จุรินทร์-นิพนธ์ ลุยใต้ ประกันรายได้เกษตรกรเดินหน้าล้านเปอร์เซ็นต์ ส่วนต่างปาล์มงวดต่อไปโอนให้อีก 16 มิ.ย.นี้

วันที่ 12 มิถุนายน 2563 เวลา 14.45 น. หอประชุมโรงเรียนกําแพงวิทยา อําเภอละงู จังหวัดสตูล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง นายฮอซาลี ม่าเหร็ม ผู้สมัคร จ.สตูล นายเกตุชาติ เกษา นายสรรเพชร บุญญามณี ผู้สมัคร จ.สงขลา นายถนอมศักดิ์ แปะเส้ง กรรมการบริหารพรรค สาขาพรรค และสมาชิกพรรคจำนวนมาก พร้อมคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภาคใต้ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนิน โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562 – 2563 ณ หอประชุมโรงเรียนกําแพงวิทยา อําเภอละงู จังหวัดสตูล นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องที่หนึ่ง พวกเราอาจจะติดปากหรืออาจจะเข้าใจยังไม่ชัดแจ้งครบถ้วนคือนโยบายของเราคือประกันรายได้เกษตรกร ไม่ใช่การประกันราคา โดยรัฐบาลประกันรายได้ให้และราคานั้นขึ้นกับกลไกตลาดมี 2 ตัวเป็นตัวกำหนด ตัวที่หนึ่งผลผลิต ตัวที่สองความต้องการซื้อในตลาด ถ้าเมื่อใดผลผลิตเยอะความต้องการซื้อน้อยราคาก็น่าจะตกเพราะของมันเหลือ แต่ถ้าเมื่อใดผลผลิตน้อยแต่คนต้องการเยอะราคาก็จะสูงเพราะของไม่พอคนแย่งกันซื้อนี่คือกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ปาล์ม ยาง ข้าว พืชเกษตรทุกตัวก็เหมือนกัน วันนี้ยางผลผลิตเยอะคนต้องการใช้ โรงงานยางรถยนต์ โรงงานปิโตรเคมีความต้องการน้อยช่วงโควิดคนไม่ค่อยใช้รถ ไม่ค่อยใช้ยางรถยนต์ยิ่งทำให้ยางราคาตก ไม่ว่ารัฐบาลประเทศไหนก็สั่งให้ราคายางขึ้นลงไม่ได้ต้องเป็นไปตามกลไกตลาด และถ้ารัฐบาลไปประกันราคาว่าจะบังคับให้ยางได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 60 บาทจะขัดหลักองค์การการค้าโลก WTO ซึ่งเราเป็นภาคีอยู่ทุกประเทศเช่นนั้นทำไม่ได้ ถ้าทำก็ผิดจะเป็นปัญหาถูกฟ้องร้อง นายจุรินทร์ กล่าวว่า สิ่งเดียวที่รัฐบาลจะทำได้ก็คือการให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด แต่รัฐบาลนี้เราดำเนินการการประกันรายได้ ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์และเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ เงื่อนไขเพื่อช่วยเกษตรกร คือ ถ้าประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาลจะต้องรับนโยบายประกันรายได้ของประชาธิปัตย์ด้วย และนโยบายนี้ตนก็แถลงกับรัฐสภาแล้วถือเป็นข้อผูกพันที่จะต้องดำเนินการตลอดอายุรัฐบาล “ที่ท่านถามว่าจะทำต่อไหม จะทำไปอีกนานเท่าไร ตอบตรงนี้เลยว่าจะทำไปตราบเท่าที่รัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าเมื่อมีประกันรายได้แล้วรัฐบาลจะปล่อยปละละเลย แต่เรามาตรการเสริมคู่ขนานมาด้วย เช่น ปาล์มเมื่อราคาตกเราจะพยายามช่วยดึงเงินกระเป๋าซ้ายของพี่น้องให้เพิ่มมากขึ้นและถ้าเกิน 4 บาทยิ่งดีเพราะพี่น้องจะได้มากกว่า 4 บาท มาตรการเสริมขึ้นมาเพื่อดึงราคาปาล์มให้ดีขึ้น เช่น มีมติคณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อวันอังคารชัดเจนแล้วจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มผมไปนั่งประชุมอยู่ด้วย กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องรับซื้อน้ำมันปาล์มไปทำไฟฟ้า 37,500 ตัน เป็นมติแล้ว ถ้าครบเมื่อไร ราคาปาล์มยังไม่ถึง 4 บาทก็จะซื้ออีก 100,000 ตัน เป็นนโยบาย” นายจุรินทร์ กล่าว เรื่องที่สอง คือ การป้องกันโรงหีบเอาเปรียบเกษตรกร ตนมอบท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ประชุมทุกฝ่ายแล้วกำหนดราคาเป้าหมายนำ เพราะเราไม่มีกฎหมายบังคับว่าโรงหีบจะต้องซื้อปาล์มสดกิโลกรัมละเท่าไร แต่ให้เป็นไปตามกลไกตลาดแต่เรามีราคาเป้าหมายนำโดยทำเป็นตารางราคา ถ้าราคาน้ำมันปาล์มขวดละ 42 บาท จะทอนมาเป็นน้ำมันปาล์มดิบกิโลกรัมละเท่าไร และถ้าน้ำมันปาล์มดิบกิโลกรัมละเท่านี้จะเป็นผลปาล์มที่ต้องรับซื้อจากเกษตรกรกิโลกรัมละเท่าไร ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้ชาวสวนขายไม่ได้ตามราคาที่ควรจะเป็น จึงเป็นที่มา โดยกระทรวงพาณิชย์กำหนดตารางราคานี้มาแล้วและส่งให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ใช้เป็นราคาอ้างอิงและบังคับว่าลานเทต้องปิดราคารับซื้อผลปาล์มดิบที่น้ำมัน 18% ในราคากิโลกรัมละเท่าไร ตามมาตรฐานและให้ปิดราคารับซื้อตอนเช้า ถ้ารู้ตั้งแต่ต้นจะได้รู้ว่าวันนี้ควรตัดหรือไม่ควรตัด ราคาเท่าไร อย่างน้อยเกษตรกรก็ได้มีหลักประกันให้เกิดความรู้ความเข้าใจ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนมาตรการอื่น ๆ ก็จะช่วยเสริม เช่น นโยบายที่บังคับให้รัฐบาลใช้ บี 10 เป็นมาตรการบังคับ จะต้องมีทุกปั๊มน้ำมัน เพื่อส่งผลให้ดูดซับส่วนเกินจากปาล์มเข้าสู่ระบบพลังงานและจะมีผลดึงราคาปาล์มไม่ให้ตกไปกว่านี้หรือดีขึ้นแล้วแต่สถานการณ์ รวมทั้งการที่ให้ติดมิเตอร์ที่แทงค์น้ำมันปาล์ม เพื่อเช็คสต็อกโดยแจ้งปริมาณคาดเคลื่อนไม่ได้ แต่ยังทำไม่เสร็จเพราะสำนักงบฯเอางบประมาณกลับคืนไปและเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ ได้หารือในที่ประชุมครม. ทางครม.ก็สั่งการว่าให้เอาคืนจึงต้องใช้เวลาเพื่อจัดหามิเตอร์ที่จะวัดแทงค์สต็อกของน้ำมันปาล์ม เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าและเอามาเติมในสต็อกและวัดตัวเลขไม่ได้ซึ่งจะส่งผลให้ราคาตก ด้าน ยางพารา ข้าว ก็เช่นเดียวกัน ตนได้พูดกับนายกรัฐมนตรี วันประชุมคณะกรรมการนโยบายยางเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาขอให้การยางรีบดำเนินการปรับตัวเลขเงินสงเคราะห์ยาง ใครโค่นยางปลูกพืชชนิดอื่นได้ไร่ละ 16,000 บาท อาจไม่พอ ไม่จูงใจ ถ้าเติมเป็น 18,000-20,000 บาท ตามสภาพที่ควรจะเป็น อาจจะได้ผลจะได้ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นที่มีอนาคตเข้ามาแซมและทำรายได้ และประกันรายได้ยางพาราเดินหน้าต่อล้านเปอร์เซ็นต์ ส่วนข้าวนั้นในวันที่ 18 มิถุนายน 2563 จะนั่งเป็นประธานเรียกประชุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำยุทธศาสตร์ข้าว เพื่อกำหนดทิศทางว่าต่อไปนี้การปลูกข้าวของประเทศเราจะไม่ใช้การผลิตนำการตลาด ราคาตกเป็นอย่างไรก็ตามยถากรรม แต่ต่อไปนี้จะใช้ “การตลาด นำการผลิต” ตลาดต้องการทางไหนแบบไหนจะต้องไปปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ทำการค้นคว้าวิจัยกำหนดทิศทางว่าต่อไปนี้เราจะทำข้าวกี่ชนิด เป็นยุทธศาสตร์ภายใน 3 ปีข้างหน้าเพื่อเตรียมการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมข้าวและกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้เราปลูกข้าวที่มีอนาคต เป็นที่ต้องการโดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มที่โลกต้องการ ประเทศไทยก็ต้องการ แทนที่เราจะไปปลูกพืชแข่งที่ผลิตมาราคาก็ตก สำหรับส่วนต่างประกันรายได้ปาล์ม งวดถัดไปจะจ่ายวันที่ 16 มิถุนายน 2563 และจะจ่ายอีก 2 งวดเพราะปาล์มจ่ายทั้งหมด 9 งวด โดยได้จ่ายมาแล้ว 6 งวดเหลือ3 งวด ซึ่งงวดที่ 7 จะเป็นวันที่ 16 มิถุนายน งวดที่ 8 วันที่ 16 กรกฎาคม งวดที่ 9 วันที่ 14 สิงหาคม 2563 หลังจากนั้นจะเริ่มฤดูกาลผลิตใหม่ “พวกผมได้ขับเคลื่อนนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งประชาชนเห็นว่า เป็นประโยชน์และอยากเห็นเดินหน้าต่อไป นี่เป็นสิ่งที่ตรงกับใจผมตราบเท่าที่เรายังมีโอกาสได้บริหารราชการแผ่นดิน นโยบายนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องเดินหน้าต่อไปและในอนาคตเราก็จะต้องปรับปรุงพัฒนานโยบายเพื่อยังประโยชน์ให้กับประเทศและเกษตรกรเพิ่มเติมต่อไปเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากัน เมื่อถึงเวลาและการอันสมควรที่จะเรียนให้พวกเราได้รับทราบ” นายจุรินทร์ กล่าว