สาทิตย์ เสนอทางออกในการลงมติ แก้มาตรา 256 เพื่อให้ 3 แนวคิดทางการเมืองอยู่ร่วมกันได้

24 มิ.ย. 64 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา อภิปรายในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. โดยระบุว่า วันนี้ 24 มิถุนายน เมื่อ 89 ปีที่แล้ว เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง สำหรับตนถือว่าเป็นเรื่องของการต่อสู้เรื่องแนวคิดในเรื่องของการเมืองการปกครอง และในที่สุดก็เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน 

วันนี้ประเทศไทยเหมือนกับหลายประเทศทั่วโลก ที่มีทั้งประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบสุดขั้ว ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสังคม มีประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยมที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่ขณะเดียวกันก็มีประชาธิปไตยแบบปฏิรูป ที่ไม่หวังจะเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น แต่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งเรื่องรัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกัน ที่มีแนวคิดทั้งกลุ่มที่ไม่อยากแก้ไขอะไรเลย และแนวคิดที่ต้องการจะแก้ไข ซึ่งตนเป็นคนหนึ่งที่รับรัฐธรรมนูญ ปี 60 แต่เห็นว่าเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ เมื่อเราพบปัญหา เราก็ต้องนำไปสู่การแก้ไข 

รัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขมาในครั้งนี้มี 13 ฉบับ แบ่งเป็นประเด็นแก้ไขใหญ่ๆ ประกอบด้วยเรื่องระบบเลือกตั้ง เรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี มาตรา 272 และเรื่องของมาตรา 256  ซึ่ง 3 เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ นอกนั้นก็จะเป็นเรื่องการขยายสิทธิ์ของประชาชน เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการเพิ่มสวัสดิการของประชาชน และอีก 2 ฉบับ เป็นเรื่องกลไกป้องกันรัฐประหารและเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ 

โดยนายสาทิตย์มองว่า เรื่องของการขยายสิทธิ์ที่แยกออกเป็นร่างในรายประเด็น หรือเรื่องของการเพิ่มสวัสดิการประชาชนไม่น่าเป็นปัญหาที่จะทำให้มีความเห็นขัดแย้งกัน แม้บางฝ่ายจะบอกว่าเป็นเสมือนไม้ประดับ เป็นเหมือนกับการโรยหน้า แต่การทำที่เป็นไม้ประดับ ที่เป็นโรยหน้านี้ เป็นการเพิ่มสิทธิ์ให้กับประชาชน  ส่วนเรื่องกลไกป้องกันรัฐประหารนั้นก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะในพ.ศ. นี้รัฐประหารอาจไม่ใช่เป็นทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองอย่างในอดีตอีกต่อไป เช่นเดียวกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีความเปลี่ยนแปลง 

แต่ปัญหาการโหวตในวันนี้ก็จะอยู่ที่ระบบเลือกตั้ง ที่ตนต้องการชี้ข้อเท็จจริงให้เห็นว่าการเลือกตั้ง 5 ครั้งหลังสุดตั้งแต่ปี 2540 ตอนรัฐธรรมนูญปี 40 ถึงปัจจุบัน ปี 60  เราใช้ในการเลือกตั้งมาแล้ว 4 ระบบ ใน 4 ระบบนี้มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 รัฐธรรมนูญปี 50 และในรัฐธรรมนูญปี  50 ก็มีการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาครั้งหนึ่งเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง แล้วก็มาเปลี่ยนแปลงว่าปี 2560 คนเคลื่อนไหวอยู่นอกสภาบางคนที่จะไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เคยลงมติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญและระบบเลือกตั้งมาแล้วในรัฐสภาแห่งนี้ เพราะฉะนั้นส่วนตัวจึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งเมื่อเราเห็นว่ามีปัญหา เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาว่า ให้รับร่างนี้เข้าไปและนำไปสู่การแก้ไขระบบเลือกตั้งได้

แต่ประเด็นซึ่งเป็นปัญหามีอยู่ 2 ฉบับที่เกี่ยวเนื่องกัน ก็คือเรื่องของมาตรา 272 ซึ่งเป็นเรื่องของวุฒิสมาชิก ส่วนตัวก็ไม่สบายใจที่เห็นมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสภานี้ ระหว่างฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่รัฐธรรมนูญปี 60 เขียนเรื่องอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเป็นคนรับรัฐธรรมนูญปี  60 จึงมีความเห็นว่ายอมรับได้ แต่เมื่อผ่านมาถึงจุดหนึ่งก็มองว่าสามารถแก้ไขได้และการแก้ไขนี้ก็ไม่ใช่เหตุผลในเชิงของการรังเกียจกัน ถ้าวันนี้ยังตัดสินใจเรื่อง ม. 272 ไม่ได้ ทางออกหนึ่งก็คือไปรับการแก้ไขกำหนดรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อที่จะทำให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากแก้ไขมาตรา 256  ซึ่งมติในการแก้ไขมาตรานี้ไม่ผูกกับสัดส่วนของวุฒิสมาชิก ของ ส.ส. ฝ่ายค้านหรือของส.ส. ฝ่ายรัฐบาล แต่ถ้าวันนี้ไม่รับมาตรา 272 แต่รับมาตรา 256 ไปแก้ ในอนาคตถ้ามีคนเสนอแก้มาตรา 272 ท่านก็จะไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการรับหรือไม่รับเพื่อตนเองอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นทางออกหนึ่งที่สามารถจะตัดสินใจได้

ส่วนร่างที่ว่าด้วยมาตรา 272  มาตรา 256 และเรื่องของระบบเลือกตั้ง มีอยู่ครบใน 8 ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ถ้าจะรับเพิ่มเติมมากกว่านั้นไปอีก ก็สามารถจะรับร่างที่มีการเสนอเป็นรายประเด็นได้อยู่แล้ว ประเด็นมีอันเดียวเท่านั้นก็คือร่างของพรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอเพียงร่างเดียวแต่มีครบทุกประเด็น รวมถึงแก้ไขมาตรา 144 กับ 185 ที่ขณะนี้เป็นกระแสอยู่ภายนอกและสมาชิกในรัฐสภานี้หลายท่านก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขทั้งสองมาตรา ขณะที่ผู้นำรัฐบาลสำคัญ 2 ท่านได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าไม่เห็นด้วย ดังนั้นจึงมีคำถามว่า ถ้าวันนี้เรารับร่างของพรรคพลังประชารัฐไป แล้วการแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา185 ในชั้นกรรมาธิการ วาระ 2 จะทำได้หรือไม่ จะเป็นการแก้ไขที่ขัดต่อหลักการ ซึ่งขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ เหล่านี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องคิด แต่ถ้าเราต้องการแก้ไขเรื่องระบบการเลือกตั้ง ก็ยังมีร่างของทั้ง 3 พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็มีประเด็นเหล่านี้ที่สามารถจะนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ 

ทั้งนี้จึงเสนอว่าหากมองข้ามประเด็นความขัดแย้งในรัฐสภานี้ออกไป แล้วนำความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะต้องเกิดขึ้นให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ การลงมติในวันนี้ก็เชื่อว่าจะมีทางออกให้ 3 แนวความคิดอยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรลงไปเลย นั่นคือการสะสมความขัดแย้ง แล้วสังคมไทยพร้อมที่จะยอมรับการสะสมความขัดแย้งซึ่งวันหนึ่งมันจะระเบิดแล้วก็กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงชนิดที่รุนแรงกว่านี้ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นเราคงรับไม่ได้ ดังนั้นจึงขอฝากแนวคิดนี้ไว้สำหรับเพื่อนสมาชิกรัฐสภาและฝากสิ่งนี้ไปถึงพี่น้องประชาชนให้ร่วมกันคิดร่วมกันเพื่อสังคมไทยต่อไป