“วิปปชป. ชินวรณ์” ลุกขึ้นแสดงจุดยืนประชาธิปัตย์พร้อมลงมติรับหลักการแก้ รธน.

“วิปปชป. ชินวรณ์” ลุกขึ้นแสดงจุดยืนประชาธิปัตย์พร้อมลงมติรับหลักการแก้ รธน.
ยอมรับ “ตั้งตัวไม่ทัน” แต่ไม่อยากอยู่ในกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าถ่วงเวลา เมื่อเราเป็นผู้เสนอร่างแก้ รธน. จะลงมติตั้งกรรมาธิการศึกษาได้อย่างไร!

23 กันยายน 2563 นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายในวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ว่า

ผมต้องกราบเรียนกับท่านประธานรัฐสภาว่าผมตั้งตัวไม่ทันจริงๆ แต่ว่าจำเป็นที่ต้องลุกขึ้นมาเพื่อที่จะเรียนกับท่านประธาน เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นจุดยืนที่สำคัญ ผมคนหนึ่งที่เป็นผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในนามของพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมกับเพื่อนสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล 200 กว่าท่าน และพร้อมกับเพื่อนสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์

ผมคนหนึ่งที่ได้พยายามเรียกร้องกับเพื่อนสมาชิกในพรรคร่วมรัฐบาล และแม้แต่เพื่อนสมาชิกรัฐสภา ตั้งแต่พูดตั้งแต่วันแรกว่า วันนี้เรากำลังทำหน้าที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะการเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการแก้ไขกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 นั้น เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกผมจึงเพิ่งได้รับข่าวก่อนหน้านี้ไม่ถึงชั่วโมง ว่าจะมีการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาก่อนรับหลักการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 121 วรรค 3

ผมจึงกราบเรียนว่า ด้วยความตั้งใจ ด้วยการอยากจะเห็นแนวทางในการที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ แนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศ แนวทางที่จะทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีความสมบูรณ์ มีดุลยภาพ และมีเสถียรภาพ เพราะฉะนั้นผมจึงบอกว่าตั้งตัวไม่ทัน เพราะว่า 2 วันที่ผ่านมานั้น ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ ท่านหัวหน้าของผม ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้กรุณาที่จะได้นำอภิปรายในเรื่องญัตติการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และมีท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ทั้ง 2 ท่าน เพราะเป็นผู้ใหญ่ของพรรคฯ ที่ได้ลุกขึ้นอภิปราย และสนับสนุนการแก้ไขร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้

และแน่นอน ผมด้วยคนหนึ่งที่ได้ลุกขึ้นมาสนับสนุนในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะในชั้นรับหลักการ เหตุผลสำคัญที่สอดคล้องต้องกัน กับเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ ผมคิดว่าโดยเฉพาะในนามของพรรคร่วมรัฐบาลที่ลุกขึ้นอภิปรายทุกท่าน ทุกพรรค ไม่แตกต่างกันเลยว่า เราสนับสนุนร่างญัตติในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้

พี่น้องประชาชนที่ได้ติดตามก็จะได้รับฟังอย่างชัดเจนว่า ทุกคนต้องการที่จะให้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการแก้ไข เพราะประเด็นที่นำมาสู่การแก้ไขนั้นไม่ได้เป็นประเด็นที่ลอยๆ ไม่ได้เป็นประเด็นที่คิดว่าไม่มีความสำคัญ แต่เป็นประเด็นที่ทุกพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เห็นตรงกัน และที่สำคัญก็คือเป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาศึกษาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ศึกษามาอย่างรอบคอบ โดยใช้เวลาถึง 6 เดือน และผมก็เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ด้วย และท่านประธาน (ชวน) ก็ได้ให้ความเมตตาในการนำมาบรรจุระเบียบวาระเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อรายงานให้สภาได้รับทราบ และสภาก็ได้ให้ความเห็นชอบ ทั้งรายงานและข้อสังเกต

แน่นอนในสาระสำคัญที่นำมาสู่การเสนอร่างญัตติแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญก็คือว่า เราเห็นตรงกันว่าเราควรที่จะมีการแก้ไขมาตรา 256 เพราะหัวใจสำคัญของมาตรา 256 ก็คือว่า เป็นมาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีเพื่อนสมาชิกในที่นี้ถามว่า แก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นการแก้ไขเรื่องปากเรื่องท้องเรื่องความจำเป็นในเรื่องของการประกอบอาชีพ เรื่องเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนหรือไม่ – ไม่ครับ ผมคิดว่าทุกท่านรู้ดีครับว่า เรามาร่วมใจกันในการแก้ไขมาตรา 256 ก็เพราะว่าเราต้องการที่จะแก้ไข หรือสะเดาะกลอนสำคัญที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั่นคือมาตรา 256 ที่ได้บัญญัติเอาไว้ให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ยากที่สุด

พวกผมยอมรับในหลักการว่า การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องแก้ไขได้ยากครับ แต่ว่าไม่ใช่ว่าได้ยากโดยผิดหลักการ โดยใช้เสียงข้างน้อยมามีอิทธิพลมากกว่าเสียงข้างมาก ก็คือว่าการที่จะเห็นชอบในวาระที่ 1 ต้องมีเสียงวุฒิสภา 1 ใน 3 คือ 84 คน และในวาระที่ 3 ถ้าหากนำเดินไปตามปกติ ก็จะต้องกลับมาให้สภาแห่งนี้ได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้มัดแน่นไปกว่าเดิม ปิดแน่นไปกว่าเดิม ต้องมีเสียงของพรรคฝ่ายค้านร้อยละ 20 และต้องมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 3 84 ท่าน อีกครั้งหนึ่ง

และที่สำคัญก็คือว่า ถึงอย่างไรเราก็จะต้องดำเนินการทำประชามติ เพื่อได้รับอาณัติอำนาจจากประชาชนในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้โดยหลักการผมคิดว่า ทุกฝ่ายเห็นด้วยกันหมด และเราคิดเห็นว่าเมื่อแก้ไขมาตรา 256 แล้ว เราจะทำอย่างไรที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ นำการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปสู่การที่ให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น จึงมีที่มาตามหลักธรรมาภิบาล ที่ดีที่สุดก็คือการให้ประชาชนมีส่วนร่วม นั่นคือเป็นที่มาที่ความคิดเราตรงกันก็คือว่า เราจะต้องตั้ง สสร. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยการเลือกโดยตรงจากประชาชนตามสัดส่วนของประชากร

2 วันที่ผ่านมา ก็อภิปรายตรงกันทั้งหมด ผมจึงกราบเรียนว่า เมื่อได้ฟังคำอภิปรายแล้ว ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การเสนอขอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป้าหมายที่แท้จริงก็คือ การนำไปสู่การที่ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเราหวังว่า เมื่อประชาชนมาร่าง ประชาชนก็จะต้องจัดทำร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนจับต้องได้ ประชาชนมีความพึงพอใจว่า ประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนมีความพึงพอใจว่า ประชาชนกินได้

การพิจารณาในวันนี้เหมือนเพื่อนสมาชิกในรัฐสภาแห่งนี้บอกว่า เป็นชั้นรับหลักการ และเพียงแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ให้มีการจัดตั้ง สสร. มายกร่างเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดอะไรเลยในหลักการเลยครับ เราสามารถที่จะรับหลักการ เมื่อรับหลักการแล้ว โดยบทบัญญัติของกฎหมายรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า เราจะต้องตั้งคณะกรรมาธิการ …

(ประธานชวนขอให้สรุป เพราะเป็นห่วงว่าจะมีเวลาเหลือไม่พอที่จะโหวต)

ผมเป็นห่วงกลัวว่าจะไม่ได้โหวต เลยต้องให้เหตุผลนิดนึง ประเด็นก็คือ เมื่อเราได้ให้ความเห็นชอบในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว มีหลายท่านพูดประหนึ่งว่าเป็นการดำเนินการที่ผิด ไม่ชอบโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีบางท่านให้เหตุผลว่าไม่มีเวลาที่จะศึกษากันมาก่อน ผมเลยบอกว่าในวาระที่ 2 นี้เราต้องตั้งคณะกรรมาธิการ ท่านประธาน(ชวน) ได้กรุณานั่งเป็นประธานเองในวันนั้นที่ประชุม 3 ฝ่าย ก็คือ ให้ตั้งกรรมาธิการ 45 คน มี สว. 10 คน สส.ทุกพรรค ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล 30 คน มาศึกษา มาสนทนาธรรม มาคุยกันเรื่องหลักการใน 2 เรื่อง ที่ได้กราบเรียนไปแล้ว

ที่ผมพูดตรงนี้ ก็เพื่อต้องการจะแสดงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่าตลอด 2 วันนี้ เรามีความชัดเจนว่า ที่มีการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในเนื้อหาสาระที่เพื่อนสมาชิกได้แสดงเหตุผลนั้น ผมถือว่าเพียงพอ และครบถ้วนแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาก่อนรับหลักการ เพราะเมื่อพิจารณารับหลักการแล้ว เราสามารถที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมาศึกษา และยังให้เพื่อนสมาชิกทั้งสภานี้ แปรญัตติได้อีก จึงครอบคลุมในทุกประเด็น

และญัตติร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมคิดว่าวันนี้เป็นความคาดหวังของพี่น้องประชาชน เป็นความคาดหวังของพวกเราในรัฐสภาแห่งนี้ว่าจะได้นับหนึ่งเดินหน้าต่อไป ผมไม่อยากจะอยู่ในกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าไปถ่วงเวลาครับ และที่สำคัญผมคุยกับเพื่อนสมาชิก หลังจากทราบข่าวนี้บอกว่า เมื่อเราเป็นผู้เสนอร่างเอง แล้วเราจะไปมีมติว่าให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาได้อย่างไร เพราะในข้อบังคับ และในประเพณีของรัฐสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา การที่เราจะตั้งกรรมาธิการในการพิจารณาก่อนรับหลักการ ส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายที่เสนอมาจากพรรคการเมือง แล้วฝ่ายรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรียังไม่ได้มีโอกาสศึกษา หรือไม่อยู่ในนโยบาย เราจึงได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อพิจารณาในชั้นรับหลักการ

เพราะฉะนั้นในวันนี้ นอกจากจะแสดงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรามีจุดยืนตั้งแต่เริ่มต้นในการเสนอนโยบายของพรรคฯ ที่จะแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเสนอนโยบายนี้ไปสู่นโยบายของรัฐบาล เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลก็ได้กำหนดเอาไว้ในข้อ 12 และที่สำคัญการเสนอญัตติในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญคราวนี้เป็นการเสนอญัตติที่เพื่อนจากทุกพรรคการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลได้ดำเนินการเสนอชื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พร้อมกัน

และประการสำคัญท้ายที่สุด ผมคิดว่า วันนี้ถ้าหากเราได้มีการใช้เวลาที่เรามีอยู่ตรงนี้ลงมติรับหลักการ ผมคิดว่าก็จะได้เดินหน้าในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อที่จะได้ร่วมใจกันในการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญต่อไป และพวกเราทุกคนก็จะได้มีความภาคภูมิใจว่า เราได้รักษาพื้นที่ของรัฐสภานี้ให้เป็นที่หวังพึ่งของประชาชนและไม่อยู่ภายใต้อาณัติใดๆ และไม่อยู่ภายใต้การครอบงำและผลประโยชน์ใดๆ ขอขอบพระคุณครับ