องอาจ เสนอแก้ไขอีก 3 ใน 6 ร่าง ของ ปชป. ลดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ – เลือกตั้งท้องถิ่น – ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เคารพ 1 สิทธิ์ 1 เสียงประชาชน

23 มิ.ย. 64 นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ จาก 6 ฉบับ ที่พรรคเสนอให้เป็นเรื่องด่วนเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. โดยได้เสนอเรียงลำดับต่อจาก นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ซึ่งได้เสนอไปแล้ว 3 ฉบับ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ….

ฉบับแรกที่ตนเสนอ มีหลักการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 โดยมีเหตุผลว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 159 ที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้การเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อกำหนดให้มาจากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 และควรจะได้มีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ด้วย เพื่อให้เป็นบุคคลที่ได้ผ่านกระบวนการเชื่อมโยงมาจากประชาชนอย่างแท้จริง และโดยที่มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาให้ความเห็นชอบเท่ากับให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่สอดคล้องต่อหลักการประชาธิปไตย เหตุเพราะว่าสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้เป็นบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน การให้อำนาจหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจึงอาจเป็นเหตุให้บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่มีความเชื่อมโยงกับอำนาจของปวงชนอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ไว้ ณ ที่นี้

ฉบับต่อไป คือ บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีหลักการว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้

  1. เพิ่มเติมแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 76/1 และมาตรา 76/2
  2. แก้ไขเพิ่มเติม หมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 249 มาตรา 250 มาตรา 251 มาตรา 252 มาตรา 253 และมาตรา 254 และเพิ่มมาตรา 250/1 โดยมีเหตุผลว่า เพื่อให้การกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน อันเนื่องมาจากเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงกว่าทุกหน่วยงานของรัฐ ประกอบกับตามโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นหน้าที่และอำนาจ เช่น การได้รับเลือกตั้งให้เป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ การตรวจสอบการทำงานของประชาชนสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าการตรวจสอบการทำงานของราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่เป็นของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นและต้องมีมาตรฐานกลางกำหนดไว้ การจัดสรรรายได้ให้สมดุลกับหน้าที่และอำนาจ

ฉะนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดโครงสร้างทางการบริหาร การจัดรูปแบบที่เป็นรากฐานขององค์กร รวมทั้งการบัญญัติให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ก็จะทำให้องค์กรนี้มีความเข้มแข็ง และสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญก็คือจะเป็นเวทีเรียนรู้ประชาธิปไตยในทางปฏิบัติให้กับประชาชน ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนาการเมืองในระดับชาติด้วย จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้

ฉบับต่อไป มีหลักการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91 ด้วยเหตุผลว่า โดยที่มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จำนวน 150 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง หากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 400 คน ก็จะทำให้การดูแล ปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิด และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและต้องเคารพ 1 สิทธิ์ 1 เสียงของประชาชน การให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวด้วย