่อไหร่เอาที่ดินกลับไป เพื่อป้องกันการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกร นี่คือสิ่งที่เราทำมาตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูฯ นอกจากการแก้หนี้แล้วก็ยังมีงบประมาณในการฟื้นฟูด้วยครับ เพราะแก้ปัญหาหนี้สินเสร็จปล่อยเกาะ เกษตรกรไปต่อไม่ได้ เราถึงต้องมีเงินงบประมาณอีกก้อนหนึ่งเข้าไปจัดให้เขามีเงินดำรงชีพ เลี้ยงโค ปลูกพืชออร์แกนิค ทำฟาร์มเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ทำเกษตรกรตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ นี่ก็คือสิ่งที่ต้องขออนุญาตเรียน แล้วก็ผลสัมฤทธิ์ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาเราแก้หนี้ให้เกษตรกรได้แล้ว 180,000 ราย ใช้เงินทั้งหมด 8,384 ล้านบาท แล้วก็ช่วยฟื้นฟูชีวิตเกษตรกร 546,000 ราย ใช้เงินทุ่มลงไปช่วยเกษตรกร 1,146 ล้านบาท รวมช่วยแล้ว 726,000 ราย ใช้เงินไปเกือบหมื่นล้าน 9,500 ล้านบาท แล้วก็ล่าสุดท่านนายกฯ กรุณาจัดงบกลางให้ 2 พันล้าน เพื่อไปเป็นเงินให้กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เดินหน้าต่อไปและงบปี 66 แม้จะไม่มีเงินงบประมาณ … 

(มี ส.ส.ประท้วง) 

สำหรับงบปี 66 นะครับ ก็จะได้แปรญัตติเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้มากขึ้นต่อไป ซึ่ง ครม. เห็นชอบแล้วครับก็ขออนุญาตที่จะกราบเรียน 

ประเด็นสุดท้ายนะครับ คือประเด็นเรื่องที่เพื่อนสมาชิกได้อภิปรายไปก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลนี้เข้ามาทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตกต่ำลง โดยเฉพาะสู้เวียนนามไม่ได้แล้ว อันนี้ขออนุญาตที่จะชี้แจงครับว่าความจริงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไม่ได้ด้อยลงนะครับ โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญๆ World Economic Forum หรือ WEF ได้จัดลำดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ 141 ประเทศ ปี 62 ที่ผ่านมาล่าสุดที่เขาจัด 63 ไม่ได้จัดเพราะเจอโควิด ไทยอยู่ลำดับ 40 ครับ แต่เวียดนามอยู่ลำดับ 67 ครับ อันนี้ตัวเลขตัวที่ 1 ที่ขออนุญาตทำความเข้าใจ ตัวเลขที่ 2 ก็คือ ขีดความสามารถการแข่งขันที่ธนาคารโลกเขาจัดขึ้นมา Ease of doing business คือความง่ายในการลงทุนทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ จัดจาก 190 ประเทศ ปรากฏว่าประเทศไทยทำธุรกิจง่าย ลงทุนง่าย ในปี 62 ไทยอยู่ลำดับ 27 แต่เวียดนามอยู่ลำดับ 69 ซึ่งไทยดีกว่าเยอะมากครับ โดยเฉพาะในด้านความสามารถด้านนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ แล้วก็มาปี 63 ปีสุดท้ายไทยอยู่ลำดับดีขึ้น จากเดิมลำดับ 27 มาเป็นลำดับ 21 ส่วนเวียดนามจากลำดับ 69 เป็นลำดับ 70 

ผมจำเป็นต้องพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านขออภัย แต่ว่าเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับท่านทั้งหลายจะได้มีความกระจ่างและเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ผมเรียนเลยว่า เรากำลังเตรียมการสร้างเงินอนาคตให้กับประเทศด้วยการทำ FTA เพิ่มเติมอีกหลาย FTA เลครับ ไม่ว่าจะเป็นไทย – EU ไทย- UK แล้วก็ล่าสุดที่ผมเดินทางไปต่างประเทศ คือไทยกับEFTA กลุ่มประเทศนอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งได้ไปเปิดตัวในการที่จะทำ FTA กันต่อไปเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก ทำรายได้ให้กับประเทศ และสำคัญเป็นยุคแรกที่เราลงลึกถึงขนาดมี Mini FTA ที่ผ่านมาทำ Mini FTA  กับรายมณฑล แล้วก็รายรัฐ ไม่จำเป็นต้องทำกับประเทศที่เป็น FTA อีกแล้ว แต่ทำ Mini FTA  กับ ไห่หนาน ทำไปแล้วครับ เพราะ ไห่หนาน คือ Second Free Port แทนฮ่องกงของจีน ทำกับก่านซู่ซึ่งจะเป็นตลาดมุสลิม สินค้าฮาลาลให้กับเราในอนาคต รัฐเตลังคานา ซึ่งจะเป็นตลาดเฟอร์นิเจอร์ให้กับประเทศไทยในอนาคตของอินเดีย แล้วก็โคฟุ ซึ่งเป็นเมืองอัญมณีที่เราจะส่งออกอัญมณีไปญี่ปุ่นได้มากขึ้น สุดท้ายผมเพิ่งเซ็น Mini FTA ไปกับปูซานของเกาหลี ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่และเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ลำดับ 2 รองจากโซล ของเกาหลี และเราจะทำกับเสิ่นเจิ้น ทำกับคยองกี ของเกาหลี ทำกับโกลกาตา ที่จะเมืองดิจิทัล ทำกับมหาราษฏระของอินเดียที่เป็นไบโอเทคโนโลยี และคุชราตที่เป็นเมืองมหาเศรษฐีของอินเดียเพื่อทำเงินให้กับประเทศต่อไป 

นี่คือทั้งหมดครับ ที่ขออนุญาตที่จะกราบเรียนว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญ ทั้งการเข้าไปดูแลเรื่องรายจ่ายของประชาชน และดูแลในเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งรายได้ประชาชน รายได้ประเทศ และทำทั้งในวันนี้และเพื่ออนาคตในวันข้างหน้า ขอบพระคุณครับท่านประธานครับ