
“สาทิตย์” ระบุ การส่งคำถามต่อศาล รธน. ไม่ทำให้กระบวนการในวาระ 1 – 2 เสียไป และคุ้มครองศักดิ์ศรีฝ่ายนิติบัญญัติ
ขอให้สมาชิกรัฐสภาถามตัวเองจากส่วนที่ลึกสุดใจ จะรับผิดชอบต่อความหวังของประชาชนที่อยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นได้อย่างไร
17 มี.ค.2564 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้อภิปรายว่า ในวาระที่รัฐสภากำลังพิจารณาอยู่นี้ เป็นวาระแจ้งเพื่อทราบ โดยประธานรัฐสภาว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา เกี่ยวกับในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้ลงมติไปเรียบร้อยแล้วในวาระ 2
ซึ่งที่มาในเรื่องนี้เกิดจากการที่มีสมาชิกรัฐสภาได้เสนอญัตติขึ้นว่าควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ในวันนั้นมีทั้งคนเห็นด้วย และคนไม่เห็นด้วย แต่เสียงข้างมากในสภานี้ในวันนั้นเห็นว่าควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัย แต่ผลคำวินิจฉัยที่ออกมา กลับมีปัญหาเรื่องของแนวทางการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยที่ไม่ชัดเจน และเกิดข้อถกเถียงขึ้น นำมาสู่การอภิปรายอย่างกว้างขวางในวันนี้
นายสาทิตย์หยิบยกเรื่องนี้ขึ้น เนื่องจากมีพี่น้องประชาชนอาจเกิดความสงสัยว่ารัฐสภากำลังทำอะไรกัน เพราะเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ประเด็นที่ควรจะถกเถียงกันมากที่สุดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เริ่มตั้งรัฐบาลแล้วว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยว่าควรแก้ไข และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยว่าไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลชุดนี้รับข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเข้าร่วมรัฐบาลพร้อมด้วยพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย ว่าควรจะบรรจุเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในวาระเร่งด่วนของนโยบายรัฐบาล และมีการแถลงต่อรัฐสภานี้เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไป ดังนั้นประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ควรยุติตรงนั้น เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่าอยู่ในนโยบายรัฐบาล ประกอบกับนอกจากเสียงข้างมากของรัฐบาลแล้ว เสียงข้างน้อยของฝ่ายค้านก็เห็นด้วยกับการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น
รัฐสภามีการตั้ง กมธ. ขึ้นมาพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข่าวครึกโครม จนกระทั่งจบและเสนอรายงาน มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามลำดับมา จนกระทั่งเป็นร่างที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันเป็นเสียงข้างมาก แต่กว่าจะผ่านวาระ 1 ได้ อาจจะมีสะดุดตรงที่มีการเสนอตั้ง กมธ. ขึ้นมาพิจารณาก่อนรับหลักการ ซึ่งถือเป็นสิทธิของสมาชิก เมื่อผ่านวาระ 1 เข้าสู่วาระ 2 ก็คิดว่าหากไม่มีประเด็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ณ นาทีนี้การโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 ก็จบไปแล้ว
แต่เมื่อมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถยื่นได้ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมา ย่อมมีผลผูกพันธ์ทุกองค์กร ประเด็นที่ทำให้สมาชิกรัฐสภามีความเห็นแตกต่างกันจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ในความเห็นที่แตกต่างกันนี้ก็ต้องมีข้อยุติ ขณะนี้ที่มีการอภิปรายกันนี้มี 3 ความคิด ประกอบด้วย ความคิดที่ 1 บอกว่าต้องไม่ลงมติ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้ตกไปแล้ว เป็นการเสนอญัตติขึ้นโดย ส.ว. สมชาย และแก้ไขโดย ส.ว.เสรี ซึ่งตนได้แย้งไป รวมทั้งสมาชิกฝ่ายค้านว่า ญัตติในสภานี้ คือญัตติที่ให้สภาต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง การมีญัตติแล้วให้สภาดำเนินการว่าต้องไม่ลงมตินั้น กระทำไม่ได้ ขัดทั้งต่อข้อบังคับ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
การที่บอกว่าลงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญตกไปแล้วนั้น ก็ไม่มีอำนาจที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญว่า รัฐสภามีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างกฎหมาย หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดนั้นตกไปหรือไม่ ไม่มีบทบัญญัติถึงอำนาจเอาไว้ เมื่อดูในรัฐธรรมนูญ ประเด็นข้อสงสัยเรื่องกฎหมายที่บัญญัติโดยสภาลงมติไปแล้วว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไปเขียนบัญญัติเอาไว้ชัด ทุกอย่างจะผูกโยงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ดังนั้นญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเสนอว่าต้องไม่ลงมติ เพราะตกไปแล้วนั้นเป็นญัตติที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับ และไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นจึงเหลือญัตติ 2 ทาง ทางหนึ่งคือเสนอเลื่อนไปก่อน ซึ่งเป็นอำนาจตามข้อบังคับ และเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ทางที่สอง คือเป็นไปตามระเบียบวาระ คือโหวตไปเลย ซึ่งนายสาทิตย์เห็นด้วยกับการเลื่อนระเบียบวาระออกไปก่อน และจะต้องหาข้อชัดเจนให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกรัฐสภาได้เสนอแนวทางนี้ไว้แล้ว ด้วยเหตุผลว่า หากรัฐสภาเลือกวิธีการโหวตไปในวันนี้จะเกิดประเด็นตามหลังขึ้นว่า หากปะเหมาะ เคราะห์ดี รัฐสภาอาจลงมติเห็นชอบกับวาระ 3 ก็จะมีคนตีความว่าเป็นการลงมติไปโดยไม่ชอบด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังถกกันอยู่ เพราะยังมีประเด็นเห็นไม่ตรงกัน แต่ถ้าเป็นการโหวตโดยที่ไม่เห็นด้วยทำให้ตกไปในวันนี้ ก็อาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้บางฝ่ายคาดหมายใช้เป็นประเด็นทางการเมืองหรือไม่ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะบ้านเมืองวุ่นวายอยู่แล้ว รัฐสภาควรเป็นที่พึ่งหวังของประชาชน ด้วยการสร้างความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติ ในแนวทางการลงมติทั้งหลาย
“เราไปเสี่ยงแล้วไปตายเอาดาบหน้าแบบฮาร์ดคอร์ไม่ได้ สมาชิกรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่โดยความรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชน ภายใต้สายตาของพี่น้องประชาชน และการตรวจสอบของพี่น้องประชาชน รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 210 (2) ถ้ามีปัญหาด้วยเรื่องอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ก็ชอบที่จะทำเรื่องสอบถามให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ผมถึงสนับสนุนแนวทางที่เพื่อนสมาชิกเสนอว่าเลื่อนการลงมติออกไปก่อน ทำได้ตามข้อบังคับนี้ เมื่อถึงวาระที่จะต้องโหวตวาระ 3 ก็เพียงแต่หยิบยกวาระอื่น เช่น กฎหมายขึ้นมาพิจารณาไปก่อน วาระ 3 ที่จะลงมติก็จะถูกเลื่อนเอาไว้ หรือชะลอเอาไว้ ในช่วงนั้นเองที่สภานี้ก็จะมีการยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อถามความชัดเจน เป็นอำนาจหน้าที่โดยแท้” นายสาทิตย์กล่าว
นอกจากนี้นายสาทิตย์ ยังระบุถึงประเด็นที่มีข้อสงสัยว่า การทำลักษณะนี้จะเป็นการยืดเวลาหรือไม่นั้น ก็ตอบว่า เวลานั้นต้องใช้แน่นอน แต่ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตข้างหน้า แล้วอาจจะทำให้กระบวนการที่ทำมาทั้งหมดนั้นเสียไป การเลื่อนหรือชะลอการลงมตินี้คือการคุ้มครองการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ คุ้มครองศักดิ์ศรีของนิติบัญญัติ ซึ่งทำหน้าที่ในนามประชาชน
“เราทำให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่ารัฐสภาลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 ไปแล้ว ผ่านวาระ 2 ไปแล้ว แต่วันหนึ่งมีเพื่อนสมาชิกซึ่งเป็นสิทธิ์ของเขายื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ และทำให้เกิดข้อปัญหาทางปฏิบัติก็ถามให้ชัด เมื่อถามชัดได้คำตอบกลับมา รัฐสภานี้ก็เดินต่อ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นการทำงานที่คุ้มครองศักดิ์ศรีการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทำหน้าที่ของพี่น้องประชาชน แต่ถ้าเลือกที่จะลงมติ หรือเลือกที่จะคว่ำรัฐธรรมนูญนี้เสีย ก็จะมีคำถามกลับมาว่า รัฐสภานี้กำลังแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนอย่างไรที่ได้โหวตรับรัฐธรรมนูญวาระที่ 1 และวาระที่ 2 มา” นายสาทิตย์กล่าว
ทั้งนี้นายสาทิตย์ได้กล่าวในตอนท้ายว่า มีบ่อยครั้ง และหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่รัฐธรรมนูญกลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมือง รัฐธรรมนูญกลายเป็นเงื่อนไขของการต่อสู้ทางด้านการเมืองที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหยิบขึ้นมาขับเคลื่อน เอาอคติ ความรัก ความโกรธ ความเกลียดของตัวเองขับเคลื่อนเพื่อที่จะล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่ง แต่วันนี้บ้านเมืองต้องเลยจุดนี้ไปแล้ว รัฐธรรมนูญปี 60 ผ่านบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองแบบหนึ่งมา และได้ทำหน้าที่จบไปแล้ว วันนี้รัฐสภามีมติแล้วว่าต้องแก้ไข ประชาชนยอมรับแล้ว เห็นแล้ว และอยากเห็นกระบวนการเดินต่อไปในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นวันนี้จะไปโหวตว่าไม่รับ หรือจะไปลงมติว่าไม่โหวต เพราะเหตุตกไปแล้วซึ่งไม่มีอำนาจก็ตามนั้นทำไม่ได้ จะไปเดินหน้าต่อแล้วไปสร้างปัญหาต่อไปในอนาคตก็ทำไม่ได้ เหลือทางเดียวเท่านั้นก็คือเลื่อนไปก่อน แล้วยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้มีการวินิจฉัยแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน นั่นคือการทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ลึกที่สุดในใจของสมาชิกรัฐสภาคือการถามตัวเองว่า ท่านทำให้ประชาชนมีความหวังอย่างไร และวันนี้ท่านจะตอบสนองต่อความหวังของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่อยากจะเห็นประเทศมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่อย่างไร มากกว่าที่จะขับเคลื่อนไปด้วยอคติ ความรู้สึกต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ ถามตัวเองก่อนลงมติในวันนี้ นั่นจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่รัฐสภาจะเป็นที่พึ่งของประชาชนของประเทศนี้ได้อย่างแท้จริง