

















วันที่ 19 มิถุนายน 2563 เวลา 14.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.จังวัดอุบลราชธานี และประธานกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ได้ไปตรวจเยี่ยมโครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วย ประชาชน” ล็อต 4 และ ล็อต 5 และกิจกรรมส่งเสริมตลาดวิสาหกิจชุมชน ณ โดมที่ว่าการอําเภอสําโรง จังหวัดอุบลราชธานี นายจุรินทร์ กล่าวว่า ดีใจที่ได้มีโอกาสมาพบกับพี่น้องที่นี่ และวันนี้ถือว่าเป็นวันที่เรามาจัดกิจกรรมพิเศษที่จะดำเนินการ ทั่วประเทศทุกอำเภอรวมทั้งอำเภอสำโรงของเราด้วย คือ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” โดยจะลดราคาสินค้าในการดำรงชีพของพี่น้อง และมาถึง ล็อตที่ 4 มาถึงตอนนี้ผมให้จัดคาราวานสินค้าราคาถูกออกไปจำหน่ายทุกอำเภอทั่วประเทศ 878 อำเภอ ลดราคาสูงสุดถึง 68% และสำคัญ ล็อตที่ 5 เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อ 2-3 วันที่แล้ว ด้วยความคิดที่ว่าวันที่ 1 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้อีก 10 กว่าวัน ลูกหลานพี่น้องกำลังจะเปิดเทอมหลายคนต้องซื้อเสื้อใหม่ กางเกงใหม่กระโปรงใหม่ รองเท้าใหม่ หนังสือเรียนใหม่ ไม้บรรทัดอันใหม่ กระทรวงพาณิชย์คิดแล้วครับว่าทำยังไงจะลดภาระผู้ปกครองในภาวะวิกฤตนี้ได้ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” ล็อตที่ 5 จึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยลดราคาชุดนักเรียนอุปกรณ์ การเรียนกระเป๋า ปากกา ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด ให้ลูกหลานพี่น้องโดยลดสูงสุดถึง 80% ถ้าลูกหลานพี่น้องอยู่อนุบาลมีเสื้อเด็กอนุบาลบางตัวบางยี่ห้อลดเหลือตัวละ 20 บาท ถ้าวันนี้พี่น้องมีเงินในกระเป๋า 100 บาทเอาไปซื้อของลดราคา 80% พี่น้องจะซื้อของกลับบ้านได้ 180 บาท “นี่คือสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ช่วยพี่น้อง เพื่อลดภาระค่าครองชีพและพาณิชย์ลดราคา ล็อตที่ 5 เริ่มต้นแล้ววันนี้ ผมขอให้พาณิชย์จังหวัดได้นำสินค้ามาลดราคาให้พี่น้องสำหรับ ล็อต 5 โดยมีชุดนักเรียนด้วย ที่อุบลจัดมาแล้ว 4 อำเภอ อำเภอเขื่องใน อำเภอดอนมดแดง อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอตาลสุม และที่นี่เป็นอำเภอที่ 5 คืออำเภอสำโรง แล้วจะตระเวนไปจนครบ 25 อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี” นายจุรินทร์กล่าวกับชาวจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังพูดถึงโครงการประกันรายได้เกษตรกร และใช้อุบลราชธานีที่มาร่วมรับฟังเป็นชาวนาเสียส่วนใหญ่ จึงกล่าวว่า ข้าวเป็นหนึ่งในพืช 5 ชนิดที่รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรและเป็นเงื่อนไขตอนประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล บอกกับพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลว่า ถ้าประชาธิปัตย์จะร่วมรัฐบาล ขอเงื่อนไขอย่างน้อย หนึ่งข้อในสามข้อคือขอให้เอานโยบายประกันรายได้ไปเป็นนโยบายรัฐบาล พรรคแกนนำก็ตอบรับและแถลงต่อรัฐสภาเป็นข้อผูกมัดกลายเป็นนโยบายรัฐบาลชุดนี้ ประกันรายได้ คือ ถ้าพืชผลทางการเกษตร ข้าวของพี่น้องราคาตก เช่นที่นี่ส่วนใหญ่ปลูก ข้าวหอมมะลิ ถ้าวันไหนราคาข้าวหอมมะลิราคาตก รัฐบาลจะช่วยชดเชยเงินก้อนหนึ่งให้พี่น้องยังชีพได้โดยวิธีประกันรายได้คือ รัฐบาลจะกำหนดเพดานรายได้ให้กับพี่น้องว่าต้องได้ไม่ต่ำกว่าเท่าไร ข้าวหอมมะลิประกันรายได้ที่ตันละ 15,000 บาท “วันไหนราคาข้าวหอมมะลิในตลาดที่พี่น้องขายได้อยู่ที่ 15,000 บาท ไม่เป็นไรพี่น้องก็เอาไปขายและรับเงินไป 15,000 บาทต่อตันตามปกติ หรือวันไหนที่ราคาข้าวขึ้นไปที่ 16,000 บาท ก็จะได้รับเงิน 16,000 บาทตามปกติ แต่ถ้าวันไหนราคาข้าวหอมมะลิตกลงจาก 16,000 บาท ลงมาเหลือ 13,000 บาท พี่น้องจะมีรายได้น้อยลงจากการขายข้าวหอมมะลิ โดยจะขายได้แค่ 13,000 บาท แต่ไม่เป็นไร เพราะเมื่อราคาข้าวหอมในตลาดเหลือ 13,000 บาท พี่น้องยังมีนโยบายประกันรายได้ช่วย ต่อไปนี้ถ้าพี่น้องขายข้าวได้ 13,000 บาท จะมีรายได้ 2 ทาง ทางที่หนึ่งคือการขายในตลาดได้มา 13,000 บาท ใส่กระเป๋าซ้ายแต่ยังมีเงินอีกก้อนหนึ่งที่เรียกว่าส่วนต่างจากรายได้ประกัน 15,000 บาทลบกับราคาตลาด 13,000 บาท คือ 2,000 บาท ที่รัฐบาลจะโอนเงินเข้าบัญชี ธ.ก.ส. ของพี่น้องประชาชนโดยตรงให้กับพี่น้องเอาไปอีกตันละ 2,000 บาท รวมกระเป๋าซ้าย 13,000 บาท กระเป๋าขวา 2,000 บาท กลายเป็น 15,000 บาทตามรายได้ประกัน” นายจุรินทร์ กล่าว รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ข้อดีของนโยบายประกันรายได้ เพราะต้องการประกันรายได้ให้พี่น้องที่ปลูกข้าวแล้ว จะไม่มีรายได้ต่ำกว่านี้ ถ้าราคาตกแต่ถ้าราคาดีก็รับตังค์ไปเลยเท่าไหร่ก็เท่านั้นคราวที่แล้วราคาข้าวหอมดี บางครั้งก็เกินราคาประกัน พี่น้องก็จะไม่ได้รับเงินส่วนต่างแต่บางครั้งก็ได้รับเงินส่วนต่างบ้าง ช่วยให้พี่น้องได้มีรายได้ไม่ต่ำกว่ารายได้ที่ประกันนี่คือข้อดี ของนโยบายประกันรายได้ เพราะมีเงินส่วนต่าง แต่ยังมีมาตรการเสริมช่วยพี่น้องอีกและเมื่อวานได้ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลกับท่านนายกรัฐมนตรีมีมติเบื้องต้นแล้ว เห็นชอบในหลักการแล้วว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรวมทั้งข้าวหอมมะลิจะต้องเดินหน้าต่อไปในปีงบประมาณต่อไป เพื่อช่วยพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 2. ยามใดข้าวออกเยอะ เราจะมีมาตรการชะลอการขายให้เก็บไว้ซึ่งส่วนใหญ่ชาวนาอีสานจะได้เปรียบ ปลูกมาก็เก็บไว้อยู่แล้ว จะได้รับเงินชดเชย ตันละ 1,500 บาท และถ้าเป็นสถาบันเกษตรกรก็ได้อีก 1,500 บาทเหมือนกัน แต่ต้องแบ่งให้กับเกษตรกร 500 บาท สถาบันได้ 1,000 บาทต่อตัน 3.โรงสีถ้าไปช่วยซื้อข้าว เพื่อไม่ให้ข้าวออกตลาดมากก็ใช้วิธีช่วยเรื่องดอกเบี้ย 3% รวมถึงสหกรณ์ด้วย 4.เราเคยช่วยค่าต้นทุน 500 บาทต่อตันไม่เกิน 20 ไร่ ช่วยค่าเก็บเกี่ยว 500 บาทไม่เกิน 20 ไร่ แต่บางครั้งค่าเก็บเกี่ยวมีปัญหาเพราะภัยแล้ง น้ำท่วม เมื่อวานกระทรวงพาณิชย์เสนอว่าต่อไปนี้ไม่ต้องมีต้นทุน ไม่ต้องมีค่าเก็บเกี่ยว มีก้อนใหม่เรียกว่า ค่าบริหารจัดการ และปรับปรุงคุณภาพให้รวดเดียวเลยตันละ 1,000 บาทไม่เกิน 20 ไร่ เป็นต้น